เด็กเล่นนอกบ้านลดเสี่ยงสายตาสั้น นักวิจัยระบุว่า เด็กที่ใช้เวลาเล่นในที่แจ้งมากช่วยให้ได้รับแสงตามธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงน้อยลงที่จะมีสายตาสั้น
การวิเคราะห์งานวิจัย 8 ชิ้นก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พบว่า ในแต่ละสัปดาห์ถ้าเด็กเล่นนอกบ้านทุกๆ 1 ชั่วโมง ความเสี่ยงที่จะมีสายตาสั้นจะลดลง 2% ซึ่งนักวิจัยอธิบายว่า การได้รับแสงธรรมชาติ และระยะเวลาที่ใช้ไปกับการมองวัตถุที่อยู่ไกลนับเป็นตัวแปรสำคัญ
งานวิจัยชิ้นนี้ได้ศึกษาเด็กและวัยรุ่นจำนวนกว่า 10,000 คน ข้อค้นพบนี้นำเสนอต่อที่ประชุมประจำปีของสมาคมจักษุวิทยาอเมริกัน ในมลรัฐฟลอริดา
ดร.จัสติน เชอร์วิน กับทีมวิจัย สรุปว่า เด็กสายตาสั้นใช้เวลาอยู่นอกบ้านน้อยกว่าเด็กสายตาปกติ หรือเด็กสายตายาวเฉลี่ย 3.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ดีนักวิจัยยังไม่แน่ใจนักว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
ตอนแรกนักวิจัยคาดว่า เด็กที่ใช้เวลาเล่นนอกบ้านมากก็จะใช้เวลาทำกิจกรรมในร่มน้อย เช่น อ่านหนังสือ ศึกษาค้นคว้า หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ แต่นักวิจัยกลับไม่พบความเชื่อมโยงที่ว่านี้ในงานวิจัย 2 ใน 8 ชิ้นที่ศึกษาความสัมพันธ์ดังกล่าว
ดร.เชอร์วินบอกว่า นักวิจัยต้องศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้เข้าใจว่าตัวแปรใดกันแน่ อาทิ การใช้สายตามองวัตถุระยะไกล, การใช้สายตามองวัตถุระยะใกล้น้อยลง, การได้รับแสงอัลตราไวโอเล็ต หรือการออกกำลังกาย ที่มีความสำคัญที่สุด
นอกจากนี้ยังมีตัวแปรอื่นต้องพิจารณาด้วย เช่น การใช้เวลานอกบ้านเพิ่มขึ้นจะทำให้ได้รับรังสียูวีมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งผิวหนัง โรคต้อ และมะเร็งชนิดอื่นๆ แต่ในทางตรงกันข้าม การทำกิจกรรมกลางแจ้งมากขึ้นก็จะช่วยป้องกันโรคเบาหวานและโรคอ้วน การขาดวิตามินดี และโรคกระดูกพรุน ดังนั้นจึงต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีกับผลเสีย
ทุกวันนี้ในอังกฤษและสหรัฐ พบอาการสายตาสั้นมากขึ้นกว่าเมื่อ 30-40 ปีก่อน โดยเฉลี่ยแล้วเด็กอายุ 5-7 ขวบในอังกฤษมีสายตาสั้นราว 1-2% ชาวอังกฤษที่สายตาสั้นมีอยู่ราว 5 ล้านคน ประมาณ 200,000 ราย มีสายตาสั้นมาก ขณะที่ในบางส่วนของเอเชียนั้นประชากรกว่า 80% มีสายตาสั้น
ดร.ซูซาน เบลกนีย์ ผู้เชี่ยวชาญของวิทยาลัยช่างวัดสายตาในอังกฤษ บอกว่า โดยปกติเด็กจะเกิดมาพร้อมกับสายตายาว เมื่อโตขึ้นสายตาก็จะยาวน้อยลง เมื่อหยุดเติบโตสายตาควรเป็นปกติ ถ้าเด็กไม่ได้เกิดมามีสายตายาวมากพอ ต่อไปก็จะสายตาสั้นเมื่อเริ่มเป็นผู้ใหญ่
ข้อมูลจาก :
http://www.vcharkarn.com/varticle/43486