ป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
ข้อมูลจากกระทวงสาธารณสุขระบุว่า กว่า 85% ที่เกิดภาวะซึมเศร้าในสัปดาห์แรกหลังคลอด จะหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนบางรายที่มีอาการรุนแรงจนกลายเป็นโรคซึมเศร้ามีประมาณ 5% จะเกิดพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ กังวลและโศกเศร้าเกินเหตุ อาจถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ อาการจะแสดงหลังคลอด 2 – 4 สัปดาห์
อาการภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมักพบได้ มีดังนี้
- รู้สึกเศร้า เสียใจ หมดหวัง
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด โกรธง่าย หรืออยู่ไม่สุข
- วิตกกังวลมากผิดปกติ
- มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนหลับมากผิดปกติ นอนไม่หลับ เป็นต้น
- ร้องไห้มากกว่าปกติ หรือร้องไห้อย่างไม่มีเหตุผล
- มีปัญหาเรื่องสมาธิ การจดจำรายละเอียด หรือการตัดสินใจ
- หมดความสนใจในสิ่งที่ชอบหรืองานอดิเรก
- รับประทานอาหารน้อยลง หรือรับประทานมากขึ้นอย่างผิดปกติ
- มีปัญหาสุขภาพโดยไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน เช่น ปวดศีรษะบ่อย ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เป็นต้น
- เก็บตัว หรือหลีกเลี่ยงการพบเจอเพื่อนและคนในครอบครัว
- มีปัญหาในการสร้างความผูกพันระหว่างแม่ลูก
- กังวลไปว่าตนเองไม่มีความสามารถในการดูแลลูกอยู่บ่อย ๆ
- มีความคิดทำร้ายร่างกายตัวเองหรือลูกน้อย
สาเหตุของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
- ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่คุณแม่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน สภาพแวดล้อม อารมณ์ หรือพันธุกรรม เป็นต้น
- มีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ เคยมีภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอดมาก่อน
- สมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์
- มีปัญหาที่ส่งผลให้เกิดความเครียดมาก เช่น ภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ หรือมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งภายในครอบครัว เป็นต้น
- ทารกมีปัญหาสุขภาพที่ต้องมีการดูแลหรือรับการรักษาอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ
- แม่มีปัญหาในการให้นมบุตร
- ครอบครัวมีปัญหาทางการเงิน
- ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม
การรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
- ควรบอกปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนใกล้ชิด อย่างตรงไปตรงมาและซื่อตรงกับตัวเอง
- ขณะที่ทำการรักษาผู้ป่วยควรดูแลตัวเองควบคู่ไปด้วย เช่น ออกกำลังกาย หรือเข้าร่วมกลุ่มให้คำปรึกษา เป็นต้น
- จิตบำบัด เป็นการรักษาด้วยการพูดคุยกับจิตแพทย์ เพื่อระบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากภาวะดังกล่าว โดยแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำในการรับมือกับปัญหาและให้กำลังใจผู้ป่วย
- ยาต้านเศร้า เป็นยาที่ใช้ในการรักษาภาวะซึมเศร้า โดยผู้ป่วยและแพทย์จะต้องปรึกษากันถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจได้รับจากการรักษาด้วยยาต้านเศร้าแต่ละชนิดด้วย
*** สำหรับการเลือกวิธีการรักษา แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและพิจารณาว่าการรักษาใดเหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด
การป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
- เตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการเป็นแม่ ดูแลตัวเองให้แข็งแรง สมบูรณ์
- วางแผนการตั้งครรภ์ร่วมกับคุณพ่อ หากการวางแผนเป็นไปอย่างราบรื่นจะช่วยให้คุณแม่ไม่ต้องวิตกกังวลมากเกินไป
- ระหว่างตั้งครรภ์ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อให้การตั้งครรภ์นั้นดำเนินไปอย่างเป็นปกติ คุณแม่จะได้หมดห่วงและไม่ต้องมาวิตกกังวลกับเรื่องในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังการคลอดมากนัก
- ขอให้คุณพ่อช่วยดูแลลูก ก่อนการคลอดคุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาหารือกันถึงการดำเนินชีวิตภายหลังจากที่ลูกน้อยได้คลอดออกมาแล้ว โดยคุยกันและตกลงกันไว้ก่อนว่าใครจะต้องทำอะไรบ้าง ทำอย่างไร
- หาคนช่วยเหลือและหากำลังใจ คุณแม่อาจให้บุคคลในครอบครัว คุณพ่อ เพื่อนๆ หรือผู้ให้บริการดูแลเด็กอื่น ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลลูกน้อย หรือให้ผู้อื่นเข้ามาช่วยดูแลลูกคนอื่น ๆ ทำงานบ้าน คอยเตรียมอาหาร ฯลฯ หรือหาที่พึ่งทางใจ เช่น การโทรหาเพื่อนและสมาชิกในครอบครัวเพื่อขอกำลังใจ
- กินอาหารที่มีประโยชน์ ผักและผลไม้สด รวมทั้งน้ำผลไม้คั้นสดนั้นเป็นแหล่งของวิตามินที่ช่วยให้คุณแม่รู้สึกสดชื่นและช่วยให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ออกกำลังกายเบาๆ คุณแม่ควรปลีกเวลาออกไปเดินเล่นกับลูกหรือออกกำลังกายเบาๆ นอกบ้านในสวน
- พักผ่อนให้เพียงพอ ในช่วงกลางวันคุณแม่ควรพยายามงีบหลับบ้างและหาคนช่วยดูแลลูกในตอนกลางคืน เพื่อที่จะได้มีเวลาพักผ่อนให้มากขึ้น