ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
การเลี้ยงลูก..ช่วยพ่อแม่ฝึกธรรมะได้/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
การเลี้ยงลูก..ช่วยพ่อแม่ฝึกธรรมะได้/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน พอถึงช่วงวันสำคัญทางพุทธศาสนา ชาวพุทธศาสนิกชนมักจะประกอบกิจด้วยการเข้าวัดทำบุญ ยิ่งครอบครัวไหนมีลูกเล็กเด็กแดงก็ชวนกันไปทำบุญทำทาน ทำให้ลูกหลานเกิดความคุ้นเคยยึดถือปฏิบัติตามแบบอย่างจากการเรียนรู้ประสบการณ์ตรง โดยมีพ่อแม่เป็นผู้ส่งผ่านความรู้ และสอดแทรกให้ลูกได้เข้าใจตามวัย และเรียนรู้ว่าวันสำคัญทางพุทธศาสนามีความสำคัญและความเป็นมาอย่างไร

แต่ในความเป็นจริงเรื่องธรรมะสามารถสอดแทรกในชีวิตประจำวันได้ทุกวัน ไม่ใช่สอนเฉพาะเมื่อพาลูกเข้าวัดเท่านั้น 

เพราะการเลี้ยงลูก..พ่อแม่ต้องใช้ธรรมะ

พญ. สมสิริ สกลสัตยาทร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ซึ่งเป็นกุมารแพทย์ผู้ที่ใช้เวลาว่างปฏิบัติธรรม เรียนรู้ธรรมะมานานกว่า 30 ปี จนได้นำเอาหลักธรรมมาเป็นเครื่องมือช่วยให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง นำหลักการ คำสอนของพระพุทธเจ้าไปปรับใช้ในการเลี้ยงลูก และดำเนินชีวิตครอบครัวอย่างมีสติ

คุณหมอได้ให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Mother&Care มีข้อคิดที่น่าสนใจยิ่ง ดิฉันขอตัดทอนบางส่วนนำมาฝากเพื่อนผู้อ่าน เนื่องในโอกาสวันมาฆบูชาที่กำลังจะมาถึงในปีนี้ค่ะ

“ปัญหาทางสังคมของเราที่พบก็คือ รูปแบบการดำเนินชีวิตของครอบครัวสมัยใหม่เปลี่ยนไป แต่ละครอบครัวมีลูกน้อยลง ทำให้เด็กได้รับการสนองตอบจากพ่อแม่อย่างเต็มที่ในด้านวัตถุ เด็กยุคนี้จึงปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลง และการดำเนินชีวิตได้ไม่ดีเมื่อเทียบกับเด็กสมัยก่อนๆ เกิดปัญหาเรื่องการปรับตัว อยู่ร่วมกับคนในสังคมยากขึ้น เช่น ไม่สามารถทำงานร่วมกับคนผู้อื่นได้ดีนัก เปลี่ยนงานบ่อย นี่แหละ คือปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญ เป็นเรื่องใหญ่ที่พ่อแม่ต้องช่วยดูแล สั่งสอนลูก 
ดังนั้นธรรมะจึงเป็นเสมือนเครื่องมือสำคัญในการทำให้เกิดประโยชน์กับชีวิตความเป็นอยู่ได้อย่างแท้จริง เพราะธรรมะสอนให้รู้จักการปรับตัวให้เข้ากับชีวิต ไม่ได้หมายความว่าต้องไปวัด นั่งสมาธิ หรือสวดมนต์อย่างที่เข้าใจกัน แต่เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้า ล้วนแต่เป็นการสอนให้เรียนรู้เรื่องของตัวเรา ทั้งหมดเป็นเรื่องของใจ ของความรู้สึก เช่น สอนว่าตัวเราเป็นอย่างไร พ่อแม่ลูกเกี่ยวข้องกันอย่างไร โดยที่เราคิดว่ารู้ไปแล้วแต่จริงๆ ยังไม่รู้

ชีวิตครอบครัวคือการอยู่ร่วมกัน ธรรมะจึงเป็นหัวใจของครอบครัว ด้วยเหตุที่ว่า เมื่อครั้งหนุ่มสาวที่คบกันเป็นคู่รัก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของคนสองคนที่คิดจะใช้ชีวิตร่วมกัน แต่ละคนถูกเลี้ยงดู มีพื้นฐานลักษณะ นิสัยใจคอที่ต่างกัน เมื่อคบกัน ก็มักหยิบแต่ด้านที่ดี ส่วนที่น่ามองให้กันและกัน มองเห็นแต่ส่วนดีของคนๆ นั้น น้อยนักที่จะหยิบข้อเสียของตนมาบอก

พระพุทธเจ้าสอนให้มนุษย์เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งในสิ่งที่ดีและไม่ดีด้วยกันเพื่อปรับตัวเข้าหากัน การเรียนรู้ปรับตัวดังกล่าว ต้องอาศัยความอดทน การพูดคุย สื่อสารต่อกัน เลือกในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับบุคคล และสถานการณ์ นี่ก็เป็นตัวอย่างของธรรมะในครอบครัวแล้ว ธรรมะไม่ใช่เรื่องพิธีกรรมหรือประเพณี แต่เป็นเรื่องของจิตใจ ที่เราจะต้องเรียนรู้และนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ นำมาแก้ไข ปรับปรุงตัวเอง เป็นเรื่องราวชีวิตของเราทั้งหมด จึงอยากให้ทุกคนเข้าใจว่า ธรรมะ คือการเรียนรู้ความเป็นจริงในชีวิตและกระทำสิ่งที่ดีให้แก่ตนเองและผู้อื่นนั่นเอง

ถ้ามองในแง่ทางการแพทย์มีข้อมูลที่บอกได้ว่า เด็กที่ถือกำเนิดคลอดออกมา จะมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นพันธุกรรม และส่วนการเลี้ยงดูจากสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างละ 50% ด้วยความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก อะไรที่คิดว่าดีก็อยากให้ลูกได้รับไปจนหมด แต่ถ้าพ่อแม่ไม่รู้ว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดี รู้ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง พ่อแม่จะสอนลูกอย่างไร เพราะพ่อแม่ คือแบบอย่าง เป็นเบ้าหลอมของลูก ธรรมะจึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องเข้าใจ และนำมาเรียนรู้ให้เกิดปัญญากับตัวเองก่อนแล้วจึงนำไปถ่ายทอด สอนลูกได้ค่ะ”


หลักธรรมที่เหมาะกับลูกในแต่ละวัย

ในเด็กเล็กจะมีการเรียนรู้ได้จากเสียง การสัมผัส กิริยาท่าทาง สิ่งที่พ่อแม่แสดงออก ถ้าลูกเห็นพ่อแม่ในแต่ละวัน มีอารมณ์โวยวายใส่กัน ลูกก็จะเห็นสิ่งนั้นอยู่บ่อยๆ แม้ยังฟังไม่ออก แต่เห็นท่าทางก็เป็นการสอนโดยการกระทำไปแล้ว แม้คำพูดที่บอกลูกให้ทำแต่สิ่งที่ดีก็ตาม สอนทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี พ่อแม่จึงต้องรู้จักฝึกจิต ทำความรู้สึกตัว นั่นคือ การมีสติสัมปชัญญะ ตรงกับปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า ที่สอนไม่ให้ประมาท

เด็กเล็กช่วง 3 ปีแรก เป็นช่วงทองที่สมองของลูกพัฒนามากที่สุด ขณะเดียวกัน เมื่อลูกโตขึ้น สามารถสอนได้ด้วยเหตุและผล แต่เมื่อลูกไม่ทำ ไม่น่ารัก พ่อแม่ควรไต่ถามลูกถึงสาเหตุ คุยกับลูกด้วยอารมณ์ที่ไม่โกรธ คุยให้รู้เรื่องเข้าใจกัน หมอแนะนำว่า พ่อแม่ต้องเข้าใจลูก เช่น เด็กเล็กร้องไห้ บอกถึงอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้ดูแลให้ถูกวิธี และเรียนรู้ที่จะอดทน ควบคุมอารมณ์เป็น เช่น อารมณ์ตกใจ ตื่นกลัว อารมณ์โกรธ และต้องเรียนรู้ไม่มีวันหยุด หาข้อมูลเพื่อเลี้ยงลูกตามวัย รักเขาในสิ่งที่เขาเป็น ไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่ต้องการให้เป็น แต่พ่อแม่คอยแนะนำให้ถูกทาง

การฝึกจิตเลี้ยงลูก คือการกลับมาดูความรู้สึกที่ใจ คอยสอดส่องใจตัวเอง เพื่อแก้ไข พ่อแม่ต้องเรียนรู้ในการควบคุมอารมณ์ ต้องสอนลูกด้วยไม่โกรธหรือขัดใจ ต้องสอนด้วยความรู้สึกที่ลูกอยากรับฟัง โดยอยู่บนพื้นฐานความอดทน

พระพุทธเจ้าบอกไว้ว่า คนทั่วไปคิดว่าชีวิตเราที่ได้ดี มีสุขทุกวันนี้ เพราะคิดว่าเราเป็นผู้ทำ ที่จริงแล้วเป็นผลของกรรม เช่นเดียวกับการเลี้ยงลูก ตอนลูกเล็กๆ เราจับเขาวางตามใจเรา เลี้ยงแบบที่เราชอบ เมื่อลูกโตขึ้นเราจะจับเขาวางเลี้ยงเขาเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว เพราะลูกมีความคิดและความรู้สึกเป็นของตัวเอง พ่อแม่ต้องเรียนรู้สถานะ ความต้องการ การกระทำที่เปลี่ยนไปของลูกอยู่ตลอดเวลา

ยกตัวอย่างลูกวัยรุ่น คุยโทรศัพท์กับเพื่อนนานๆ ลูกอยากมีเพื่อน อยากมีความเป็นส่วนตัว แม่จะรู้สึกว่าคุยอะไรกัน 2-3 ชั่วโมง แต่เวลาคุยกับแม่แค่ 2-3 ประโยค ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะลูกรู้สึกว่า คุยกับแม่ไม่สนุก แต่ถ้าสร้างความคุ้นเคยให้ลูกตั้งแต่ยังเล็กๆ โดยแม่เป็นผู้ฟัง ฟังเมื่อลูกอยากจะเล่า ไม่ใช่พอลูกจะเล่าก็แม่เหนื่อยยังไม่อยากฟัง พอหายเหนื่อยจะไปฟัง ลูกไม่อยากเล่าแล้ว

ขอย้ำว่า เมื่อมีเขาแล้วไม่ใช่ให้แต่วัตถุ เราต้องให้เวลา ในเวลาที่เขาอยากได้ หรือลูกคุยกับเพื่อนนาน แม่อยากรู้ เลยแอบฟังลูกคุย แบบนี้ถือเป็นเรื่องก้าวก่าย หรือบังคับให้ลูกบอก เพราะคิดว่า ลูกเป็นของเรา พ่อแม่ต้องรู้ทุกอย่างของลูก บางครั้งลูกอยากมีความลับก็ได้ หรือเวลาลูกเล็กๆ หยิบของสกปรกเข้าปาก เรารีบคว้าออกทันที โดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของลูก แม้จะบอกทีหลังแต่ลูกก็โกรธไปแล้ว จะเห็นว่า ทั้งที่มีเจตนาที่ดีก็ตาม แต่วิธีการที่แสดงนั้นผิด

พ่อแม่มักคิดว่า ลูกเป็นสมบัติของตน จึงพยายามทุกอย่างเพื่อให้ลูกเป็นไปตามที่ต้องการ ซึ่งคิดว่าดีที่สุด เช่น ในการคบเพื่อน พ่อแม่สนใจไต่ถามเรื่องเพื่อนลูกได้ แต่ไม่ใช่วิจารณ์หรือตำหนิในส่วนไม่ดีของเพื่อนลูกโดยที่ลูกยังรับไม่ได้

ที่สำคัญ ควรรู้ว่าสถานะของพ่อแม่เป็นเพียงที่ปรึกษาและรับฟัง แต่เรื่องตัดสินใจเป็นของลูก นี่ก็เป็นการฝึกจิตของพ่อแม่ให้รู้ฐานะและมีความอดทนไม่ก้าวก่าย

พ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกให้ถูกทางอย่างมีปัญญา พ่อแม่ต้องเข้าใจได้ว่า การอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวคือ การเคารพความดีของตนเอง ไม่ก้าวล่วงในสิ่งที่ผิดของผู้อื่น เช่น เวลาที่แม่โกรธเพราะลูกดื้อ แล้วก็เผลอลงมือกับลูก ถึงจะบอกเหตุผลตามหลังก็ตาม แต่ลูกเข้าใจไปแล้วว่า เวลาถูกขัดใจต้องส่งเสียงแบบนี้ ต้องตีแบบนี้ เหมือนกับเวลาเราเห็นเด็กเล็กถูกขัดใจแล้วหันไปตีคนใกล้ชิด สะท้อนได้ว่า ที่บ้านต้องมีใครทำแบบนี้ให้เห็น เพราะเด็กเรียนรู้จากสิ่งที่เห็น สิ่งที่สัมผัส

การสอนลูกก็เช่นเดียวกัน ต้องเริ่มที่พ่อแม่ปฏิบัติตัว เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็น

เห็นไหมคะ…การเลี้ยงลูกก็เป็นการฝึกธรรมะอย่างหนึ่งค่ะ
ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง