ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
แนะ 18 เทคนิค ปราบ "เด็กดื้อ" อย่างได้ผล
แนะ 18 เทคนิค ปราบ "เด็กดื้อ" อย่างได้ผล ว่ากันว่าเด็กในช่วง 2-12 ปี จะซนและดื้อมากที่สุด พ่อแม่พูดอะไรก็ไม่เชื่อฟัง ไม่ยอมทำตาม ยิ่งถ้าบอกว่า "อย่า" เด็กก็จะยิ่งอยากทำสิ่งนั้นมากขึ้น ยิ่งบังคับมากเท่าใด เด็กก็จะต่อต้าน และอยากเอาชนะมากเท่านั้น

ในเรื่องนี้ ผศ.นพ.ปราโมทย์ สุคนิชย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ ให้ข้อมูลว่า การที่เด็กดื้อ หรือซนเกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่นที่ตัวของเด็กเอง เพราะเด็กที่เกิดมาแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ต่างมีพื้นฐานทางด้านอารมณ์ที่แตกต่างกันไปด้วย คือว่าตามลักษณะธรรมชาติของเด็กบางคนอาจจะมีจังหวะจะโคนของตัวเอง พื้นฐานโดยทั่วไปก็จะแตกต่างกัน แต่เด็กที่ดื้อจะมีลักษณะที่เลี้ยงยากสักหน่อย มักมีอารมณ์ที่หุนหันพลันแล่น ไวต่อสิ่งเร้า มีการกินการนอนที่ไม่เป็นเวลา ซึ่งตรงนี้แต่ละคนก็จะมีพื้นฐานทางด้านอารมณ์ของตัวเองอยู่

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ "เด็กดื้อ" จิตแพทย์ท่านนี้บอกว่า เป็นเรื่องของวัย เพราะโดยปกติแล้ว ในช่วง 1-3 ปี เด็กจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เมื่อเขาสามารถก้าวเดินได้ เป็นธรรมดาที่จะต้องอยากทำนู้นทำนี่ สำรวจไปทั่ว เพราะเขายังไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่าสิ่งแวดล้อมที่เขาเห็นอยู่นั้นคืออะไร และเด็กๆในวัยนี้มักจะคิดว่าตัวเองสำคัญที่สุด ถ้าหากว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจัดการไม่ถูกต้อง อาจจะส่งผลทำให้เด็กดื้อต่อเนื่องยาวนานถึงระดับอนุบาลหรือประถมศึกษาได้

ทั้งนี้ ผศ.นพ.ปราโมทย์ ให้ข้อแนะนำสำหรับผู้ปกครองในการช่วยแปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและช่วยทำให้เด็กเชื่อฟังมากขึ้นด้วยวิธีการ "ทำดีมีรางวัล" โดยการตั้งกฎและให้คะแนนกับเด็กเพื่อนำไปสู่การให้รางวัล ซึ่งมี 18 วิธี ดังนี้ 
 
  1. แนะนำโปรแกรมในแง่บวก เช่น ควรบอกเด็กว่า อยากช่วยให้เขาทำงานได้ทัน ไม่ต้องถูกว่าหรือบ่น เป็นต้น
  2. ทำรายการสิ่งที่เขาต้องปฏิบัติ ไม่ให้ยาวเกินไป ไม่จุกจิกเกินไป
  3. ทำรายการรางวัลให้เยอะเข้าไว้ (มากกว่า 15 รางวัล) เช่น ดูหนัง เล่นเกมส์ ดูโทรทัศน์ ให้เขามีโอกาสได้รางวัลทันทีจากสิ่งในชีวิตประจำวัน และควรรวมการเพิ่มค่าขนมให้เด็กไว้ในรางวัลเสมอ
  4. ให้เด็กมีสิทธิได้รับเกือบทุกวัน อย่างน้อย 1 ใน 3 ของรางวัลที่ตั้ง
  5. ใช้เหรียญรางวัลหรือนับคะแนนดี หากเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ ไม่ควรใช้วิธีสะสมนี้ เด็กอายุ 4-7 ปี ให้สะสมเหรียญแทนคะแนน ส่วนเด็กอายุ 7 ปี ขึ้นไป ให้เก็บสะสมแต้มลงสมุดเหมือนเงินฝากดีกว่า
  6. ให้เหรียญหรือแต้มเท่าไหร่ดี สำหรับเด็กอายุ 4-6 ปี ควรให้ 1-5 เหรียญต่อรายการพฤติกรรม ส่วนสำหรับเด็กอายุ 7-10 ปี ใช้ 5-25 เหรียญหรือคะแนนต่อรายการ และสำหรับเด็กที่มีอายุมากกว่า 10 ปี ให้ 10 - 200 เหรียญ แต่อย่าจริงจังกับจำนวนเหรียญแต่ละครั้งเกินไป
  7. รายการที่เป็นกิจวัตร ควรได้ทำทุกวัน รายการประจำวันควรได้รางวัล 2 ใน 3 ของรางวัลทั้งวัน ส่วนที่เหลืออีก 1 ใน 3 อาจมาจากรายการพิเศษ เช่น หากคะแนนเต็ม 30 คะแนนต่อวัน ควรได้ 20 คะแนนจากงานประจำ และสามารถแลกรางวัลในชีวิตประจำวันได้ เช่น ได้ดูโทรทัศน์เพิ่ม ส่วนอีก 10 คะแนนที่เหลือ ค่อยมาช่วยคำนวณว่ากว่าจะได้รางวัลใหญ่จะใช้เวลาเท่าใด
  8. ให้โบนัส ถ้าตั้งใจดี ใส่ลงในข้อสุดท้ายของรายการตัวโตๆ ว่า "ตั้งใจและพยายาม" และ "โบนัส" ของเด็กว่า ไม่ใช่แค่ทำเสร็จให้ได้รางวัล แต่ถ้าพยายามและตั้งใจด้วย ผลงานดี ไม่บ่น ก็มีรางวัลพิเศษให้ด้วยการเพิ่มเหรียญตามแต่ที่พ่อแม่เห็นสมควร ช่วยให้ทั้งพ่อแม่และเด็กเห็นความสำคัญกับความพยายามและความตั้งใจ นอกไปจากความสำเร็จ
  9. เด็กมีโอกาสแลกรางวัลประจำ จะทำให้เด็กอยากได้ อยากทำ
  10. ให้เหรียญต่อเมื่อไม่ต้องเตือนซ้ำซาก พูดครั้งแรกก็ทำ แต่ถ้าต้องเตือนซ้ำก็อดได้ ถ้าเขาไม่ทำเลย เขาไม่มีโอกาสได้รางวัลในสัปดาห์แรก แต่ถ้าเฉยในสัปดาห์ที่ 2 เขาจะถูกปรับ
  11. ให้เหรียญเมื่อทำดีได้ไม่อั้น เมื่อไรที่เด็กทำดี แม้จะไม่มีปรากฏในรายการ โดยเฉพาะเมื่อเด็กอาสาทำเอง พ่อแม่ควรฉวยโอกาสทำเป็นเรื่องใหญ่ ให้รางวัลทันที
  12. พยายามงดการปรับในช่วงสัปดาห์แรกๆ ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อพ่อแม่เห็นว่าการให้รางวัลล่อใจเด็กมากเกินไปแล้วเด็กไม่ทำตาม จึงแก้ปัญหาด้วยการขู่หรือปรับเด็ก ซึ่งไม่ควรทำเพราะเด็กจะรู้สึกว่าโปรแกรมนี้เป็นการลงโทษมากกว่า
  13. เมื่อต้องปรับให้ใช้กฎ 2:1 หลังจากสัปดาห์แรกไปแล้ว พ่อแม่จะเริ่มปรับหากเด็กไม่ทำตามที่บอก ซึ่งควรเริ่มดังนี้ เมื่อหลังจากพ่อแม่พูดแล้ว 10 วินาที หากเด็กยังไม่มีท่าทีขยับจะทำ ก็จะถูกเตือนว่าจะอดได้เหรียญ และหากต้องสั่งครั้งที่สอง จะถูกปรับเหรียญจากบัญชีสะสมของเขา และหากต้องสั่งครั้งที่สามก็ควรแยกเด็กออกไปอยู่ในมุมสงบ ไม่มีสิ่งกระตุ้น (time-out) เมื่อเริ่มลงโทษปรับ พ่อแม่ควรใช้กฎ 2:1 คือ เหรียญรางวัลที่เด็กจะได้จากการทำดีควรเป็น 2 เท่า ของที่ถูกปรับไปใน 24 ชั่วโมง ถัดมา ทั้งนี้เพื่อคงแรงจูงใจกับเด็ก ให้เด็กเห็นว่าเราอยากให้เขาทำดี มากกว่าการลงโทษเมื่อผิด
  14. พ่อแม่ควรระวังการเข้าสู่วังวนของการลงโทษ ซึ่งมักต่อเนื่องจากเมื่อพ่อแม่เริ่มลงโทษปรับ เด็กจะโกรธต่อต้าน พ่อแม่ควรลงโทษปรับเพียง 2 ครั้ง ถ้ามีกิริยาไม่ดี ก็เพิกเฉย แล้วส่งเด็กไป time-out แทน
  15. พ่อแม่ควรมีจำนวนเหรียญรางวัลต่ำสุดในแต่ละวัน เนื่องจากพ่อแม่บางคน "หวง" รางวัลเกินไป และยังกระตุ้นให้พ่อแม่คอยมองหาพฤติกรรมดีๆ ของเด็กอยู่เรื่อยๆ ด้วย
  16. ถ้าไม่ได้หรือไม่มีสิทธิ์ได้ คือ เมื่อเด็กได้เหรียญสะสมไม่ถึงขั้นที่จะได้ของหรืออภิสิทธิ์บางอย่าง ก็ไม่ควรให้ แม้จะอาละวาดเพียงใด หรือต่อรองเพียงใด พยายามรักษาระบบไว้
  17. ปรับปรุงรายการรางวัลทุก 2-3 สัปดาห์ โดยเฉพาะถ้าเห็นว่ารางวัลบางอย่างไม่ได้รับความสนใจจากเด็กเลย ควรหาสิ่งใหม่ที่จูงใจกว่ามาใส่แทน
  18. เก็บสะสมคะแนนเพื่อออกจากระบบโปรแกรมนี้ พ่อแม่ควรใช้ระบบสะสมรางวัลอย่างเคร่งครัดอยู่ 6-8 สัปดาห์ ถ้าทำได้ดีจริง เด็กจะเริ่มเคยชินกับการปฏิบัติตัวเหล่านี้ เราอาจเริ่มถอนรายการพฤติกรรมบางอย่างออก โดยชมเขาว่าที่ผ่านมาเขาทำดีมาก แต่เรายังจะสังเกตเขาอยู่ห่างๆ และเพื่อดึงแรงจูงใจของเด็กไว้ ภายในหนึ่งปี พ่อแม่ควรปรับปรุงโปรแกรมทั้งรายการพฤติกรรม และรางวัลหลายๆ ครั้ง

ทั้งหมดเป็นเคล็ดลับการช่วยให้ระบบทำดีมีรางวัล ได้ผลยิ่งขึ้น ซึ่งก็คงเหมือนการปรุงอาหาร แต่ละบ้านคงมีวิธีปรุงให้รสชาติถูกปากสมาชิกครอบครัวต่างๆ กันไป ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยเด็กได้จริง เชื่อว่าจากเด็กที่ซุกซนไม่เชื่อฟังจะกลายเป็นเด็กน่ารักยอมเชื่อฟังและอยู่ในกฎกติกาขึ้นอีกเป็นกอง
  
ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000117644
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง