7 พฤติกรรมป้องกันความจำเสื่อม เลี่ยงอัลไซเมอร์ให้ไกล
วิธีป้องกันความจำเสื่อม นอกจากต้องรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพแล้ว ก็ยังมีพฤติกรรมดี ๆ ที่ควรทำ เพื่อป้องกันโรคความจำเสื่อม และหลีกเลี่ยงโรคอัลไซเมอร์ให้ไกลด้วยนะคะ
1. กินแป้งทุกเช้า
จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยทัฟส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า คนที่หลีกเลี่ยงการทานแป้งในมื้อเช้า มักจะมีแนวโน้มสูญเสียความทรงจำ กลายเป็นคนขี้หลงขี้ลืมมากกว่าคนที่รับประทานแป้งในมื้อเช้าเป็นประจำ เนื่องจากเซลล์สมองของเราต้องการคาร์โบไฮเดรตเพื่อไปเปลี่ยนเป็นกลูโคส ส่งพลังงานให้ร่างกายขับเคลื่อนทำกิจกรรมในแต่ละวันได้อย่างราบรื่น
ฉะนั้นอาหารจำพวกแป้ง และคาร์โบไฮเดรตทุกชนิดจึงมีความสำคัญต่อร่างกายมาก แต่ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุด ก็อาจจะต้องเลือกทานแป้งที่ไม่ขัดสี จำพวกข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ โฮลวีท โฮลเกรน หรือธัญพืชแทนแป้งขัดขาวด้วยนะคะ
2. ออกกำลังกายตอนเช้าเป็นประจำ
การออกกำลังกายไม่ว่าจะเวลาไหนก็ดีกับร่างกายทั้งนั้น แต่ถ้าอยากปกป้องตัวเองจากโรคความจำเสื่อม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็แนะนำให้ออกกำลังกายเรียกเหงื่อกันตั้งแต่เช้าตรู่เลยค่ะ นั่นก็เป็นเพราะว่า การทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง หรือเคลื่อนไหวร่างกายจนได้เหงื่อจะช่วยให้เลือดไหลเวียนผ่านสมองอย่างสะดวกมากขึ้น เพิ่มออกซิเจนในเลือดแถมให้อีกอย่างด้วย รวมทั้งยังกระตุ้นให้ร่างกายดึงคาร์โบไฮเดรต และน้ำตาลมาเปลี่ยนเป็นกลูโคส ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นสารที่สำคัญต่อเซลล์สมอง บำรุงความทรงจำให้มีอายุยืนยาวได้อีกนาน
3. ท่องเว็บไซต์กระตุ้นความทรงจำ
มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียศึกษามาแล้วว่า การใช้เวลาเพียง 1 ชั่งโมงในแต่ละวัน เพื่อหาข้อมูลบางอย่าง สามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนหน้า ให้ฝึกจำข้อมูลในระยะสั้น ๆ ได้อย่างดี ดังนั้นหลังเวลาพักเที่ยง หรือช่วงไหนก็แล้วแต่ที่คุณว่าง ก็ถือโอกาสท่องเว็บไซต์หาข้อมูลที่สนใจ (ทริปท่องเที่ยว หรือเรื่องวาไรตี้น่ารู้) ทุกวัน เป็นการฝึกให้สมองส่วนหน้าได้ทำหน้าที่ของตัวเอง สมองจะได้ไม่เสื่อมเร็วกว่าที่ควร
4. กวาดตามองจุดจอดรถซ้ำอีกครั้ง
เกือบทุกครั้งที่ไปห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ตลาดแถวบ้าน ก็มักจะลืมว่าตัวเองจอดรถไว้ตรงไหนแทบจะทุกที ! ใครเป็นแบบนี้เป็นประจำมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ เมโทรโพลิแทน ประเทศอังกฤษเขาก็แนะนำว่า หลังจากจอดรถเรียบร้อยแล้ว ให้คุณลงมายืนกวาดตามองตำแหน่งที่จอดรถซ้ำอีกสักรอบ หรือหลาย ๆ รอบได้ก็จะดี เพียงแค่นี้ก็ช่วยกระตุ้นความทรงจำของคุณได้มากขึ้นถึง 10% แล้วล่ะค่ะ ไม่เชื่อลองทำดูนะ
5. ดื่มแอลกอฮอล์เคล้ามื้อเย็น
อ๊ะ อ๊ะ อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าเราสนับสนุนให้ดื่มเหล้าเมายาทุกวันนะคะ เพราะจริงแล้ว ๆ แค่อยากจะบอกว่า การดื่มเหล้าในปริมาณที่เหมาะสม (ไวน์หรือเบียร์ 1 แก้วต่อวัน) ก็มากพอให้แอลกอฮอล์เข้าไปทำความสะอาดเซลล์ ต้านการอักเสบในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เลือดไหลเวียนอย่างสะดวกไปทุกสัดส่วนแล้ว ซึ่งแพทย์ก็ยืนยันแล้วด้วยว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเหมาะสมแบบนี้ สามารถช่วยลดความเสี่ยงความจำเสื่อมได้อีกทางหนึ่งจริง ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ทดลองที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลยในแต่ละวัน
6. ขัดฟันเป็นประจำทุกวัน
ไม่เพียงแต่การใช้ไหมขัดฟันจะช่วยให้คุณมีสุขภาพปากที่ดีเท่านั้น แต่ทางการแพทย์ก็การันตีสำทับมาอีกว่า การขัดฟันเป็นวิธีป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่ในปาก ไม่ให้เชื้อแบคทีเรียเหล่านี้กลายเป็นของหมักหมมที่อาจส่งผลให้เกิดอาการอักเสบ เดือดร้อนไปถึงขัดขวางการทำงานของเซลล์สมองให้เกิดความผิดปกติขึ้นได้ ดังนั้นเรามาขัดฟันกันดีกว่าค่ะ
7. เปลี่ยนฟอนต์ตัวหนังสือ
อาจจะดูเป็นวิธีที่น่างงไปนิด แต่การันตีได้ว่าการเปลี่ยนรูปแบบตัวอักษรที่เราใช้อย่างคุ้นเคยมาทุกวัน ไปเป็นฟ้อนต์ตัวอักษรที่แปลกตา จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคคามจำเสื่อมได้แน่ ๆ เพราะการสลับโหมดไปใช้ของที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน จะทำให้เราต้องใช้สมาธิมากขึ้น สมองก็ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานมากขึ้นไปด้วย เสมือนเป็นการฝึกสมองไปในตัวนั่นเองจ้า
ถ้าไม่อยากกลายเป็นคนขี้หลงขี้ลืมง่าย ๆ ก็อย่าลืมฝึกสมองกันเยอะ ๆ และพยายามใช้สมองบ่อย ๆ ด้วยนะคะ ที่สำคัญพยายามปฏิบัติตัวตามที่เราแนะนำ และกินอาหารดีมีประโยชน์ เพื่อไปบำรุงสมองกันด้วยนะจ๊ะ