ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
เรื่องควรรู้ "ศีรษะทารก"
เรื่องควรรู้ "ศีรษะทารก" ทารกเกือบทุกคนจะมีรูปร่างลักษณะใบหน้าค่อนข้างจะกลม คอสั้น แขน ขาสั้น ศีรษะทารกโตกว่าเมื่อเทียบกับช่วงลำตัว เมื่อโตขึ้นรูปร่างและส่วนต่าง ๆ ของร่างกายก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามพันธุกรรมของพ่อแม่ และสิ่งที่พ่อแม่มักจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของ ศีรษะทารก

เรื่องควรรู้ "ศีรษะทารก" ได้แก่
กะโหลกศีรษะ

ประกอบด้วยกระดูกเป็นแผ่น ๆ ต่อกัน กระหม่อมบริเวณส่วนหน้าที่เปิดอยู่เรียกว่า กระหม่อมหน้าเป็นตำแหน่งที่กระดูก 4 ชิ้น มาประสานกันจะเหลือช่องตรงกลางเอาไว้และมีเยื่อบาง ๆ ปิดอยู่เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนต่อสมอง ส่วนกระหม่อมหลังมีขนาดเล็กกว่าอยู่บริเวณท้ายทอยด้านหลังศีรษะเด็ก

ลองสังเกตดูจะเห็นว่ากระหม่อมของลูกเต้นตุ๊บ ๆ ตามจังหวะชีพจรหรือถ้าคลำดูเบา ๆ จะรู้สึกนุ่ม ๆ เรียบ ๆ ก็ไม่ต้องวิตกหรือตกใจเพราะถือว่าปกติค่ะ


กระหม่อมสำคัญอย่างไร

กระหม่อมส่วนหน้าจะปิดเมื่ออายุประมาณ 1 ปีครึ่ง ส่วนกระหม่อมหลังปิดเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน เร็วกว่ากระหม่อมหน้าแต่หากกระหม่อมมีการปิดช้าหรือปิดเร็วก็อาจมีผลต่อตัวเด็ก

เนื่องจากภายในกะโหลกศีรษะประกอบด้วยสมองถ้ากระหม่อมปิดเร็วเกินไปจะทำให้สมองเจริญเติบโตและขยายไม่เต็มที่ แต่ถ้าหากกระหม่อมปิดช้ากว่ากำหนดมักพบได้ในกรณีที่มีน้ำในสมองหรือโรคทางต่อมไร้ท่อเกิดจากการทำงานของต่อมธัยรอยด์บกพร่องแต่กำเนิดก็มีผลต่อพัฒนาการของเด็กเช่นกัน

ระหว่างที่กระหม่อมศีรษะยังไม่ปิด (ก่อนขวบครึ่ง) สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ เรื่องอุบัติเหตุการกระทบกระเทือน ไม่ควรไปกดไปวุ่นวายทำอะไรกับกระหม่อมของลูก แต่ก็สามารถสังเกตสิ่งผิดปกติจากศีรษะลูก เช่น เวลาลูกไม่สบาย ท้องเสีย กระหม่อมจะบุ๋มเห็นเป็นแอ่ง ลักษณะเช่นนี้บ่งบอกได้ว่า เกิดภาวะขาดน้ำ หรือถ้ากระหม่อมโป่งนูนขึ้น ก็พบได้ในกรณีที่มีเลือดออกในสมองหรือเกิดการติดเชื้อในสมองต้องไปพบคุณหมอทันที


เส้นรอบศีรษะ

นอกจากการชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูงแล้วการวัดเส้นรอบศีรษะ ก็เพื่อดูการเจริญเติบโตของสมองทั้งนี้คุณหมอจะทำการวัดเส้นรอบศีรษะ น้ำหนัก และความยาวแต่ละครั้ง เมื่อคุณแม่พาลูกน้อยมารับวัคซีน และตรวจสุขภาพ

เด็กแรกเกิดจะมีเส้นรอบศีรษะยาวประมาณ 35 เซนติเมตร และเมื่ออายุครบ 1 ปี เส้นรอบศีรษะจะยาวประมาณ 46 เซนติเมตร (ความยาวเส้นรอบศีรษะอาจมีค่าบวกลบได้ไม่เกิน 2 เซนติเมตร) หากรอบศีรษะมีความยาวเกินเกณฑ์ปกติบวกกับกระหม่อมหน้าที่ยังไม่ปิด (สมองมีขนาดใหญ่) พ่อแม่ควรพาเด็กมาพบคุณหมอ เพื่ออัลตร้าชาวนด์ เช็คว่าเกิดจากการผลิตน้ำในสมองมากเกินไปหรือการอุดตันของทางออกของน้ำในสมองทำให้มีน้ำในสมองหรือไม่


รูปร่างศีรษะ

เด็กแต่ละคนมีรูปร่างศีรษะแตกต่างกันบางคนหัวกลมสวยหรือรูปทรงดูยาวก็มีให้เห็นเป็นความแตกต่างที่มีผลมาจากการคลอดหากคลอดแบบธรรมชาติ โดยผ่านทางช่องคลอดเชิงกรานเด็กจะเอาศีรษะออกเป็นส่วนใหญ่ศีรษะจะสามารถยืดหดได้ขณะที่ไหล่และทรวงอกผ่านช่องคลอดที่แคบ เมื่อคลอดใหม่ ๆ ทำให้ศีรษะเด็กมีรูปร่างยาวไปทางท้ายทอยและบางคราวหนังศีรษะบริเวณนั้นจะบวมมีสีเขียวคล้ำ จากการกดทับของปากมดลูกพอผ่านไปสักระยะ ศีรษะก็จะเข้ารูปเข้าร่างได้เอง แต่ถ้าผ่าตัดคลอดรูปร่างศีรษะเด็กจะมีลักษณะกลมสวย เพราะไม่ต้องผ่านกระบวนการที่ว่ามานั่นเอง

จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่คุณแม่จะต้องเป็นกังวลกับเรื่องรูปร่างศีรษะของลูก เมื่อเห็นว่าแตกต่างจากเด็กคนอื่น ๆ แต่เรื่องที่มีผลต่อรูปร่างศีรษะของเด็กก็คือ ที่นอนซึ่งควรมีลักษณะที่ไม่แข็งหรืออ่อนนุ่มจนเกินไป เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายกับตัวเด็ก

สิ่งสำคัญที่สุด คือการที่ลูกนอนหลับสบายอย่างปลอดภัยค่ะส่วนท่านอนท่าไหนดีนั้น แนะนำว่า นอนหงายดีกว่าป้องกันการหายใจไม่ออก แต่หากกลัวว่าหัวจะไม่ทุยไม่สวยพอก็อาจจับให้ลูกนอนตะแคงซ้าย ขวาสลับสับเปลี่ยนกันก็ได้เช่นกัน


ไขที่ศีรษะ

ไขที่ว่า หากมีลักษณะคล้ายสะเก็ดแห้ง ๆ ที่ติดมาตอนคลอดเป็นไม่มากก่อนสระผมคุณแม่อาจใช้น้ำมันมะกอกลูบศีรษะลูก เพื่อให้ไขที่ติดอยู่นิ่มและหลุดออกไป หากเห็นว่าสะเก็ดที่ศีรษะ เป็น ๆ หาย ๆ คุณแม่ต้องระวัง เพราะเป็นไปได้ว่า ศีรษะลูกแพ้แชมพูที่ใช้ หรือเกิดภาวะการแพ้นมวัว แต่ทั้งนี้การแพ้นมวัวอาจต้องดูประกอบว่า ลูกน้อยมีผื่นที่ผิวหนังตรงอื่นด้วยหรือไม่บางรายมีคราบติดแน่นมาก นานเป็นเดือนก็ไม่หลุด หากไม่แน่ใจกับอาการที่เกิดขึ้นคุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา


เส้นผม

เส้นผมของเด็กก็เหมือนเส้นผมของผู้ใหญ่เรา ๆ นี่แหละค่ะ มีลักษณะที่แตกต่างกันไปแต่ละคนแต่ก็มีพ่อแม่บางส่วน ที่กังขากับเรื่องเส้นผมบนศีรษะของลูกอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน


ผมร่วง

อาจเคยได้ยินได้ฟังมาว่า เป็นเพราะผ้าอ้อมกัดด้วยความเข้าใจของผู้ใหญ่สมัยก่อนที่ว่า บริเวณที่ผมหลุดร่วงเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณที่ถูกเสียดสีตามรอยการนอนทับ เช่น ที่นอน ผ้าปู ทำให้เห็นเด่นชัดได้มากขึ้นความจริงแล้ว ในช่วง 3-4 เดือนแรกเด็กเล็กก็ผมหลุดร่วงได้ค่ะ ที่เป็นเช่นนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกาย เซลล์ผมมีการผลัดเปลี่ยนเพื่อสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่นั่นเอง

มีข้อสังเกตว่า หลัง 6 เดือนไปแล้ว ผมของลูกยังหลุดร่วงอยู่ก็ต้องดูสาเหตุกันว่าเป็นเพราะแชมพูที่ลูกใช้ หรือสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นตัวแปร


ผมน้อยผมบาง

เส้นผมของเด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปไม่ว่าผมหนา ผมบางหรือผมน้อย แต่ไม่ว่าผมของลูกน้อยจะเป็นเช่นไร สิ่งที่คุณแม่ควรใส่ใจให้ความสำคัญ คือ การดูแลทำความสะอาดมากกว่า

สำหรับประเพณีที่มีมาแต่ก่อนความเชื่อเรื่องการโกนผมไฟ คงแล้วแต่ความสะดวก การตัดสินใจของคุณแม่แต่ละครอบครัวเพราะการโกนผมไฟไม่มีผลเกี่ยวกับเส้นผมของลูกแต่อย่างใด

ขอขอบคุณข้อมูลจาก mother&care ขอขอบคุณรูปภาพจากอินเตอร์เน็ต
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง