ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
ครอบครัวอาทร หยุดภัยความรุนแรง
ครอบครัวอาทร หยุดภัยความรุนแรง ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และในวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี ตรงกับวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กจึงขอเชิญสมาชิกทุกครอบครัวร่วมมือ ร่วมความคิด ร่วมพลังใจที่เข้มแข็ง เริ่มทำในทุกสิ่งที่ดีเพื่อเด็ก เพื่อหยุดความรุนแรงต่อเด็ก และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยได้ตระหนัก รับรู้สภาพความเป็นจริงของปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กที่มีอยู่มากมาย โดยใช้หลักหัวใจสำคัญคือการมุ่งสร้างให้เกิดสังคมที่เอื้ออาทรต่อเด็ก รวมถึงการทำให้เกิดกลไกของหน่วยงาน ประชาชนและสังคมในการคุ้มครองและป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กอย่างยั่งยืน เพียงแค่เริ่มคิดและใส่ใจที่จะทำสิ่งดีๆ เพื่อเด็ก วัฏจักรความรุนแรงก็เริ่มหยุดได้ที่ตัวคุณ

จากการรวบรวมสถิติความรุนแรงต่อเด็กในปี 2549 ของสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนาพบว่า จำนวนคดีล่วงละเมิดทางเพศที่ขึ้นสู่ศาลชั้นต้นมีสูงถึง 11,735 คดี เพิ่มขึ้นจากพ.ศ.2548 จำนวน 189 คดี จำนวนผู้มาขอรับความช่วยเหลือจากมูลนิธิผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 18 ปี 300 ราย เพิ่มขึ้นจากพ.ศ.2548 จำนวน 12 ราย รวมถึงจำนวนผู้ขอคำปรึกษาทางโทรศัพท์จากมูลนิธิเพื่อนหญิง 774 ราย เพิ่มขึ้นจากพ.ศ.2548 จำนวน 26 ราย ส่วนข้อมูลของสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ระบุถึงพฤติกรรมที่ถูกกระทำสูงสุด 4 อันดับคือ 1.ทำร้ายร่างกาย 2.ถูกข่มขืน เด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปีตกเป็นเหยื่อการข่มขืนมากที่สุด 3.ทำอนาจาร 4.พรากผู้เยาว์ ซึ่งบุคคลที่ทำร้ายส่วนใหญ่เป็นคนรู้จัก คนใกล้ชิดหรือเพื่อน รองลงมาคือคนในครอบครัว อาทิ พ่อแม่ และญาติ

นอกจากนี้ในปี 2550 ธนาคารโลกยังรายงานประมาณการข้อมูลที่น่าตกใจทางด้านสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กทั่วโลกว่า 1 ใน 5 ของผู้หญิงทั่วโลกเคยถูกทำร้ายร่างกายและทำร้ายทางเพศ โดยทุก 15 นาทีจะมีผู้หญิงถูกข่มขืน 20 คน และร้อยละ 40 เป็นเด็กอายุไม่ถึง 15 ปี สอดคล้องกับรายงานสถิติการดำเนินการงานคุ้มครองสิทธิเด็ก ของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน ปี 2550 ที่ระบุว่ามีเด็กผู้เสียหายจากกรณีล่วงเกินทางเพศสูงถึงร้อยละ 73.54 รองลงมาคือทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 29.21

จากข้อมูลต่างๆ ข้างต้นอาจเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าการใช้ความรุนแรงต่อเด็กยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอาจมีแนวโน้มที่จะวิกฤตมากขึ้น ถ้าคนในสังคมยังไม่ร่วมแรงร่วมใจกันลดปัญหาความรุนแรงที่มีอยู่

ความรุนแรงที่เป็นปัญหาเบื้องต้นของความไม่สงบสุขในสังคมนี้ล้วนมาจากปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวทุกรูปแบบ อาทิ การใช้คำพูดให้อายต่อหน้าคนอื่น ล้อเลียน สบประมาท ดูถูก ตะโกนใส่ การใช้พฤติกรรมที่จงใจจะก่อให้เกิดความเครียดในจิตใจ ข่มขู่ ถากถาง หึงหวง อิจฉา กีดกัน ทำลายข้าวของ การใช้พฤติกรรมที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บตามร่างกาย ตบ ตี กระแทก ผลักเมื่อมีอารมณ์โกรธหรือผิดหวัง รวมถึงการใช้ความรุนแรงทางเพศ ตั้งแต่การใช้อำนาจ ไปถึงการข่มขืนหรือการมีเพศสัมพันธ์แบบที่อีกฝ่ายไม่สมยอม เป็นต้น

หลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ในครอบครัว แทนที่จะมีการเร่งแก้ไข แต่กลับถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรยุ่งเกี่ยวสำหรับคนภายนอก โดยเฉพาะเด็กซึ่งเป็นฝ่ายที่อ่อนแอและปกป้องตนเองได้น้อยที่สุด ต้องตกอยู่ในสภาพถูกกดขี่ ถูกทารุณกรรม และใช้แรงงานเกินควรอยู่บ่อยครั้ง

ความรุนแรงเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างร้ายแรง ทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว เก็บกด อาฆาต ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ นอกจากนี้ครอบครัวที่พ่อแม่ดื่มเหล้า ใช้สารเสพติด ใช้อาวุธต่อสู้กัน ลงมือทำร้ายลูก และหย่าร้าง เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เด็กเกิดความหวาดระแวงผู้ใหญ่และสูญเสียสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น อาจทำให้ตั้งกลุ่มเพื่อระบายอารมณ์ หรือแสดงความก้าวร้าว ทารุณต่อเด็กคนอื่น บางรายอาจหนีออกจากบ้าน หรือแยกตัวกลายเป็นเด็กเร่ร่อน เมื่อรู้สึกว่าตนเองหมดคุณค่าจึงหันไปหาที่พึ่งอื่นๆ เช่น สารเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรและขาดความรับผิดชอบ การขาดสัมพันธภาพภายในครอบครัวนี้อาจส่งผลต่อเนื่องในสังคมจนลุกลามเป็นปัญหาที่รุนแรงเมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่

ดังนั้น การรณรงค์ป้องกันปัญหาความรุนแรงโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงระบบคิดของผู้เลี้ยงดูจึงเป็นสิ่งสำคัญประการแรกที่จะช่วยลดสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก ด้วยการเห็นคุณค่าในการเลี้ยงดูและการสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัว รวมถึงการมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจอยากมีส่วนช่วยเหลือผู้เสียหายหรือคำนึงถึงคนที่ตกอยู่ในความทุกข์และปัญหา เพราะการที่ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสัมพันธภาพที่ดี เป็นหลักให้เด็กๆ หรือคนด้อยโอกาสได้ นั่นย่อมหมายถึงการมีพื้นฐานที่ดีของสังคม

สนใจข้อมูลการเลี้ยงลูกอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย หรือปรึกษาปัญหาพฤติกรรมเด็ก ติดต่อมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทร. 0-2412-0738 0-2412-9834 www.thaichildrights.org

  
 ข้อมูลจาก : http://women.sanook.com
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง