ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
สิ่งควรรู้ เมื่อ "ลูกไม่สบาย" ก่อนถึงมือคุณหมอ
สิ่งควรรู้ เมื่อ "ลูกไม่สบาย" ก่อนถึงมือคุณหมอ 
อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยอาจทำให้ลูกไม่สบายบ่อย ฉะนั้นคุณแม่และคุณพ่อต้องมีสิ่งที่ควรรู้เอาไว้หากลูกไม่สบายหนักขึ้น เพื่อที่เวลาไปถึงมือคุณหมอก็จะได้รักษาได้ทันถ่วนถี่นั่นเองค่ะ แม้แต่ผู้หญิงอย่างเรา ๆ เจออากาศเปลี่ยนแปลงแบบไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัวยังไม่สบายกันได้ง่าย ๆ เลยจริงไหมคะ ฉะนั้นแล้วควรจะใส่ใจรายละเอียดเมื่อลูกไม่สบายกันให้มากขึ้นไปอีก ยิ่งเป็นเด็กทารกที่พูดไม่ได้ด้วยแล้วยิ่งต้องเฝ้าระวังกันให้มากขึ้น และคุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะจดบันทึกเรื่องลูกน้อยไว้บ้างเพื่อให้คุณหมอได้วินิจฉัยอาการของลูกได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้นนั่นเองค่ะ 

สิ่งควรรู้ เมื่อลูกไม่สบาย นั่นคือ "การจดบันทึก" อาการต่อไปนี้

อาการไข้
การสังเกตว่าลูกมีไข้สูงต่ำขนาดไหนลักษณะไข้เป็นแบบไหน มีไข้สูงตลอดหรือไข้ขึ้นเป็นช่วง ๆ ระยะเวลาที่เป็น สิ่งเหล่านี้จะเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำคัญที่ช่วยในการรักษาลูกของคุณแม่ค่ะ ถ้าวัดไข้แล้วอุณหภูมิสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส แสดงว่ามีไข้แล้วค่ะ ช่วงนี้อาจจะวัดไข้ซ้ำทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง แต่ถ้าไข้สูงขึ้นเป็น 39-40 องศาเซลเซียส ควรรีบโทรปรึกษาหรือพาลูกไปหาคุณหมอประจำตัวของลูกค่ะ

การกินนม
คุณแม่ต้องไม่ลืมสังเกตการกินนมว่าผิดปกติไปจากเดิมมากน้อยเพียงใด หากลูกไม่กินนมติดต่อกันเกิน 2 มื้อก็น่าจะพาลูกไปหาหมอค่ะ แต่ถ้าลูกเริ่มกินอาหารเสริมแล้วก็ต้องบอกหมอด้วยว่ากินอะไรมากน้อยแค่ไหน

อาเจียน
หากลูกอาเจียนคุณแม่ต้องสังเกตจำนวนครั้ง ลักษณะของนมที่ลูกอาเจียนออกมา ถ้าลูกอาเจียนทุกมื้อหรืออาเจียนเป็นนมสีเขียวแสดงว่ามีน้ำดีออกมาด้วย ลำไส้ของลูกอาจจะมีปัญหาอุดตันเกิดขึ้น 

ระบบขับถ่าย
จะเป็นปัสสาวะหรือเป็นอุจจาระก็ต้องหมั่นสังเกตทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นจำนวนครั้ง สี ลักษณะที่ออกมา เช่น หากสีปัสสาวะเข้มร่วมกับมีไข้ก็อาจจะมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

ผื่น
อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืมสังเกตก็คือ เวลาที่ลูกไม่สบายนั้น ตามตัวลูกมีผื่นขึ้นที่ไหนบ้าง ลักษณะของผื่น วันเวลาเริ่มขึ้น เช่น เป็นผื่นหลังกินนม ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าลูกแพ้นมวัว

อาการผิดปกติอื่น ๆ
เป็นเรื่องที่ต้องเก็บข้อมูลและต้องช่างสังเกตค่ะ ไม่ว่าจะเป็นลูกดูซึมไปมากน้อยขนาดไหน นอนมากหรือไม่ยอมนอน หายใจดังขึ้น ดูเหนื่อยหรือเปล่า ร้องมากผิดปกติ ชักหรือไม่ กี่ครั้ง ที่ตัวมีส่วนไหนบวมหรือเปล่า ขี้ตาเป็นสีเขียวไหม สะดือมีเลือดซึมหรือเปล่า ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ก็ต้องแจ้งหมอเช่นกันนะคะ

ยาที่กิน
ชนิดของยา ปริมาณที่กิน และจำนวนวันที่กินมาแล้ว ถ้ามีข้อมูลต้องแจ้งหมอด้วยค่ะ

ถ้ามีข้อมูลเบื้องต้นครบถ้วนอย่างนี้คุณหมอคงช่วยรักษาให้เจ้าตัวเล็กของคุณหายป่วย กลับมาสดใสได้เร็วขึ้นแน่นอนค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Modern Mom 
ขอขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต
 
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง