ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
ไม้เด็ดแก้เคล็ด…ลูกใช้เงินเกินตัว โดย: พักตา
ไม้เด็ดแก้เคล็ด…ลูกใช้เงินเกินตัว โดย: พักตา พ่อแม่หลายบ้านมักบ่นเรื่องการใช้จ่ายเงินที่ออกจะดูเว่อร์ไปของลูกๆ วัยรุ่น ทั้งๆ ที่ก็เข้าใจว่า วัยนี้ภาพลักษณ์สำคัญสำหรับพวกเขา อย่างน้อยๆ ก็ต้องดูดีไปกันได้กับกลุ่มเพื่อน (รวมถึงดูดีในสายตาเพศตรงข้ามด้วย) จะปล่อยให้เขาเป็นเด็กกะโปโลเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว วัยกำลังสดใหม่แบบนี้ก็ต้องเสริมแต่งกันบ้าง ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า นาฬิกา แล้วยังจะเครื่องสำอางค์ต่างๆ ที่ประโคมโหมโฆษณาให้ลูกๆ เราเห็นแล้วอยากสวย อยากเท่นั่นอีก…แต่ก็นั่นละค่ะ เรื่องเหล่านี้ก็ทำให้กระเป๋าเราเบาไปแยะเชียวล่ะ

ครั้นจะไม่ให้เขาทำอะไรตามกลุ่มเพื่อนหรือตามแฟชั่นบ้างเลย ก็น่าเห็นใจลูกที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนี้…เห็นทีคงต้องหาวิธีประนีประนอมกันทั้งสองฝ่ายแล้วละค่ะ

ก่อนอื่นคงต้องดูธรรมชาติในการให้ลูกใช้จ่ายเงินของแต่ละบ้านกันก่อนว่าเป็นอย่างไร

ถ้าที่ผ่านมาลูกอยากได้อะไรแล้วได้สมปรารถนาทุกอย่าง แบบนี้น่ากลัวเหมือนกันค่ะ คงต้องมาดูกันว่าที่เขาได้อย่างใจน่ะ เพราะอะไร…เพราะความสงสารลูก หรือเพราะต้องการตัดรำคาญให้จบๆ เรื่องไปหรือเปล่า ถ้าใช่ละก็แย่หน่อย เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้ลูกรู้จักใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผลแล้ว ยังสร้างปัญหาเรื้อรังตามมาอีก ซึ่งคุณหมอพนม เกตุมาน จากหน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เคยบอกไว้ค่ะว่า

“ถ้าลูกได้ทุกครั้งที่เรียกร้อง เขาก็จะเรียนรู้ที่จะเรียกร้องทุกครั้งที่อยากได้ ถ้าไม่ได้ทันทีก็คงจะมีการรบเร้า พูดลอยๆ บ่นบ่อยๆ โดยหวังว่าอาจจะได้ ถ้าแม่รำคาญมาก อาจตัดรำคาญโดยการซื้อให้ เขาก็จะมีพฤติกรรมมาให้แม่รำคาญบ่อยๆ เช่นกัน เป็นการเรียนรู้โดยอัตโนมัติ”

เพราะอย่างนี้ ลูกๆ ของหลายบ้านจึงมักมีไม้เด็ดที่ทำให้พ่อแม่อย่างเราต้องเสร็จทุกรายไป ทั้งออดอ้อน รบเร้า เซ้าซี้ หรือแม้แต่ข่มขู่ก็มี…ทางที่ดีคุณหมอแนะว่าสร้างข้อตกลงในบ้านกันให้ชัดไปเลยจะดีกว่า และโดยเฉพาะกับลูกวัยนี้ก็ต้องเป็นไปอย่างแนบเนียนสักหน่อยค่ะ

อย่าเพิ่งปฏิเสธในสิ่งที่ลูกขอในทันที
อย่าเพิ่งรีบปฏิเสธลูก ก่อนที่จะฟังเขาให้จบ เพราะบางทีสิ่งที่ลูกขออาจจะจำเป็นจริงๆ ก็ได้ การรอฟังลูกให้จบ จะช่วยให้ลูกเกิดความรู้สึกว่า แม่ยังฟังและพยายามเข้าใจเขาบ้าง ว่าความต้องการของเขาคืออะไร บางทีเขาอาจอยากแสดงให้เรารู้ว่า เขามีอะไรที่ด้อยกว่าเพื่อนอยู่ก็ได้

เลี่ยงการอ้างเหตุผลซ้ำๆ
พยายามอย่าอ้างเหตุผลซ้ำกันบ่อยๆ เพราะลูกจะรู้สึกว่า เราไม่ค่อยจะยอมรับในการพยายามอธิบายด้วยเหตุผลของเขา จนกลายเป็นวงจรพยายามอ้างเหตุผลของแต่ละฝ่าย แล้วในที่สุดเราก็จะพบว่า เขาไม่ฟังเหตุผลของเราหรอก จากนั้นคลื่นอารมณ์โกรธของเราก็อาจจะแทรกเข้ามาให้เรื่องนี้ลงเอยแบบไม่ค่อยสวยเท่าไหร่นัก
“เพราะสิ่งที่ผลักดันให้ลูกอยากได้โน่นนี่นั้นมักไม่ค่อยมีเหตุผล แต่เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งไม่มีทางเอาเหตุผลไปชนะได้ แต่เราควรใช้เหตุผลให้น้อยลง พูดสั้นๆ ว่าได้หรือไม่ได้ เพราะอะไร หรือถ้าได้ จะได้เมื่อไหร่ แต่หากลูกยังรบเร้าอีก ก็อาจต้องย้ำกับเขาอีกนิดค่ะว่า “เมื่อกี้…แม่พูดไปแล้ว”

ชะลอความอยากด้วยเวลา
ลองถามรายละเอียดสิ่งที่เขาอยากได้ ว่าทำไมถึงอยากได้ของชิ้นนั้น แล้วราคาเท่าไหร่ ถ้ายังไม่รู้รายละเอียดก็ให้ลูกไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ระหว่างนั้นเราก็จะได้มีเวลาไตร่ตรองอีกว่าจำเป็นหรือไม่ และบางทีเวลาก็จะช่วยให้ความอยาก (แบบวัยรุ่นใจร้อน) ลดน้อยถอยลงตามลำดับได้ด้วยเหมือนกันค่ะ
“เพราะถ้าลูกได้อะไรทันที เขาจะเรียนรู้เหมือนเด็กที่ต้องเอาให้ได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง หัดให้เขารู้จักรอบ้าง หรือพยายามด้วยตัวเองบ้าง เพราะถ้าได้อะไรมาง่ายๆ บางทีเขาจะไม่เห็นค่าในของชิ้นนั้น”

โน้มน้าวสู่การสร้างข้อตกลง

ถามความคิดของลูกเพื่อเราจะได้เข้าใจว่า เขากำลังคิดอะไร หรือวางแผนอะไรอยู่ ถ้าเราไม่อนุญาต เขาจะทำอย่างไร หรือถ้ามีค่าใช้จ่ายตามมาภายหลัง เช่นกรณี ลูกขอซื้อโทรศัพท์มือถือ ถามเขาว่า จะจัดสรรค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนอย่างไร ลูกคิดว่ามันคุ้มไหมกับประโยชน์ใช้สอยที่ลูกจะได้รับ แต่ถ้ายังไงๆ ลูกยังยืนยันว่าเขาจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จะตามมาได้จากเงินค่าขนมของเขาแล้ว ลองถามถึงแผนสำรองว่า ถ้าหากไม่สามารถรับผิดชอบเงินส่วนนี้ได้อย่างที่บอกกับแม่ เขาจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร

“เรื่องนี้ต้องเน้นที่ความรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่าย และประโยชน์ที่คุ้มค่า ปัญหามักจะเกิดเมื่อพ่อแม่ยอมจ่ายโดยลูกเองไม่ลำบาก”

ถ้าอะไรที่ลูกอยากได้แล้วเราเห็นว่ามากเกินไป ก็คงต้องคุยกันล่ะค่ะ ช่วยกันกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน ว่าเขาจะใช้จ่ายได้เท่าไหร่ ถ้าเขาอยากซื้อเพิ่มเติมมีงบประมาณให้เท่าไหร่ต่อเดือน อะไรได้ อะไรไม่ได้ คุยกันให้ชัดๆ ได้หลักการอย่างนี้แล้วลองนำไปประยุกต์ใช้กันดูนะคะ

คราวนี้ไม่ว่าลูกจะมาไม้ไหน เราก็รับมือได้อย่างสบายใจค่ะ
ขอขอบคุณเนื้อหาจากนิตยสาร Life & family
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง