ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
11 สิ่งควรรู้และทำล่วงหน้า สำหรับว่าที่คุณพ่อ



11 สิ่งควรรู้และทำล่วงหน้า สำหรับว่าที่คุณพ่อ 

หากคุณกำลังจะกลายเป็นคุณพ่อมือใหม่ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ รู้บ้างไหมว่าในฐานะว่าที่คุณพ่อคุณควรต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง การมีสมาชิกตัวน้อย ๆ เพิ่มขึ้นมาให้ดูแลมันเหมือนกับการได้ก้าวเข้าสู่โลกอีกใบเลยล่ะ เป็นโลกใบที่ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น ต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ มากขึ้น (อย่างน้อย ๆ ก็ต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เป็นนะ) ใครไม่ทันได้ตั้งตัวพร้อมรับสถานการณ์ เมื่อ ถึงเวลาเจ้าตัวน้อยออกมาดูโลกจริง ๆ คุณอาจมีอันต้องหัวหมุนก็เป็นได้ สำหรับคุณสามีที่กำลังมีบทบาทเพิ่มด้วยตำแหน่งว่าที่คุณพ่อลองมาศึกษากัน หน่อยดีกว่า ว่าเรื่องที่ผู้ชายซึ่งกำลังจะได้เป็นคุณพ่อควรรู้ และเตรียมตัวเอาไว้นั้น มีอะไรบ้าง

1. ว่าด้วยเรื่องของเซ็กส์กับคุณภรรยา

ช่วง 2-3 เดือนก่อนกำหนดคลอด ท้องของคุณแม่จะโตขึ้นมาก ทำให้อุ้ยอ้ายและรู้สึกอึดอัด บ้างก็มีปัญหาปวดหลังปวดเอวร่วมด้วย ทำให้เธออาจไม่มีอารมณ์ทำเรื่องอย่างว่ากับคุณพ่อมากนัก แต่ถ้าเธอโอเคให้ทำได้ก็นับว่าเป็นโชคดีของคุณ ซึ่งช่วงนี้หน้าอกของว่าที่คุณแม่จะขยายขนาดขึ้น นับว่าเป็นช่วงที่คุณพ่อตักตวงความสุขจากอกคู่นี้ได้มากที่สุด (ก่อนที่จะโดนลูกยึดไป) เพราะมันจะไม่ได้คงที่ที่ขนาดนี้ตลอดไปหรอกนะ แถมหลังจากคลอดน้องใหม่ ๆ ก็จะเข้าสู่ระยะพักการมีเพศสัมพันธ์ ฉะนั้นหากมีโอกาสทำได้ก็อย่าเมินเฉยนะจ๊ะว่าที่คุณพ่อจ๋า

2. การมีส่วนร่วมในห้องคลอด

ปัจจุบันว่าที่คุณพ่อหลาย ๆ คน ตกลงปลงใจที่จะเข้าไปร่วมเป็นสักขีพยานในนาทีที่ลูกน้อยได้ออกมาดูโลกด้วย แต่ขอบอกก่อนว่ามันอาจไม่ได้ราบรื่นดีเหมือนกับที่คุณเห็นในหนังหรือว่าใน โฆษณา บรรยากาศในห้องคลอดตอนนั้นเต็มไปด้วยหมอ พยาบาล และความวุ่นวาย แถมคุณพยาบาลก็มักชักชวนให้คุณพ่อเข้ามามีส่วนร่วมในการทำคลอด โดยให้คุณเป็นคนช่วยลุ้นอยู่ที่หว่างขาหรือช่วยรับทารกน้อยยามที่ผุดออกมา จากช่องทางของคุณแม่ หากคุณรู้สึกไม่พร้อมกับการได้เห็นเลือดในสถานการณ์เช่นนี้ ก็สามารถบอกปฏิเสธการเข้าไปมีส่วนร่วมในห้องคลอดได้ หรือแค่อยู่ข้างเตียงบีบมือคอยให้กำลังใจภรรยาก็พอ

3. มอบของรับขวัญแก่คุณแม่มือใหม่

หลังช่วงเวลาการทำคลอดสิ้นสุดลง ลูกน้อยของคุณได้ลืมตาดูโลก และคุณแม่อยู่ในช่วงพักฟื้นที่โรงพยาบาล ช่วงนี้คงเต็มไปด้วยการเยี่ยมเยือนจากพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และบรรดาเพื่อน ๆ ที่มาแสดงความยินดีพร้อมด้วยของขวัญและดอกไม้นานา คุณเองในฐานะสามีที่ดีก็น่าจะให้ของขวัญรับขวัญภรรยาคนสวยเช่นกัน แต่ลืมเรื่องดอกไม้ (ที่ได้มาเยอะพอแล้ว) และเรื่องอาหารบำรุงคุณแม่ไปก่อน เปลี่ยนมาเป็นของที่สามารถเก็บไว้ดูไว้ใช้ได้ตราบนาน อย่างล็อกเก็ต จี้ห้อยคอ ต่างหู แบบที่ผู้หญิงเขาชอบจะดีกว่า จากนี้ไปนอกจากคุณภรรยาจะใส่แหวนหมั้นที่นิ้วนางข้างซ้าย ก็ยังมีเครื่องประดับอีกหนึ่งชิ้นที่เป็นที่ระลึกในวันสุดพิเศษที่เธอได้ กลายเป็นคุณแม่เต็มตัวอีกด้วย

4. ช่วยเธอเรื่องการให้นมลูก

การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทารก แต่คุณแม่หลาย ๆ คนอาจมีปัญหากับเรื่องการให้นมบุตร ไม่ว่าจะเป็นหัวนมบอด น้ำนมน้อย น้ำนมไหลไม่หยุด หรือท่อน้ำนมอุดตัน ซึ่งทำให้คุณแม่เจ็บมากยามลูกดูดนม ช่วงนี้คุณแม่มักมีอารมณ์หงุดหงิดได้ง่าย (ต้องให้นมลูกบ่อย พักผ่อนไม่เพียงพอ) คุณพ่อเองแม้ไม่สามารถให้นมลูกแทนได้ แต่สามารถแสดงออกถึงความเป็นห่วงและเอาใจใส่คุณแม่ได้ ด้วยการสรรหาอาหารบำรุงน้ำนมให้ และพาเธอไปพบกุมารแพทย์ ซึ่งจะให้คำแนะนำและช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการให้นมบุตรได้

5. เตรียมหาซื้อผ้าห่อตัวเด็กดี ๆ ให้ลูกน้อย

ผ้าผืนสี่เหลี่ยมที่ใช้ห่อหุ้มตัวทารกน้อยเปรียบเสมือนอาภรณ์ชุดแรกสำหรับ เขา และเชื่อไหมว่ามันมีส่วนเกี่ยวกับเรื่องชั่วโมงการนอนของลูกน้อยด้วย (ซึ่งก็เกี่ยวเนื่องมาถึงชั่วโมงการนอนของทั้งคุณพ่อและคุณแม่เช่นกัน คุณคงไม่นอนเฉย ๆ ยามที่ลูกตื่นขึ้นมาร้องไห้งอแงหรอกนะ) ผ้าที่มีเนื้อนิ่ม ไม่ระคายผิว ไม่หนาไม่บางเกินไป ระบายอากาศได้ดี จะทำให้ลูกน้อยสบายตัวและนอนหลับได้ยาวนาน รู้อย่างนี้แล้วก่อนเขาจะลืมตาดูโลกว่าที่คุณพ่ออย่างคุณก็เตรียมตระเวนหา ซื้อผ้าสำหรับห่อหุ้มตัวลูกน้อยไว้ได้เลย

6. คุณจะดูมีเสน่ห์ขึ้นมากเมื่อได้ทำหน้าที่พ่อ

คุณผู้ชายอาจรู้สึกว่าตกเป็นที่จับจ้องและเป็นจุดสนใจของสาว ๆ ยามที่พาลูกน้อยใส่รถเข็นออกไปเดินเล่น กำลังอุ้มลูก หรือบอกปฏิเสธงานเลี้ยงหลังเลิกงานเพื่อไปช่วยภรรยาดูแลเจ้าตัวน้อย สาว ๆ หลายคนยอมรับว่าเธอหลงเสน่ห์พ่อลูกอ่อน เพราะเขาช่างดูอบอุ่น อ่อนโยน มีความรับผิดชอบ และคุณสมบัติทั้งหมดนั้นมีครบหมดทุกอย่างในตัวคุณไงล่ะ

7. ระวังภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตรของคุณแม่

คุณแม่บางรายอาจประสบภาวะเครียดและซึมเศร้าหลังคลอดบุตร ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ คุณควรศึกษาการรับมือกับอาการนี้ของภรรยาล่วงหน้าการคลอดบุตรด้วย และหากเธอมีอาการเครียดมากควรพาเธอไปพบแพทย์จะดีที่สุด

8. ช่วยเหลืองานเปลี่ยนผ้าอ้อม

ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ชายที่ทำงานบ้านเก่งแค่ไหน นั่นก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าคุณจะเชี่ยวชาญในเรื่องการเปลี่ยนผ้าอ้อมให้กับ ลูก มันไม่ง่ายนักที่จะต้องใส่ผ้าอ้อมให้กับเจ้าตัวน้อยที่มักไม่ค่อยให้ความ ร่วมมือเท่าไหร่ด้วยการดิ้นไปมาและร้องไห้โยเย แต่มันก็เป็นเรื่องที่คุณสมควรทำเพื่อช่วยแบ่งเบาความเหน็ดเหนื่อยของคุณแม่ บ้าง พยายามคุยเล่นหลอกล่อให้ลูกน้อยอยู่นิ่ง ๆ สักพัก และเร่งมือให้เร็วที่สุด อ้อ อย่าลืมทาแป้งหรือขี้ผึ้งกันผดผื่นและอับชื้นให้ลูกด้วยนะจ๊ะ

9. ทำใจกับการพูดคุยเรื่องอึ ๆ ฉี่ ๆ

เมื่อไปพาลูกน้อยไปตรวจสุขภาพหรือเมื่อลูกไม่สบายแล้วพาไปพบกุมารแพทย์ คำถามเรื่องการขับถ่ายของทารกนับเป็นคำถามพื้นฐานที่แพทย์จะต้องถาม และคุณก็สมควรตอบได้อย่างละเอียดด้วยว่าลูกน้อย อึ-ฉี่บ่อยแค่ไหน ลักษณะเป็นอย่างไร ทั้งความแข็งความนิ่ม กลิ่น และสี อาจดูเป็นเรื่องน่าแหวะ แต่ก็ต้องเตรียมทำใจให้ชินเอาไว้แล้วล่ะ

10. เตรียมตัวจัดการกับของใช้เด็กอ่อนที่จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย

รับรองเลยว่าหลังลูกน้อยของคุณเกิดได้ไม่นาน พื้นที่ในบ้านของคุณจะต้องพอกพูนไปด้วยข้าวของเครื่องใช้สำหรับทารก ทั้งที่ซื้อหามาเอง และมีคนซื้อมาฝาก (ซึ่งเป็นไปได้ว่าซื้อมาซ้ำกับที่คุณมี หรือมีอยู่แต่ไม่ได้ใช้) ไม่ว่าจะเป็นบรรดาเสื้อผ้า ผ้าอ้อม ขวดนม ที่อุ่นขวดนม รถเข็น รถหัดเดิน ฯลฯ ก่อนลูกน้อยเกิดควรจัดพื้นที่สำหรับจัดเก็บสิ่งของเหล่านี้ให้พร้อม เพื่อจะได้ไม่ปวดหัวกับข้าวของเครื่องใช้เด็กที่กระจัดกระจายทั่วบ้าน และสิ่งที่ไม่ใช้แล้วหรือมีมากเกินไปก็สามารถนำไปบริจาคให้กับสถานรับเลี้ยง เด็กอ่อนได้

11. เลือกซื้อรถเข็นที่เหมาะกับการใช้งาน

รับรองว่าไม่ว่าอย่างไรคุณก็ต้องได้ใช้รถเข็นอย่างแน่นอน ข้อแนะนำในการเลือกซื้อ คือ ให้เปรียบเทียบหลาย ๆ แบบหลาย ๆ ยี่ห้อเข้าด้วยกัน และเลือกแบบที่แข็งแรงทนทาน วัสดุมีคุณภาพ สามารถเข็นและบังคับทิศทางได้ถนัดด้วยมือข้างเดียว เผื่อในกรณีที่คุณอาจต้องใช้มืออีกข้างในการหอบหิ้วสัมภาระอื่น ๆ เช่น ขวดนม แก้วน้ำ ของเล่นเด็ก เป็นต้น
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นอนท่าไหน มดลูกเข้าอู่เร็ว
นอนท่าไหน มดลูกเข้าอู่เร็ว
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ