5 กลวิธีสร้างเด็กรักการอ่านในยุคติดเกม/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ดิฉันเพิ่งตัดสินใจซื้อเกม Play Station ให้ลูกชายทั้งสองคนตามที่รับปากไว้ หลังจากโดนลูกทวงมายาวนานหลายปี แม้จะพยายามหาลูกเล่นสารพัดเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจและประวิงเวลาไปก่อน แต่สุดท้ายก็ต้องยอมซื้อจนได้ เพราะเห็นว่าเขาอยู่ระดับมัธยมต้นแล้ว
ทั้งสองคนตื่นเต้นมากแม้จะเป็นเกมเวอร์ชั่นเก่า แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายที่แม่ยอมรับให้เกมเข้ามาอยู่ในบ้าน
ดิฉันไม่ใช่คนรังเกียจเกม เพียงแต่อยากให้เขาได้ทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย ถ้าไม่มีเกม เขาก็เล่นกิจกรรมอื่นๆ ออกไปเตะฟุตบอล หรือหากิจกรรมอื่นๆ ทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ หรืออ่านหนังสือ และถ้าอยากเล่นเกมก็จะขอไปเล่นบ้านเพื่อน จนอยากจะมีเป็นของตัวเองบ้าง
เขาทั้งสองพยายามหาทางต่อรอง หรือปรับพฤติกรรมบางอย่างเพียงเพื่อให้แม่ยอมรับข้อเสนอซื้อเกมให้สักที จนสำเร็จจนได้
แต่เมื่อมีเกมในบ้านแล้ว ก็ต้องมีกฎในบ้านด้วย…
ดิฉันตั้งกฏในบ้านอนุญาตให้เล่นเกมทั้งสองคนรวมกันวันละหนึ่งชั่วโมง ถ้าอยากเล่นมากกว่านั้นก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องอ่านหนังสือเท่าจำนวนเวลาที่เล่นเกม เช่น ถ้าเล่นเกินหนึ่งชั่วโมงไปเป็นสองชั่วโมง ก็ต้องอ่านหนังสือ 1 ชั่วโมงด้วย จะเป็นหนังสืออะไรก็ได้ และงดเล่นในช่วงใกล้สอบ
ฉะนั้น ถ้าอยากเล่นเกมเท่าไร ก็บริหารเวลาสำหรับการอ่านหนังสือจำนวนเวลาเท่านั้นด้วย
ทั้งสองคนก็ยอมรับกติกาโดยดี มีการบริหารจัดการด้วยการตกลงกันก่อนว่าวันนี้จะเล่นกี่ชั่วโมง แล้วเผื่อเวลาสำหรับอ่านหนังสือกี่ชั่วโมง โดยไม่มีการเก็บสะสมไปวันอื่น เล่นเกมวันไหนอ่านวันนั้น
ทีแรกก็คิดว่าเขาจะอิดออด เขาบอกว่าทำไมเพื่อนเล่นเกมทั้งวันบางทีเล่นทั้งคืนด้วย ไม่เห็นเป็นอะไรเลย
ทำให้เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าเพราะเหตุใด และยกตัวอย่างให้เขาเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้เด็กติดเกมกันง่าย และไม่ค่อยอ่านหนังสือ พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกห่างเรื่องหนังสือ ในเมื่อลูกมีต้นทุนเรื่องการอ่านมาตั้งแต่เด็กเล็กๆ แต่เมื่อโตขึ้น ในยุคปัจจุบันมีเทคโนโลยีสื่อสารเข้ามามากมาย ที่มายั่วยวนใจทำให้เด็กๆ ไม่ค่อยอ่านหนังสือ แต่หันไปใช้เทคโนโลยีกันหมด
เมื่อเขาสองคนฟังเหตุผลของพ่อแม่ที่ชักแม่น้ำทั้งห้า ก็ยอมตกลงแต่โดยดี และก็ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะเห็นเขาพูดคุยและตกลงกันก่อนว่าวันนั้นจะเอาอย่างไร จะเล่นนานแค่ไหน และจะอ่านหนังสือช่วงไหน ซึ่งก็ดำเนินไปด้วยดี
ท่ามกลางโลกเทคโนโลยีที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ อย่างไรลูกของเราก็ต้องโตขึ้นไปในโลกยุคนี้ แล้วถ้าเราอยากให้ลูกรักการอ่านท่ามกลางโลกเทคโนโลยีทะลักเข้าบ้านด้วยจะทำอย่างไร
หนึ่ง - ต้องกำหนดเวลาอ่านในบ้าน เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะเท่ากับเป็นการสร้างวินัยเรื่องการอ่านให้กับเขา ถ้าพ่อแม่ทำมาตั้งแต่เล็กก็จะง่าย แต่ถ้ามาทำตอนโต อาจจะมีอิดออดบ้าง ก็พยายามอดทนแต่ต้องสม่ำเสมอ แล้วจะทำให้เขาติดเป็นนิสัยในภายภาคหน้า อาจจะตั้งว่าเป็นเวลาอ่านหนังสือของครอบครัว พ่อแม่ก็ต้องร่วมมือ ทำเป็นแบบอย่างเพื่อที่เขาจะได้ทำตามด้วย
สอง - ให้อิสระในการเลือกอ่าน เมื่อกำหนดเวลาอ่านแล้ว ก็ควรให้อิสระในการเลือกอ่านหนังสือที่ชอบด้วย ปล่อยให้เด็กมีอิสระในการเลือกหนังสืออ่าน หรือเลือกบางเวลาที่ต้องการอ่าน อยากอ่านที่ไหน อ่านมุมไหน อ่านท่าไหน ก็สุดแท้แต่ เพื่อให้เขารู้สึกเพลิดเพลินกับช่วงเวลาอ่าน
สาม - สังเกตความชอบของลูก เป็นหน้าที่ของพ่อแม่และคนใกล้ชิดที่จะสังเกตเด็กว่าสนใจเรื่องใด และพยายามนำหนังสือประเภทที่ลูกชอบมาให้ลูกได้รู้จักและสัมผัสอย่างสม่ำเสมอ เป็นการเปิดโลกหนังสือให้กับลูก ที่สำคัญต้องเป็นหนังสือที่เด็กชอบ ไม่ใช่หนังสือที่ผู้ใหญ่ชอบ และพยายามอย่าฝืนความรู้สึกลูกเด็ดขาด
สี่ - สร้างบรรยากาศในบ้าน อาจจะมีมุมอ่านหนังสือ แล้วปิดทีวี สร้างบรรยากาศการอ่านในสวนก็ได้ หรือชักชวนให้ลูกอ่านหนังสือให้ฟัง ที่สำคัญถ้าลูกอ่านหนังสือแบบจับจด หรืออ่านไม่จบเล่ม ก็อย่าไปดุว่า เพราะการที่เด็กอ่านหนังสือไม่จบเล่มเป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่เราอาจกระตุ้นในครั้งต่อไปให้เขาอ่านเรื่องเดิมให้จบ
ห้า - แรงจูงใจจากคนในครอบครัว ควรเริ่มต้นชักชวนจากพ่อแม่ เช่น พ่อแม่ต้องอ่านหนังสือให้ลูกเห็นทุกวัน ลูกอาจอยากเล่นเกม ก็ถือโอกาสชวนลูกอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเกมที่ลูกชื่นชอบก็ได้ อ่านเป็นเรื่องราวการ์ตูน หรือเป็นวิธีการเล่นก็สุดแท้แต่ อาจจะใช้คอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ตเป็นแหล่งค้นคว้าของการอ่านไปด้วยก็ได้
ประการสำคัญที่สุด อย่าปฏิเสธถ้าลูกจะขอเล่นเกมบ้าง เพราะเด็กยุคนี้ชื่นชอบการเล่นเกม ในเมื่อเราไม่สามารถห้ามเรื่องการเล่นเกมได้ คนเป็นพ่อแม่ก็ควรหากลยุทธ์ให้เรื่องการอ่านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตทดแทนหนทางใดหนทางหนึ่ง
ต้องไม่ลืมว่า...ไม่มีสูตรสำเร็จที่จะให้ลูกของเรารักการอ่าน แต่คนเป็นพ่อแม่ต้องไม่หยุดหรือย่อท้อที่จะส่งเสริมเรื่องการอ่านให้กับลูก
ขอบคุณภาพประกอบจาก
http://face2011.co.gp
ข้อมูลจาก :
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000085018