เคล็ดลับสร้างกฏกติกาในบ้านให้ลูกอย่างได้ผล/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน “ลูกไม่มีระเบียบวินัยเลย พูดอะไรก็ไม่ฟังจะทำอย่างไรดี”
เพื่อนคุณแม่คนหนึ่งมาปรึกษาหารือ เพราะกำลังกลุ้มใจกับลูกชายคนเดียววัย 8 ปี ที่ไม่ค่อยเชื่อฟังพ่อแม่ และไม่ยอมทำอะไร อยู่บ้านก็จะดูทีวีหรือไม่ก็เล่นเกม จนกลายเป็นพฤติกรรมที่สร้างความหนักอกหนักใจให้กับครอบครัว
“แล้วคุณแม่มีกฎระเบียบภายในบ้านหรือเปล่า”
เพื่อนคุณแม่ตอบว่า “ไม่ได้มีกฎชัดเจน แต่ก็บอกเขาว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ เมื่อก่อนเขาก็เชื่อฟังดี แต่ยิ่งโตกลับยิ่งไม่ค่อยฟัง”
ดิฉันยังจำได้ว่ามีคนเคยบอกถ้าอยากรู้ว่าบ้านไหนใครมีบทบาทมากหรือเสียงดังที่สุดในบ้าน ให้ดูว่าใครคือคนถือรีโมทคอนโทรลเวลาดูทีวีร่วมกัน เพราะผู้นั้นจะเป็นผู้กำหนดว่าจะให้ใครดูอะไร
ด้วยหลักการนี้ ถ้าผู้เป็นแม่นำมาใช้เมื่อลูกยังเล็ก ด้วยการกำหนดรายการและเวลาให้ลูกดู หรือกำหนดว่า ทุกครั้งที่ลูกจะดูรายการทีวีจะต้องขออนุญาตก่อนไม่ว่าพ่อแม่จะอยู่บ้านหรือไม่ก็ตาม ก็เท่ากับเป็นการฝึกให้ลูกได้เรียนรู้และเข้าใจว่าการอยู่ร่วมกันภายในบ้านก็ต้องมีกฏกติกา
และ..ถ้าผลจากเรื่องทีวีได้ต่อยอดไปสู่เรื่องอื่นๆ ด้วย เขาก็จะซึมซับติดตัวไปสู่เรื่องอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
แล้วควรใช้กฎกติกากับลูกได้ตั้งแต่เมื่อไร ?
ความจริงสามารถใช้ได้ตั้งแต่เล็ก ถ้าเป็นเด็กวัยขวบปีแรก ผู้ใหญ่ก็สามารถสร้างกฎ กติกาง่ายๆ ในการสร้างสุขนิสัยชีวิตประจำวัน เช่น เวลากิน เวลานอน เวลาฟังนิทาน ฯลฯ เขาก็จะเรียนรู้เรื่องเวลาสำหรับกิจวัตรต่างๆ และเมื่อยังไม่ถึงเวลา เขาก็เรียนรู้ว่ายังไม่ได้
และเมื่อเข้าสู่วัยก่อนเข้าวัยเรียน เด็กก็สามารถเรียนรู้ปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งรอบตัว เช่น ใส่รองเท้าก่อนออกจากบ้าน ยกมือไหว้สวัสดีผู้ใหญ่หรือขอบคุณเมื่อได้รับสิ่งของจากผู้อื่น รับประทานอาหารเมื่อถึงเวลา
ที่สำคัญพ่อแม่ควรสังเกตความพร้อมของลูกโดยคำนึงถึงวัยที่เหมาะสมด้วย และต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กด้วย กฎ กติกา บางข้อใช้ได้ผลดีกับเด็กคนหนึ่ง แต่เด็กบางคนอาจใช้ไม่ได้ผล พ่อแม่ต้องเรียนรู้พื้นนิสัยของลูกแต่ละคนด้วย
เคล็ดลับสร้างกฎกติกาภายในบ้าน
1. เริ่มจากการจัดสรรเวลากิน นอน เล่น ทำการบ้าน หรือกิจวัตรที่เขาต้องทำเป็นประจำ เช่น อาหารมื้อเช้า 7 โมง และอาหารมื้อเย็น 6 โมง หรือกลับจากโรงเรียนพ่อแม่ควรต้องให้ลูกทำการบ้านให้เสร็จก่อนออกไปเล่นกับเพื่อนหรือดูทีวี พอสองทุ่มคือเวลาฟังนิทานก่อนเข้านอน ฯลฯ พยายามกำหนดให้เหมาะสมกับวัยของลูก แต่บางครั้งก็อาจยืดหยุ่นได้บ้าง เช่น ช่วงเวลาปิดเทอม หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ สามารถตื่นสายได้ เพื่อให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย และจะได้เข้าใจหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเองด้วย
2. สอนให้เก็บสิ่งของให้เข้าที่ทุกครั้ง เช่น ของเล่น รองเท้า ต้องวางเป็นระเบียบ เก็บเข้าที่เข้าทางทุกครั้งที่ใช้เสร็จ ถ้าลูกไม่ยอมเก็บ อาจจะเริ่มจากการช่วยกันเก็บในครั้งแรกๆ หลังจากนั้นต้องปล่อยให้ลูกเก็บเอง ต้องไม่พยายามช่วยทุกครั้ง และถ้าเขาไม่ยอมเก็บแล้วสิ่งของหาย เขาก็จะเรียนรู้ว่าเป็นเพราะเขาไม่เก็บของเข้าที่ ของสิ่งนั้นก็อาจหายได้
3. เตรียมอุปกรณ์ให้ลูกจัดการกับตัวเอง เช่น เมื่อลูกต้องการถอดเสื้อผ้า ก็ควรใส่ลงตระกร้าที่พ่อแม่เตรียมไว้ เพราะถ้าถอดเสื้อผ้าแล้วโยนไว้บนพื้น ตามโต๊ะเตียง โซฟา แล้วคุณแม่ต้องตามเก็บให้ตลอดแล้วล่ะก็ เขาก็จะติดพฤติกรรมนั้นไปจนโตอย่างแน่นอน
4. ไม่ควรให้ลูกใช้เครื่องมือสื่ออิเลคทรอนิคส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ทีวี นานเกินไป พ่อแม่ควรกำหนดเวลาให้ชัดเจน โดยดูวัยของลูกเป็นหลัก อาจจะกำหนดช่วงเวลาและระยะเวลาให้ชัดเจน
ทั้งสี่ประการเป็นเพียงตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่พ่อแม่สามารถสร้างกฎกติกาขึ้นมาได้เลย เพราะการกำหนดกฎกติกาภายในบ้าน ก็เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่าตัวเองควรทำตัวอย่างไรในบ้าน ทุกคนต้องมีหน้าที่รับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ยามอยู่บ้านก็มีกฎกติกาในบ้าน ยามอยู่โรงเรียนก็มีกฎระเบียบของโรงเรียน เด็กก็จะได้เรียนรู้กฎของการอยู่ร่วมกันในสังคม
และ…กฎ กติกาที่ลูกถูกปลูกฝังมาดีตั้งแต่เด็ก จะช่วยให้ลูกเข้าสังคมได้ดี จนกลายเป็นบรรทัดฐานทางด้านพฤติกรรมที่เหมาะสมเมื่อถึงวันที่เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่
แต่การจะทำให้กฎกติกาได้ผลก็ต้องมีสิ่งเหล่านี้ด้วย
1. กฎ กติกา ต้องชัดเจน ปฏิบัติได้ และเข้าใจง่าย
2. ถ้าลูกโตพอ บางเรื่องก็ควรให้ลูกได้ส่วนร่วมในการกำหนดกฎ กติกาภายในบ้านด้วย
3. กฏกติกาต้องมีเหตุผล เหมาะสมกับวัยของเด็กที่จะปฏิบัติได้ ไม่บังคับให้เด็กทำตามความต้องการของพ่อแม่
4. ควรสร้างทางเลือก เพื่อให้เด็กมีโอกาสเลือก หรือตัดสินใจด้วยตนเอง
5. เมื่อวางกฎ กติกาแล้ว ต้องใช้และยึดถืออย่างสม่ำเสมอ
6. สร้างขั้นตอนของการทำโทษเมื่อผิดกฎ กติกา เริ่มจากเตือนทันทีเมื่อลูกทำผิดกฎ หรือกำหนดบทลงโทษเป็นขั้นตอน โดยต้องรับรู้ร่วมกันระหว่างพ่อแม่ลูกตั้งแต่แรก
7. ชื่นชมเมื่อลูกปฏิบัติได้ตามกฎ กติกาที่วางไว้
ปัญหาเรื่องลูกไม่เชื่อฟัง หรือขาดระเบียบวินัยภายในบ้าน อาจต้องหันกลับมาสำรวจพ่อแม่และผู้ใหญ่ในบ้านซะแล้วว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำให้ลูกเป็นอย่างทุกวันนี้หรือไม่…!!!
การสร้างนิสัยที่ดีตั้งแต่ลูกวัยเด็กเล็กย่อมดีกว่าต้องมาแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาแล้วเมื่อเด็กโตค่ะ
ข้อมูลจาก :
http://www.manager.co.th/Family