แนะพ่อแม่ตั้งสติสู้เสียงร้องไห้ลูก ดีกว่าทำร้ายด้วยการเขย่า เป็นอีกหนึ่งคำแนะนำดี ๆ สำหรับผู้ที่กำลังจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ กับการรับมือเสียงร้องไห้โยเยในช่วง 2 - 3 เดือนแรกของลูกน้อย เพราะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่บางท่านที่ไม่เคยเจอเหตุการณ์เหล่านี้มาก่อน เมื่อต้องเลี้ยงลูกเอง และต้องฟังเสียงลูกร้องกวน อาจเกิดความเครียด และพลั้งมือทำร้ายลูกน้อยของตนได้นั่นเอง
สำหรับเสียงร้องของเด็กทารกนั้นอาจดังได้ถึง 110 เดซิเบล ซึ่งเรียกได้ว่าใกล้เคียงกับเสียงไซเรนรถพยาบาลเลยทีเดียว ซึ่งความดังระดับดังกล่าวสำหรับพ่อแม่ที่ต้องดูแลทารกวัยแบเบาะนั้น อาจทำให้หลายท่านเกิดอารมณ์ฉุนเฉียวได้ง่าย ประกอบกับตนเองที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ต้องตื่นมาให้นมลูกตลอดทั้งคืนอยู่แล้ว การทำร้ายลูกน้อยในวัยแบเบาะจึงอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะในเวลาที่พ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงขาดสติ ซึ่งการกระทำที่ผู้เลี้ยงมักทำกับทารกน้อยก็คือ การเขย่าตัวหวังให้เด็กหยุดร้อง แต่นั่นไม่ต่างอะไรกับการฆ่าเขาทั้งเป็น เพราะบริเวณศีรษะของทารกนั้นบอบบางมาก การเขย่าตัวทารกอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ หรือเกิดอาการเลือดออกในสมองได้ ดังนั้น ในประเทศอังกฤษจึงได้ริเริ่มโครงการให้คำแนะนำกับพ่อแม่ในการเลี้ยงดูทารกแรกเกิด เพื่อให้พ่อแม่สามารถรับมือกับความเครียดของตนเองได้ ไม่ต้องไปลงที่เจ้าของเสียงร้องไห้นั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นมาจากสถิติของ NSPCC ที่พบว่า เด็กทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือนของอังกฤษนั้น มี 1 ใน 3,000 รายต้องเผชิญกับอาการบาดเจ็บทางสมอง หรือเลือดออกในสมอง
ทั้งนี้ หากพิจารณาดูจะพบว่าศีรษะของเด็กทารกนั้นถือว่าใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดของลำตัวที่เหลือ อีกทั้งกล้ามเนื้อบริเวณรอบคอของทารกน้อยก็ยังไม่แข็งแรงพอที่จะทำให้ทารกชันคอได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น ในระยะแรกของชีวิต หากทารกน้อยไม่ได้รับการดูแลอย่างดี หรือไม่ได้รับการอุ้มอย่างถูกต้อง ก็อาจเกิดอันตรายต่อสมองได้ นอกจากนั้น การเขย่าเด็กทารกที่ร้องโยเยนั้นไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสาเหตุดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ส่งผลให้ภายในศีรษะของเด็กซึ่งมีเส้นเลือดมากมายอาจฉีกขาด หรือเกิดอาการเลือดออกในสมองได้ ผลที่จะตกกับเด็กไม่เพียงแต่ทำให้เด็กตาบอด หูหนวก ชัก เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ช้า แต่ยังอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด
เป็นที่ทราบกันดีว่า การร้องไห้ของเด็กนั้นเป็นหนทางเดียวที่เด็กจะบอกกับพ่อแม่ถึงความต้องการของเขา ซึ่งหากไม่ใช่เพราะหิวนม หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมแล้ว พ่อแม่อาจลองทำตามแนวทางต่อไปนี้เพื่อช่วยให้ลูกเงียบเสียงลงได้ค่ะ
- กอดอย่างทะนุถนอมและร้องเพลงกล่อม
- วางเด็กในเปลแล้วไกวเบา ๆ
- เปิดเพลงที่มีจังหวะนุ่มนวล
- อุ้มเด็กไว้ในอ้อมแขนแล้วเดิน หรือโยกตัวช้า ๆ
แต่ถ้าหากพ่อแม่รู้สึกเครียด หรือรู้สึกว่าตนเองจะทนไม่ไหวแล้วกับเสียงร้องของลูก คุณพ่อคุณแม่อาจลองทำดังต่อไปนี้ เพื่อลดความเครียดของตนเองลงค่ะ
- วางเด็กในที่ที่ปลอดภัย เช่น เปล หรือ รถเข็น และออกจากห้องไปสงบสติอารมณ์สักพัก จนรู้สึกว่าตนเองดีขึ้น และมีพลังพอที่จะกลับมาดูแลลูกน้อยได้ใหม่
- ขอความช่วยเหลือจากเพื่อน หรือญาติให้ช่วยมาดูแลลูกแทนสักระยะ
แต่หากเสียงร้องนั้นมาพร้อมอาการผิดปกติของลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่อย่ารอช้า ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที
"หากเสียงร้องของลูกนั้นทำให้คุณรู้สึกหงุดหงิดอย่างมาก ขอให้หายใจเข้าลึก ๆ และพยายามทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมีสติให้มากที่สุด ถ้าหากทนไม่ไหวจริง ๆ ให้ออกไปพักข้างนอกสักครู่ เมื่อรู้สึกดีขึ้นแล้วค่อยกลับมาอยู่กับลูก แต่ถ้าเสียงเด็กเงียบไป ก็ขอให้พ่อแม่ช่วยตรวจสอบลูกด้วยว่ายังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า หรือว่าแค่หลับไป" เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของอังกฤษกล่าว
สำหรับโครงการนี้มีอีกหนึ่งแรงบันดาลใจ นั่นก็คือเด็กชาย Ellis Brigden วัย 14 ปี เด็กชายที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เนื่องจากอาการบาดเจ็บทางสมอง เนื่องจากเขาถูกผู้ดูแล ซึ่งเป็นคนสนิทของครอบครัวเขย่าเขาอย่างรุนแรงด้วยวัยเพียง 3 เดือนเท่านั้น
Mae Pleydell-Pearce แม่ของเด็กชายกล่าวว่า ไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าการทนเห็นลูกมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ทรมาน ส่วนเด็กชายได้เสียชีวิตลงเมื่อปี 2009 เมื่อเขาอายุได้ 14 ปี
เรื่องราวของ Ellis ได้ถูกถ่ายทอดให้กับพ่อแม่ที่มาคลอดลูกในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของเมืองลิเวอร์พูลได้รับชม เพื่อให้พ่อแม่เหล่านั้นมีสติ และมีความยั้งคิดมากขึ้น ก่อนที่จะกลับไปเลี้ยงลูกด้วยตัวเองที่บ้าน
สำหรับผู้ที่เคยรับชมโฆษณา หรือรายการทางทีวีฉายภาพของการเป็นพ่อแม่ โดยมีรอยยิ้มอย่างมีความสุข และลูกก็ยิ้มอย่างมีความสุขนั้น เมื่อได้เลี้ยงลูกเองอาจได้พบความจริงที่แตกต่าง ดังนั้น การอบรมให้ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากพาลูกกลับบ้านไปแล้วจึงเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่งค่ะ
เรียบเรียงจากเดลิเมล
ขอบคุณภาพจาก
soed-babycare.com
ข้อมูลจาก :
http://www.manager.co.th/Family/