ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
รับมือ “ลูกถูกเพื่อนแกล้ง” ที่โรงเรียน
รับมือ “ลูกถูกเพื่อนแกล้ง” ที่โรงเรียน ลูกกลับจากโรงเรียนถูกเพื่อนแกล้ง...ชกตาบวมปูด...มีรอยหยิกตามตัว...รอยกัดที่หน้า...ของใช้ส่วนตัว ยางลบดินสอหายเป็นประจำ ฯลฯ

นับเป็นเรื่องที่พ่อแม่เกือบทุกคนล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์ดังกล่าวเมื่อลูกถึงวัยเข้าโรงเรียน เช่นเดียวกับสมัยที่พ่อแม่ยังเป็นเด็กย่อมเคยถูกเพื่อนแกล้งหรือแกล้งเพื่อนมาบ้างไม่มากก็น้อย

ปัญหาเด็กทะเลาะกัน แกล้งกันไปแกล้งกันมา แม้ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในธรรมชาติของเด็กที่อาจมีความจำกัดในการสื่อสาร การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่รู้วิธีการชวนเพื่อนเล่น ไม่สามารถประเมินการใช้กำลังการออกแรงของตนได้ จึงทำให้ดูเหมือนว่าเด็กบางคนชอบแกล้งเพื่อนหรือชอบเล่นกับเพื่อนแรง ๆ 

อย่างไรก็ตามปัญหาที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องธรรมดาของเด็ก ๆ นั้นหากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องเพิกเฉยหรือจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างผิด ๆ แล้ว จากปัญหาเด็กทะเลาะกัน แกล้งกัน ธรรมดาอาจพัฒนากลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สะเทือนขวัญในสังคมก็เป็นได้

ดังตัวอย่างไม่นานมานี้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกานักศึกษาชาวเกาหลีใต้บุกเข้ากราดยิงเพื่อนและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเสียชีวิตจำนวนมาก สืบพบสาเหตุเบื้องหลังมาจากนักศึกษาชาวเกาหลีคนนี้ถูกเพื่อนแกล้งมาตั้งแต่เด็ก ๆ โดยไม่มีใครช่วย จึงได้แต่เก็บกดกลายเป็นความคับแค้นใจและระเบิดออกมาเป็นเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่ดังกล่าว 

จากข้อมูลผลสำรวจพฤติกรรมรังแกกันในโรงเรียนของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่มีปัญหานี้เช่นกัน พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ที่มีสัดส่วนนักเรียนถูกรังแกถึงร้อยละ 40 รองจากประเทศญี่ปุ่นที่มีนักเรียนถึงร้อยละ 60 ถูกเพื่อนรังแก ผลระยะยาวที่เกิดขึ้น คือ หากเด็กที่ถูกรังแกบ่อย ๆ แล้วไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาย่อมเสี่ยงต่อการเติบโตมาด้วยภาวะซึมเศร้าในอนาคต หรือถูกกดดันจนถึงกับฆ่าตัวตายซึ่งพบมากในประเทศญี่ปุ่นและอังกฤษ ฝ่ายเด็กที่ชอบไปรังแกคนอื่นหากไม่มีผู้ใหญ่เข้าไปอบรมสั่งสอนหรือมีแต่ให้ท้ายแล้วเด็กในกลุ่มนี้มีแนวโน้มเติบโตมาด้วยการเคยชินกับการใช้ความรุนแรงกับครอบครัว คนรอบข้าง กลายเป็นอันธพาลไม่มีใครอยากคบหา เป็นที่รังเกียจของคนในสังคม 

ปัญหาเรื่องการทะเลาะเบาะแว้ง กลั่นแกล้งกันในโรงเรียน จึงไม่เป็นเพียงปัญหาเล็กน้อยอีกต่อไปแต่เป็น “ราก” หรือมูลเหตุของปัญหาการใช้ความรุนแรงที่ถูกบ่มเพาะรอวันเกิดดอกออกผลในอนาคต พ่อแม่จึงควรเรียนรู้หาวิธีการรับมือที่ถูกต้องกับปัญหาดังกล่าวอย่างถูกต้องเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม 

ทำอย่างไรเมื่อลูกถูกเพื่อนที่โรงเรียนแกล้ง
เมื่อลูกถูกเพื่อนแกล้งหรือรังแก พ่อแม่ร้อยทั้งร้อยไม่สามารถอยู่เฉยหรือนิ่งนอนใจได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามพ่อแม่ส่วนใหญ่อาจไม่ทราบว่าหากเกิดปัญหาดังกล่าวแล้วเราควรช่วยลูกอย่างไร โดยมากมักโต้ตอบด้วยอารมณ์รู้สึกเจ็บไปกับลูกด้วย จึงมักสอนให้ลูกตอบโต้แบบตาแทนตา ฟันแทนฟัน ตัวอย่างเช่น สอนให้ลูกชกเพื่อนคนนั้นกลับหากถูกรังแก หรือวันรุ่งขึ้นให้ไปแก้แค้นชกเพื่อนคนนั้นเลยอย่างไม่ทันให้เขาตั้งตัว เพื่อไม่ให้ใครกล้ามารังแกอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กผู้ชายที่พ่อแม่มักอ้างว่าต้องมีความเข้มแข็งห้ามอ่อนแอ ต้องสู้ ตอบโต้กลับไม่ให้ใครมารังแกเราได้ 

ไม่เพียงเท่านี้พ่อแม่บางคนรักลูกมากเมื่อเห็นลูกถูกเพื่อนแกล้งต่อหน้าต่อตาถึงกับอดรนทนไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือลูกและแก้แค้นแทนเด็กที่มาทำร้ายลูกของตน 

ดังตัวอย่างที่เห็นจากหน้าหนังสือพิมพ์ไม่นานมานี้ที่พ่อเห็นลูกถูกเพื่อนผู้หญิงชกเนื่องจากแย่งของเล่นกัน ผู้เป็นพ่อถึงกับปรี่เข้าไปกระโดดถีบและกระทืบเด็กหญิงคนที่มาชกลูกของตนอาการปางตายเนื่องจากเจ็บแค้นแทนลูก 

การตอบสนองอย่างสะใจในอารมณ์ด้วยการแก้แค้นให้สาแก่ใจเช่นนี้ไม่เพียงแต่พ่อคนดังกล่าวจะต้องไปรับโทษในคุกตามระเบียบแล้ว สิ่งที่พ่อได้หว่านและตกค้างลงไปในใจของลูกนั้นน่ากลัวยิ่งกว่าเพราะนั่นคือพ่อกำลังสอนลูกว่าเมื่อเกิดปัญหา ความขัดแย้งขึ้น วิธีการแก้ไขคือ “การใช้ความรุนแรง” เท่านั้นอันเป็นการบ่มเพาะให้ลูกเป็นยุวอาชญากรตามมาในอนาคต
ดังนั้นพ่อแม่จึงควรระมัดระวังและตั้งสติให้ดีในปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อลูกถูกเพื่อนแกล้งหรือรังแกจากที่โรงเรียน อย่าเพิ่งให้อารมณ์โกรธนำหน้าไปก่อนหรือเอาแต่จะแก้แค้นแทนลูกอย่างเดียว แต่สิ่งที่พ่อแม่ควรทำได้แก่

สอบถามลูกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 
ว่าเหตุการณ์เป็นไปอย่างไร ลูกกำลังทำอะไรอยู่ ใครเป็นคนเริ่มต้นก่อน แล้วลูกตอบโต้อย่างไร เพื่อนที่มารังแกพูดจาหรือตอบโต้กลับอย่างไร ฯลฯ เพราะบางครั้งสิ่งที่ลูกมาฟ้องว่าถูกเพื่อนแกล้งนั้นอาจไม่ได้เป็นความจริงทั้งหมดก็ได้ ลูกอาจเป็นคนเริ่มก่อน รังแกเพื่อนก่อนก็ได้ พ่อแม่จึงควรฟังหูไว้หู สอบถามเหตุการณ์อย่างรอบคอบเสียก่อนแล้วจึงค่อยชี้แนะลูกถึงวิธีการรับมือ โดยอาจไปสอบถามคุณครูหรือเพื่อน ๆ ของลูกที่เห็นเหตุการณ์ว่าเป็นอย่างไรเพื่อสามารถช่วยเหลือแนะนำลูกได้อย่างตรงจุดจริง ๆ 

อย่างไรก็ตามพ่อแม่ต้องคอยสังเกตถึงความผิดปกติของลูกด้วย เช่น มีรอยฟกช้ำ เลือดออก ตามร่างกายหรือไม่ ของหายเป็นประจำหรือไม่ ลูกผอมลงและบ่นหิวเสมอ ทั้ง ๆ ที่ได้เงินค่าขนมไปโรงเรียนอย่างเพียงพอ ฯลฯ เพราะในบางกรณีเด็กบางคนเมื่อถูกเพื่อนแกล้งไม่กล้าบอกพ่อแม่เพราะอาจถูกเพื่อนขู่หรือกลัวว่าพ่อแม่จะหาว่าตนอ่อนแอยอมให้เพื่อนแกล้งแล้วมาทำโทษตนต่ออีกซ้ำสอง 


สอนลูกถึงวิธีการตอบสนองที่ถูกต้อง

ลูกมักเลียนแบบอย่างการตอบสนองของพ่อแม่ พ่อแม่ทำอย่างไรชี้แนะลูกอย่างไรลูกมักเชื่อฟังและยึดเอาคำสอนของพ่อแม่เป็นหลักในการตอบสนองต่อปัญหาต่าง ๆ พ่อแม่จึงควรตระหนักว่าสิ่งที่ท่านสอนนั้นมีผลต่อชีวิตของลูกในระยะยาวแน่นอน ดังนั้นก่อนจะแนะนำสั่งสอนจึงควรตั้งสติ คิดไตร่ตรองให้ดีด้วยความระมัดระวัง 

ในขั้นแรกพ่อแม่ควรสอนให้ลูกคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน ไม่ควรช่วยเหลือหรือเสนอแนวทางทันทีแต่ฝึกให้ลูกรู้จักคิดเพื่อรับมือกับปัญหาอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน เพราะเราไม่ได้อยู่กับลูกและคอยช่วยเหลือลูกได้ตลอดเวลา หลังจากฟังแนวทางการแก้ปัญหาของลูกแล้วจึงค่อยชี้แจงถึงผลดีผลเสียของการตอบสนองแบบต่าง ๆ พร้อมเสนอแนะว่าการตอบสนองที่ชาญฉลาดโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงนั้นเป็นอย่างไรพร้อมยกตัวอย่างในภาคปฏิบัติจริงให้ลูกได้นำไปใช้ เช่น เดินหนี ไม่สนใจ บอกตรง ๆ ว่าไม่ชอบ หากทำอีกจะฟ้องครู ฯลฯ โดยติดตามผลลูกเป็นระยะว่าลูกสามารถจัดการปัญหาได้อย่างประสบผลสำเร็จหรือไม่ หากเพื่อนที่ชอบแกล้งยังคงตามรังควานไม่เลิกรา หรือครูที่โรงเรียนไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ พ่อแม่อาจต้องไปพบคุณครูของลูกที่โรงเรียนเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ไปทำความรู้จักกับเพื่อนของลูกคนนั้นพูดคุยสังเกตพฤติกรรม พร้อมร่วมมือกับครูในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น 

ในกรณีที่พ่อแม่พบว่าลูกถูกแย่งของเล่นต่อหน้าต่อตา พ่อแม่สามารถเข้าไปสอนในเรื่องสิทธิและการแบ่งปัน ว่าของนี้เพื่อนกำลังเล่นอยู่ ไปแย่งจากมือไม่ได้ให้ไปเล่นของเล่นชิ้นอื่นก่อน ให้คืนเพื่อนไป และเมื่อลูกเล่นเสร็จแล้วควรแบ่งปันให้เพื่อนเล่นบ้าง รวมทั้งสอนทั้งคู่ไม่ให้แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง


ทำอย่างไรเมื่อลูกไปแกล้งเพื่อนที่โรงเรียน
ในทางกลับกันหากลูกของเรามีพฤติกรรมชอบไปแกล้งเพื่อนที่โรงเรียน พ่อแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจโดยคิดอย่างภาคภูมิใจว่าดีแล้วที่ลูกของเราจะได้ไม่ถูกแกล้ง ถูกเอาเปรียบ ลูกของเราเอาตัวรอดได้ โดยหารู้ไม่ว่าความคิดดังกล่าวแท้จริงแล้วเป็นการทำร้ายและทำลายอนาคตของลูกให้ย่อยยับไปกับมือของพ่อแม่เอง พ่อแม่จึงควรเฝ้าสังเกตว่าลูกของเรามีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงหรือไม่ ชอบหยิบของของเพื่อนมาเป็นของตัวเองหรือไม่ ครูที่โรงเรียนฟ้องมาบ่อย ๆ หรือไม่ ฯลฯ โดยอาจย้อนมาพิจารณาถึงการเลี้ยงดูของเราว่าเป็นแบบอย่างในการใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาหรือไม่ เราไม่ได้ควบคุมลูกในการรับสื่อที่รุนแรงต่าง ๆ หน้าจอทีวี เกมคอมพิวเตอร์ หรือไม่ ลูกมีปัญหาทางพฤติกรรมที่ต้องปรึกษาจิตแพทย์หรือไม่ ฯลฯ เพื่อสามารถช่วยเหลือลูกได้อย่างทันท่วงที ไม่กลายเป็นอันธพาล เกเร นักเลงหัวไม้ หรืออาชญากรในสังคมต่อไปในอนาคต 

นอกจากนี้พ่อแม่ควรเข้าใจว่าเด็ก ๆ นั้นยังไม่รู้ว่าจะไปสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนอย่างไร จะไปขอเพื่อน ๆ เล่นด้วยควรทำอย่างไร หรือการยับยั้งพลังของตัวเองในระดับที่ไม่ไปทำร้ายคนอื่น หรือทำให้เพื่อน ๆ เจ็บนั้นควรอยู่ในระดับใด พ่อแม่จึงควรสอนลูกในเรื่องทักษะสังคมควบคู่ไปด้วยและอาจพาลูกไปออกกำลังกายว่ายน้ำ วิ่ง ฯลฯ เพื่อให้ได้ใช้พลังที่มีอยู่ในตัวอย่างเหลือเฟือออกไปอันเป็นการลดความตึงเครียดของเด็กได้ดีในระดับหนึ่งแทนที่จะไประบายกับเพื่อนที่โรงเรียน 


ร่วมด้วยช่วยกันกับโรงเรียน

ในเมื่อลูกใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนมากกว่าอยู่ที่บ้าน คุณครูจึงเป็นผู้ที่ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วยเต็ม ๆ อย่างไม่สามารถปฏิเสธหรือบ่ายเบี่ยงได้ อย่างไรก็ตามจากผลสำรวจพบว่าครูส่วนใหญ่เคยเห็นพฤติกรรมรังแกเพื่อน แต่เมื่อถามว่าได้พยายามห้ามหรือหยุดการกระทำเช่นนั้นหรือไม่คุณครูที่ถูกสัมภาษณ์กว่าครึ่งตอบว่าช่วยเหลือ “ค่อนข้างน้อย” หรือ “แทบจะไม่เคยทำอะไร” เพื่อหยุดการรังแก 

ดังนั้นพ่อแม่จึงควรรวมตัวเป็นเครือข่ายผู้ปกครองในการผลักดันโรงเรียนให้เห็นความสำคัญในปัญหาดังกล่าวพร้อมมีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนในการลดปัญหาการใช้ความรุนแรงของเด็กนักเรียน การแกล้งกันหรือรังแกกัน ซึ่งส่งผลรุนแรงในระยะยาวกลายเป็นปัญหาสังคมได้ในที่สุด 

เมื่อถึงเวลาที่ลูกของเราต้องออกจากอ้อมอกของพ่อแม่ไปเผชิญโลกอันกว้างใหญ่ใบนี้ด้วยตนเอง พ่อแม่ทุกคนย่อมรู้สึกห่วงใยไม่อยากให้ลูกต้องได้รับความทุกข์ยากหรือความเจ็บปวดในชีวิต การยื่นมือเข้าปกป้องช่วยเหลือในยามที่ลูกยากลำบาก ถูกกลั่นแกล้ง ถูกรังแก เป็นสิ่งที่พ่อแม่พร้อมยืนเคียงข้างลูก อย่างไรก็ตามพ่อแม่ควรตระหนักอยู่เสมอว่าสองมือที่เราคิดไปเองว่าเป็นมือแห่งการปกป้องช่วยเหลือนั้นแท้จริงแล้วอาจเป็นมือที่ไปทำร้ายและทำลายทั้งชีวิตลูกของเราก็เป็นได้ 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
  
ข้อมูลจาก : M&C นิตยสารแม่และเด็ก
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นอนท่าไหน มดลูกเข้าอู่เร็ว
นอนท่าไหน มดลูกเข้าอู่เร็ว
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ