ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
9 วิธีก้าวสู่ความเป็นพ่อแม่ที่ดีและเจ๋ง
9 วิธีก้าวสู่ความเป็นพ่อแม่ที่ดีและเจ๋ง 

การแสดงความรักทำได้มากมายหลายวิธี พ่อแม่บางคนใช้การสัมผัสทางกาย เช่น กอด หอม บางคนใช้การแสดงออกทางคำพูด เช่น พูดให้กำลังใจ พูดด้วยถ้อยคำอ่อนหวานไพเราะ ส่วนบางคนใช้การแสดงออกทางสายตา เช่น มองลูกด้วยสายตาที่อ่อนโยน แต่ทั้งนี้ไม่ว่าพ่อแม่จะแสดงความรักต่อลูกด้วยวิธีไหนก็ตาม ให้คิดคำนึงเสมอว่า ความรักของพ่อแม่นั้นต้องเป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข คือรักที่เขาเป็นลูกเรา ไม่ใช่รักที่ลูกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ลูกเรียนเก่งถึงรัก เป็นลูกชายถึงรัก แต่ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร จะพิการ จะโง่เขลา ไม่สวยหล่อสมใจเรา พ่อแม่ก็ต้องรักเขาเพราะเขาคือลูกที่เกิดมาจากเรา

1. แสดงให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่รักเขามากแค่ไหน
“ความรักชนะทุกสิ่ง” ไม่มีอะไรที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมากไปกว่าความรัก พ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่บางคนไม่กล้าแสดงออกเพราะรู้สึกเขินอายที่จะแสดงให้ลูกรู้ เพราะกลัวเสียการปกครองบ้างล่ะ กลัวลูกไม่เคารพบ้างล่ะ หรือกลัวลูกไม่เกรงใจบ้างล่ะ ซึ่งความคิดเหล่านี้จะสร้างกำแพงระหว่างพ่อแม่กับลูก เพราะไม่ว่าลูกจะเล็ก หรือจะโตแค่ไหนเขาจะไม่มีทางเข้าใจหากพ่อแม่ไม่แสดงความรักออกมาเป็นการ กระทำ หรือถึงรู้ว่าพ่อแม่รักและหวังดีแต่ก็จะไม่มีความสนิทใจที่อยากจะใกล้ชิดด้วย

2. เป็นแบบอย่างที่ดี
หากอยากให้ลูกดีอย่างไร พ่อแม่ก็ต้องดีให้ได้อย่างนั้น การเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกต้องดีให้ได้ทั้งความคิดและการกระทำ พ่อแม่บางคนคิดดีแต่ทำไม่ดี เช่น คิดว่าควันบุหรี่ทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นแต่ก็ยังสูบบุหรี่ หรือทำดีแต่คิดไม่ดี เช่น พูดจายกย่องเชิดชูคนอื่นแต่ทำเพราะคิดอยากให้ตนได้ดีในหน้าที่การงาน แบบนี้ก็สอนลูกไม่ได้เพราะเป็นการหน้าไหว้หลังหลอก ดังนั้น การเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกดีตาม ต้องทั้งคิดดีและทั้งทำดีควบคู่กันไป และสอนให้ลูกรู้ว่าหากเราอยากให้คนอื่นทำดีกับเรา เราก็ต้องทำดีกับเขาก่อนด้วยความจริงใจ เช่นนี้ลูกก็จะถูกหล่อหลอมให้คิดดีทำดีตามพ่อแม่ได้อย่างแน่นอน

3. อย่าหย่อนยานเรื่องกฎ กติกา มารยาท
กฎ กติกา มารยาท เป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต การสั่งสอนให้ลูกเคารพในกฎกติกาจะสร้างให้เขาเป็นคนที่มีคุณภาพ กฎ กติกา มารยาทที่ให้ลูกดำเนินตามนั้น ควรเกิดจากการคิดและตกลงใจร่วมกันระหว่างพ่อแม่ลูก เพราะตามธรรมชาติของมนุษย์กฎมีไว้ให้แหกเสมอ ยิ่งเป็นกฎกติกาที่คนอื่นเป็นคนกำหนดด้วยแล้วยิ่งรู้สึกอยากต่อต้านไม่อยาก ทำตาม ดังนั้นดีที่สุดคือต้องกำหนดกฎกติการ่วมกันตามที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าดี และควรปฏิบัติ เมื่อตกลงแล้วก็ต้องดูแลให้ลูกดำเนินชีวิตตามกฎอย่างเคร่งครัด อย่าปล่อยให้ลูกแหกกฎ เพราะเมื่อมีครั้งที่หนึ่ง ก็ต้องมีครั้งที่สอง สาม สี่ ตามมา และหากเป็นเช่นนี้ก็ไม่สามารถสอนให้ลูกเป็นคนดีคุณภาพได้ เพราะการรักษากฎระเบียบเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความมีคุณภาพของคน ๆ นั้น เช่น เราตกลงกันว่าเมื่อลูกกลับมาจากโรงเรียนถึงบ้านแล้วต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เรียบร้อยก่อนจึงจะทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ ลูกจะต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อนจึงจะดูทีวีได้ก็ให้เป็นไปตามนั้น

4. มีความทันสมัย
ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่ต้องนุ่งสั้นสายเดี่ยว หรือเจาะหูเจาะจมูกเหมือนวัยรุ่นในยุคสมัยนี้ แต่หมายถึงการมีความคิด และความรู้สึกที่ยอมรับกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละสมัย พ่อแม่บางคนก็ยึดติดกับความคิดของตนเอง และไม่ปรับตัวตามสิ่งแวดล้อม ทำให้บางครั้งไม่สามารถเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกของลูกได้ จึงมักเกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกับลูกอยู่เสมอ เพราะลูกก็รู้สึกว่าพ่อแม่ล้าสมัย น่าอาย พ่อแม่ก็รู้สึกว่าลูกเป็นพวกบ้าบอไร้สติ ดังนั้น สำหรับพ่อแม่แล้วการเปิดใจยอมรับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน อย่างน้อยก็ได้รู้ว่าสิ่งที่ลูกทำคืออะไร เผื่อมีสิ่งใดเกิดขึ้นไม่ว่าจะในทางดีหรือไม่ดีจะได้เข้าใจและรับมือกับสิ่งนั้นได้

5. เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการได้เสมอ
พ่อแม่ที่มีลูกเป็นวัยรุ่นมักกลุ้มใจที่ลูกไม่ค่อยเห็นถึงความสำคัญ โดยธรรมชาติแล้วลูกที่เป็นวัยรุ่นมักนึกถึง และพึ่งพาคนนอกครอบครัวเป็นหลักโดยเฉพาะเพื่อนหรือคนวัยใกล้เคียงกัน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องทำให้ลูกเห็นถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว และอยากพึ่งเรา โดยพ่อแม่ควรหมั่นพูดคุย สอบถามถึงความเป็นไปในชีวิตของลูก และให้ความเชื่อมั่นแก่ลูกว่า ไม่ว่าลูกจะกินไม่ได้นอนไม่หลับ คิดไม่ออกบอกใครไม่ได้ ต้องการสิ่งไหนอย่างไร ให้ลูกรู้ว่า ยังมีพ่อแม่ที่คอยอยู่เคียงข้าง คอยให้ความช่วยเหลือและพร้อมสนับสนุนเขาเสมอ ก็จะทำให้ลูกรู้สึกอุ่นใจและกล้าที่จะเข้าหาพ่อแม่มากขึ้น

6. รู้จักจัดสรรเวลาให้เหมาะสม
พ่อแม่หลายคนมีปัญหาเรื่องการจัดสรรเวลาอย่างมาก เพราะรู้สึกว่าแค่หน้าที่การงานที่ต้องทำอยู่ทุกๆ วัน ก็แทบจะไม่มีเวลาหายใจหายคอแล้วจะไปมีเวลาทำอย่างอื่นอะไรได้อีก แต่อย่าลืมว่าหน้าที่หลักของเราคือการเป็นพ่อเป็นแม่ ดังนั้นเมื่อเราให้เวลาแก่สิ่งอื่นได้เราก็ต้องให้เวลากับลูกได้เช่นกัน เพราะความสุขของพ่อแม่คือการได้เห็นลูกเติบโตไปทุก ๆ วัน ดังนั้นพ่อแม่ต้องแบ่งเวลาให้เหมาะสม เช่น กำหนดเลยว่าวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ทำงาน วันหยุดเสาร์ และหรืออาทิตย์เป็นวันของครอบครัวที่จะมีกิจกรรมดี ๆ ด้วยกัน ไปปิกนิกที่สวนสาธารณะ ไปออกกำลังกายเล่นกีฬา เข้าครัวปรุงอาหารด้วยกัน ไปดูหนังหรือกินข้าวนอกบ้านกัน

7. พร้อมเผชิญปัญหาของลูกด้วยความเต็มใจ
โลกของเด็ก ๆ ปัญหาแบบเด็ก ๆ บางครั้งพ่อแม่ก็ไม่เข้าใจ บางคนงงด้วยซ้ำว่าเด็กจะมีปัญหาอะไรกันนักกันหนาจึงมักไม่สนใจปัญหาของลูก คิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่นี่แหละที่จะทำให้เป็นปัญหาเกิดขึ้นจริง ๆ ตามมาเพราะลูกจะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจและไม่สนใจก็จะหันไปเลือกการแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ผิด ดังนั้นสำหรับพ่อแม่แล้วเมื่อลูกมีปัญหาควรทำเช่นนี้
  1. รู้เท่าทันปัญหาของลูก ปัญหาของลูกเล็กกับปัญหาของลูกวัยรุ่นก็ไม่เหมือนกัน ลูกเล็กมักมีปัญหาเช่น เรื่องเพื่อนไม่เล่นด้วย ไม่แบ่งขนมให้กิน ส่วนลูกวัยรุ่นมักมีปัญหาเรื่องการเรียน เรื่องเพื่อน เรื่องความรัก การที่พ่อแม่เตรียมใจรู้เท่าทันถึงปัญหาตามวัยของลูกจะสามารถเตรียมตัวรับ มือกับปัญหาได้ง่ายขึ้น
  2. รับฟังปัญหาอย่างใจกว้าง แม้ไม่เข้าใจปัญหาของลูกแต่ก็ควรรับฟังอย่างตั้งใจ และแม้ช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ แต่สามารถทำให้ลูกรู้สึกดีขึ้นได้ ดังนั้น เมื่อลูกเล่าปัญหาให้ฟังก็ควรเป็นผู้ฟังที่ดี สบตากับลูกด้วยแววตาที่อ่อนโยน มีท่าทีตอบสนองเป็นระยะ เช่น โอบไหล่ ลูบหัว บีบมือลูกเบา ๆ หรือพยักหน้าเข้าใจ
  3. พร้อมแก้ปัญหาไปด้วยกัน ปัญหาบางอย่างอาจยากที่จะแก้ไข แต่สิ่งสำคัญคือการที่พ่อแม่ลูกได้พูดคุย และช่วยกันหาหนทางในการแก้ปัญหา แต่หากไม่ใช่ปัญหาที่ร้ายแรงใหญ่โตและลูกสบายใจที่จะให้ปัญหาผ่านพ้นไป พ่อแม่ก็ควรเคารพการตัดสินใจของลูกด้วย

8. ให้ลูกมีเวลาส่วนตัวบ้าง
อย่าควบคุมลูกแม้กระทั่งความเป็นส่วนตัวของเขา พ่อแม่บางคนคอยจับจ้องลูกตลอด ไม่ว่าจะเดินไปไหน จะกินอะไร จะพูดกับใคร ไม่เคยคลาดสายตา พ่อแม่บางคนทำเพราะไม่ไว้ใจ พ่อแม่บางคนทำเพราะรักลูกเกินขนาดอยากเห็นทุกอย่างที่ลูกทำ แต่ไม่ว่าเพราะเหตุผลอะไร มันคือการสร้างความอึดอัดให้กับลูกอย่างมากมายเลยทีเดียว ดังนั้น พ่อแม่ต้องให้อิสระแก่ลูกบ้าง เพราะไม่ว่าใครก็ต้องการเวลาส่วนตัวที่จะได้คิด ได้ทำอะไรในอย่างที่ตนพอใจบ้าง โดยอาจกำหนดเวลาบางช่วงของวันที่ลูกจะทำอะไรก็ได้เป็นการส่วนตัว เช่น เล่นเกม คุยโทรศัพท์ ออกไปเที่ยวกับเพื่อน พ่อแม่เพียงแต่คอยดูแลเขาห่างๆให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมก็พอแล้ว

9. ฝึกลูกในทางที่เขาควรจะเป็น
  1. การฝึกความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อผู้อื่น มีหน้าที่เรียนก็ตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด มีหน้าที่ทำงานบ้านก็ทำให้เรียบร้อยที่สุด
  2. ฝึกให้มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้มีพระคุณ ประเทศชาติและพระมหากษัตริย์
  3. ฝึกให้รู้จักรักษาความดีดุจเกลือรักษาความเค็ม
  4. ฝึกให้เป็นคนรู้จักการให้และการเสียสละ
  5. ฝึกให้ไม่ลืมความเป็นไทย
สุดท้ายขอฝากไว้อย่าให้ลืมว่า “ลูกที่ดีย่อมดำเนินตามแบบอย่างพ่อแม่ที่ดี และพ่อแม่ที่ดีสามารถหล่อหลอมให้ลูกเป็นคนดีได้”

โดย ดร.แพง ชินพงศ์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก vcharkarn ขอขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง