คุณเป็นพ่อแม่ที่ทำลาย เมื่อพูดถึง "อีคิว" หรือความฉลาดทางอารมณ์ นับได้ว่ามีความสำคัญไม่แพ้ "ไอคิว" ที่หมายถึงระดับสติปัญญาหรือเชาว์ปัญญาเลย เพราะเด็กที่มีอีคิวดีย่อมสามารถจัดการอารมณ์ และดำเนินชีวิตอย่างเข้าใจตนเอง และผู้อื่น ซึ่งพ่อแม่สามารถฝึกฝนให้ลูกมีอีคิวที่ดีขึ้นได้ แต่ถ้าปล่อยให้เด็กอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง เต็มไปด้วยความหวาดกลัว หรือถูกเปรียบเทียบอยู่บ่อย ๆ เป็นการยากที่จะมีการพัฒนาอีคิวที่ดีได้
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พญ.สุธีรา ริ้วเหลือง จิตแพทย์ กลุ่มงานจิตเวช สาขาจิตเวชเด็ก และวัยรุ่น รพ.พระนั่งเกล้าฯ กล่าวภายหลังจบการเสวนาในงานเทศกาลนิทานในสวนครั้งที่ 8 เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ทุกวันนี้ระดับอีคิว หรือความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กหลาย ๆ คนกำลังถูกทำลายด้วยความคาดหวัง ช่างเปรียบเทียบ และมุ่งแข่งขันของผู้ใหญ่ ส่งผลให้เด็กหาความพอดีทางจิตใจไม่ได้ กลายเป็นคนอารมณ์ร้อน ขาดทักษะทางสังคมที่ถูกต้องเหมาะสมกับกาลเทศะ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งหน้าที่การงาน และชีวิตส่วนตัวย่อมมีได้น้อย
"การเปรียบเทียบเป็นส่วนหนึ่งของการที่พ่อแม่รู้สึกว่า ลูกยังทำได้ไม่ดีพอ แล้วส่วนมากจะมีคำพูดที่ทำให้ลูกรู้สึกแย่ตามออกมาโดยลืมมองว่า ลูกก็ทำได้มากแล้วนะ เช่น ทำไมทำไม่ได้ เรื่องแค่นี้เอง ดูสิ ขนาดเพื่อน ๆ เขายังทำกันได้เลย ทำให้เด็กรู้สึกว่า พ่อแม่มองไม่เห็นเลยหรือว่าตัวเขาเองก็พยายามเต็มที่แล้วนะ มองแต่ส่วนที่พลาดแล้วย้ำมันอยู่นั่นแหละ หรือบางบ้าน ทำผิดไม่ได้เลย ผิดเมื่อไรถูกตี หรือถูกตำหนิทันที ทำให้อีคิวในด้านของการรู้จักคุณค่าในตัวเองลดลง กลายเป็นคนหงุดหงิดง่าย ขี้โมโห และไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์"
หากเด็กยังอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ พญ.สุธีรา สะท้อนต่อไปว่า เมื่อเด็กเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น อาจเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้
"พอเข้าสู่วัยรุ่น เด็กจะเริ่มรู้จักตัวเอง และมองอย่างมีอคติว่า พ่อกับแม่ไม่เคยเห็นคุณค่าในตัวเขาเลย ซึ่งอันตรายมาก เพราะเด็กจะขาดแรงยึดเหนี่ยว รู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรดีเกิดขึ้นในชีวิตของเขาเลย ทำให้เสี่ยงต่อการหลงผิด และออกนอกลู่นอกทางได้สูงมาก เช่น ติดเพื่อน ตามเพื่อน หรือบางคนอาจติดอยู่กับโลกออนไลน์อย่างเกม และโปรแกรมสนทนาต่าง ๆ จนไม่สนใจสิ่งรอบตัวไปเลยก็มี"
"ดังนั้น มาสร้างแรงยึดเหนี่ยวให้ลูกตั้งแต่เล็ก ๆ กันเถอะค่ะ เพราะถ้าเด็กมีคนที่เข้าใจ ยอมรับ และให้กำลังใจ พวกเขาก็จะมีความภาคภูมิใจในตัวเองว่าเขาก็ทำได้นะ ถึงแม้จะทำได้ไม่ดีก็ตาม แต่ก็ยังรู้สึกว่ามีคนเข้าใจ และรักเขาอยู่ เมื่อเด็กได้รับสิ่งเหล่านี้ หมอเชื่อว่า เด็กจะสามารถก้าวผ่านช่วงวัยรุ่นไปได้ด้วยดี ต่อให้หลุดนอกวงโคจร เด็กก็ยังรู้สึกว่า บ้านคือสิ่งที่อบอุ่น บ้านคือสิ่งที่ให้อภัยเขา บ้านคือสิ่งที่รอรับเขาตลอดเวลา ซึ่งหมอบอกได้เลยว่า ในช่วงวัยรุ่นมีโอกาสหลุดได้สูง แต่ถ้าเขามีทักษะทางอารมณ์ที่ดี หลุดไม่นานค่ะ แล้วเขาจะกลับมา" พญ.สุธีราทิ้งท้าย
ข้อมูลจาก :
http://www.manager.co.th/Family/