เล่นกับลูกให้บ่อยๆ ลูกจะฉลาดกว่าจริงเหรอ การเล่นกับลูกตั้งแต่ลูกยังเป็นแค่ทารกแรก เกิดจนถึงอายุ 3 ขวบนั้น สามารถทำให้ลูกของเรามีพัฒนาการทางด้านสมอง ร่างกาย และจิตใจดีกว่าเด็กคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เล่นกับพ่อแม่ ซึ่งการเล่นกับลูกนั้น ไม่จำเป็นต้องมีของเล่นราคาแพงๆ ใดๆ เลย แค่การร้องเพลง การ เต้นระบำ การนอนซบ พูดคุย ดอมดม ฯลฯ กับลูกบ่อยๆ ลูกของเราก็จะโตขึ้นเป็นเด็กที่อารมย์ดี ฉลาดกว่า และมีพัฒนาการในทุกๆ ด้านที่ดีกว่าเด็กทั่วๆ ไปได้
เล่นกับลูกแล้วลูกฉลาดขึ้นได้อย่างไร
พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจเรื่องการทำงานของสมองของลูกก่อนนะค่ะ ในช่วงที่ลูกของเรายังเป็นทารกแรกเกิด - 3 ขวบนั้น ระบบต่างๆ ในร่างกายของลูกจะมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดมากกว่าเด็กที่มีอายุมากกว่า 3 ขวบขึ้นไป โดยเฉพาะสมอง ซึ่งจะสร้างเซลล์ประสาทได้มากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับสมองของผู้ใหญ่ ซึ่งเซลล์ประสาทเหล่านี้จะเชื่อมต่อถึงกันอย่างแนบแน่นถาวร โดยจะมีผลต่อการควบคุมการเต้นของหัวใจ การหายใจ ปฏิกิริยาอัตโนมัติต่างๆ รวมถึงประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ ซึ่งเซลล์ประสาทเหล่านี้จะมีการเชื่อมต่อกันได้ผ่านการเรียนรู้ การปฏิบัติซ้ำๆ และการกระตุ้นต่างๆ จากผู้เลี้ยงดู ดังนั้นหากในช่วงแรกเกิดจนถึง 3 ขวบ ลูกของเราได้รับ การพัฒนาและเรียนรู้อย่างถูกต้องผ่านการทำซ้ำ หรือการเล่นที่ถูกต้อง (เน้นกระตุ้นประสาทสัมผัสของลูก) จะทำให้เซลล์ประสาทมีการพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว
แล้วถ้าเราไม่ค่อยได้เล่นกับลูก จะมีผลกระทบอย่างไร
ยกตัวอย่างระหว่างการเลี้ยงเด็กที่พ่อแม่พูดคุยกับลูกอยู่เสมอ อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่เล็กๆ เมื่อเทียบกับเด็กที่พ่อแม่ไม่ค่อยพูดกับลูก ไม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง เซลล์ประสาทในด้านการรับรู้ด้านภาษาของเด็ก 2 คนนี้ เมื่อโตขึ้นจะแตกต่างกัน เด็กที่เติบโตมาโดยที่พ่อแม่พูดคุยกับลูกอยู่เสมอ จะสามารถใช้ทักษะทางด้านภาษาได้ดีกว่า หรืออีกกรณี เด็กที่เติบโตมาโดยมีคนเล่นด้วยอยู่เสมอ กับเด็กที่ไม่ค่อยได้เล่นกับใคร เมื่อเติบโตขึ้นมา เด็กที่เล่นกับคนอื่นอยู่เสมอๆ จะสามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ง่ายกว่า
เล่นกับลูกอย่างไรถึงจะดี
วิธีที่ดีที่สุดที่จะพัฒนาเซลล์ประสาทในสมองของลูก คือการให้ในสิ่งที่ลูกต้องการในแต่ละช่วงอายุ ควรเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่จิตใจที่อ่อนโยนของพ่อแม่และผู้เลี้ยงดู สภาพแวดล้อมต่างๆ ที่อบอุ่นและปลอดภัย การเล่นกับ ลูกที่ใส่ใจและเฝ้าสังเกตว่าลูกพร้อมที่จะเล่นหรือยัง (เพราะบางครั้งลูกก็เหนื่อยเกินไปที่จะเล่นแล้ว) โดยอาจจะสังเกตจากอาการตอบรับของลูก เช่น
- การพูดอ้อแอ้ตอบกลับของลูก
- การจ้องมองของลูกกลับมาที่ตัวเราหรือของเล่นนั้นๆ
- การหัวเราะ, การยิ้ม ของลูก เวลาที่เราเล่นกับเขา (หากลูกรู้สึกสนุก รู้สึกชอบ ลูกจะยิ้ม จะหัวเราะ)
- การหันมอง หันหน้ามองตาม สิ่งของที่เคลื่อนไหว (หากลูกไม่สนใจการเคลื่อนไหวของสิ่งของนั้นๆ แล้ว แสดงว่าลูกอาจจะเหนื่อย ควรให้ลูกได้นอนพัก)
ข้อมูลจาก :
http://www.babytrick.com