ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
เมื่อลูกเริ่ม "โกหก" สอนอย่างไรให้ได้ผล

เมื่อลูกเริ่ม "โกหก" สอนอย่างไรให้ได้ผล หลาย ๆ ครั้งที่จับได้ว่าลูก "โกหก" เชื่อว่ามีพ่อแม่จำนวนหนึ่งกลับมานั่งถามตัวเองว่า การตอบโต้ที่เข้าใจว่าเป็นการสอนนั้นทำไมไม่ได้ผล หรือทำไมยิ่งแย่ลง สาเหตุหนึ่งที่สำคัญคือ ความไม่เข้าใจในสาเหตุ ลักษณะพฤติกรรมของเด็ก รวมถึงไม่ทราบวิธีการจัดการที่ถูกต้องนั่นเอง 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พญ.อังคณา อัญญมณี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ ให้ความรู้ว่า การโกหกของเด็กที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ อาจแสดงว่าลูกรักกำลังมีปัญหา เช่น ปัญหาทางอารมณ์อยู่ก็ได้ และเมื่อโตเป็นวัยรุ่นอาจจะมีพฤติกรรมที่ร่วมกับการโกหกอีกหลายอย่าง ทั้งลักขโมย หลอกลวง ทำลายของสาธารณะ ทำร้ายร่างกายผู้อื่น ถือเป็นเด็กมีปัญหา หรือเด็กเกเร (Conduct Disorder) และอาจเติบโตเป็นอาชญากร (Psychopath) ได้ในที่สุด ซึ่งหากพ่อแม่สังเกตพบ ก็ควรมีสติ และหันมาหาความรู้เพื่อช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เขาดีขึ้น

โดยสาเหตุการโกหกนั้น จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น เผยว่า มีสาเหตุที่ต่างกันขึ้นกับช่วงอายุ ซึ่งอาจแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ในเด็กช่วงอายุ 2-6 ปี อาจพูดไม่จริงได้เนื่องจากความคิดยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เด็กยังไม่สามารถแยกแยะว่าอะไรจริง อะไรคือจินตนาการ

เช่น เด็กอาจบอกว่า "หนูเหาะได้" เพราะอยากจะเป็นอย่างนั้น เด็กที่ถูกแกล้งบ่อย ๆ จนเกิดความกลัวและอยากเอาชนะความกลัว ก็อาจเล่าให้แม่ฟังว่า "วันนี้เพื่อนมาแกล้งผม ผมเลยชกจนหงายหลัง วิ่งหนีไปเลย" ในเด็กบางคนอาจโกหกเพื่อทดสอบว่าพ่อแม่จะรู้หรือไม่ว่าเขาพูดไม่จริง เพราะเด็กมักมองว่าพ่อแม่รู้ทุกอย่างแต่บางครั้งก็ไม่แน่ใจ

เพราะฉะนั้น หากลูกในวัยนี้พูดสิ่งที่เกินความจริงไปบ้าง พ่อแม่ไม่ควรตำหนิ หรือกังวลมากเกินไปเพราะเป็นธรรมชาติของเด็กวัยนี้ สิ่งที่ควรทำคือรับฟังลูกและแก้ไขความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ลูกต่อไป

ส่วนในช่วงของเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป เด็กสามารถแยกแยะความจริงได้แล้ว หากเด็กพูดโกหกอาจมีหลายสาเหตุ ที่พ่อแม่จะต้องทำความเข้าใจ เช่น

1. ลูกอาจโกหกเพื่อหลีกหนีจากสิ่งที่ไม่ต้องการ หรือกลัวว่าจะถูกทำโทษเมื่อทำผิด เช่น ลูกขโมยเงินพ่อแม่เพื่อเอาไปซื้อของเล่นยอดฮิตเหมือนเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนแต่กลัวพ่อแม่จับได้เลยต้องโกหก สำหรับวัยรุ่นปัญหาที่มักจะเจอส่วนใหญ่ก็คือการคบเพื่อน การมีกลุ่มเพื่อนที่อาจจะชักจูงกันไปทำกิจกรรมที่ไม่ค่อยถูกต้อง หรือถูกใจผู้ปกครองมากนัก ก็พยายามหาวิธีการหลบหลีกด้วยการโกหก บ่อยครั้งที่ผู้ปกครองเองก็จับไม่ได้ และบ่อยครั้งที่ผู้ปกครองเองก็จับได้ด้วย ดังนั้นการตำหนิ หรือลงโทษลูก แทนที่พฤติกรรมโกหกจะหายไป กลับยิ่งถูกส่งเสริมให้รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะยิ่งถูกตำหนิยิ่งทำให้สถานการณ์ของปัญหาการโกหกยิ่งแย่ลง เพราะวัยรุ่นจะยิ่งอยู่ห่างจากครอบครัวมากขึ้น

2. การโกหกเพื่อให้ได้รับสิ่งที่ต้องการ เช่น เด็กที่รู้สึกเบื่อเหงา อาจสร้างเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาเล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่จะได้สนใจตนมากขึ้น โกหกว่าปวดหัวเพราะไม่อยากไปโรงเรียน อยากได้ค่าจ้างไปโรงเรียน หรือเด็กที่รู้สึกตนเองไม่เก่งไม่ดีก็อาจเล่าเรื่องโกหกให้ตัวเองดูดี เพราะอยากให้พ่อแม่ชื่นชม

3. เด็กมีความผิดปกติทางด้านจิตเวช เช่น เด็กที่มีปัญหาเรื่องสติปัญญาบกพร่อง มีปัญหาด้านภาษา เด็กที่ป่วยเป็นโรคจิต บางครั้งก็ดูเหมือนว่าจะพูดเรื่องที่ไม่จริงตามความคิดที่เกิดขึ้นในโลกส่วนตัวจากการที่มีสติปัญญาบกพร่องอยู่ หรือเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์เช่น โรคซึมเศร้า อาจจะไม่ได้แสดงออกทางอารมณ์ แต่มาแสดงออกทางพฤติกรรมเช่น พูดโกหก หนีเรียน ลักขโมย เป็นต้น ก็สามารถพบเห็นได้บ่อยทั้งที่บ้าน และโรงเรียน

ทิ้งท้ายนี้ พญ.อังคณา ได้ให้ข้อแนะนำสำหรับพ่อแม่ในการช่วยลูกไม่ให้เป็นเด็กโกหกในอนาคต โดยมีแนวทางง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

1. ควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกอยู่เสมอ เพื่อลูกจะมั่นใจในความรัก และความหวังดีของพ่อแม่ เพื่อเวลาที่ลูกทำผิด หรือ ทำสิ่งไม่ดีลงไป ลูกจะได้กล้าปรึกษาพ่อแม่ ซึ่งจะช่วยไม่ให้ลูกตัดสินใจผิดพลาดจนเกิดผลเสียร้ายแรงตามมา

2. ไม่ควรมีอารมณ์โมโห หรือตำหนิตัวตนของลูกเมื่อทำความผิด แต่ควรจัดการเฉพาะพฤติกรรมที่ผิดเท่านั้น ควรใช้เหตุผลพูดคุยกัน เพื่อลูกจะกล้ายอมรับความจริงในสิ่งที่ตนทำ ควรชื่นชมที่ลูกกล้าสารภาพผิดและแนะนำว่าเขาควรทำอย่างไรต่อไป เพราะการที่ลูกถูกตำหนิและตราหน้าอยู่เรื่อยๆว่าเป็นเด็กไม่ดี จะทำลายความรู้สึกดีที่ลูกมีต่อตนเอง ยิ่งทำให้ลูกมีพฤติกรรมชอบโกหก และบางครั้งพฤติกรรมเหล่านี้ก็อาจรุนแรงมากขึ้นอีก

3. ควรมีความไว้วางใจ ไม่จับผิดหรือระแวงลูกมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกเหมือนเป็นนักโทษ เช่น บางครั้ง ลูกกลับบ้านดึก แม่ก็คอยซักถาม จับผิดว่าลูกไปไหน ไปทำอะไร ซึ่งบางทีลูกอาจจะแค่ไปร้องคาราโอเกะกับเพื่อน แต่การที่พ่อแม่ซักถามเหมือนไม่ไว้ใจลูกและไต่สวนเหมือนเป็นผู้กระทำความผิด เด็กก็อาจจะใช้วิธีการโกหก เพื่อให้พ่อแม่หยุดซักถามหรือหลบหลีกด้วยการโกหก

4. ควรหลีกเลี่ยงการลงโทษที่รุนแรงเมื่อลูกทำผิดหรือจับโกหกได้ เพราะการลงโทษเป็นเพียงการแก้ไขที่ปลายเหตุ ยังมีทางออกที่ดีกว่าวิธีการลงโทษคือ การพูดจาเพื่อทำความเข้าใจถึงเหตุผลบางประการของลูกซึ่งพ่อแม่ต้องมีอารมณ์ที่สงบเพื่อจะรับฟังลูกอย่างจริงใจ

5. เป็นแบบอย่างที่ดี ไม่พูดโกหกให้ลูกเห็น เพราะลูกอาจเลียนแบบจนติดเป็นนิสัย เข้าใจผิดว่าการโกหกเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้

6. พยายามสังเกตว่าลูกมีอาการป่วยทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า ความบกพร่องทางสติปัญญา หรือมีปัญหาเรื่องภาษาหรือไม่ เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้อาจโกหกโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ทำไปเพราะพวกเขาป่วย หากสงสัยว่าลูกมีภาวะดังกล่าวควรพามาพบจิตแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างเหมาะสม

ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000017528
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง