ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
แนะบันได 3 ขั้นรับมือเมื่อ "ลูกติดเล่น"

แนะบันได 3 ขั้นรับมือเมื่อ "ลูกติดเล่น" นิสัย "ติดเล่น" เป็นธรรมชาติของเด็กในช่วงวัยซนที่พ่อแม่รู้ ๆ กันดี แต่ปัญหาจะเกิดทันทีเมื่อลูกไม่ยอมเลิกเมื่อถึงเวลาเลิก เด็กบางคนกระฟัดกระเฟียด ร้องไห้ แสดงความไม่พอใจจนบางครั้งพ่อแม่หลาย ๆ ท่านไม่ไหวที่จะเคลียร์ วันนี้เราจึงมีเทคนิครับมือลูกติดเล่นอย่างสร้างสรรค์มาฝากกันครับ

เกี่ยวกับพฤติกรรมลูกติดเล่นนี้ พญ.สุธิรา ริ้วเหลือง จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า อธิบายผ่านทีมงาน Life & Family ถึงปัจจัยที่เกิดขึ้นว่า เกิดจากลักษณะนิสัยตามธรรมชาติของเด็กที่กว่าจะปรับตัวให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เด็กจะรู้สึกว่า ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก จึงเป็นไปได้ถ้าเด็กติดใจอะไรแล้วมักจะเลิกเล่นยาก

ส่วนปัจจัยต่อมา เป็นไปตามช่วงวัยของเด็ก โดยเด็กประมาณ 1-3 ขวบ ถ้าถูกใจ หรือติดใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว การจะแยกเด็กออกจากสิ่งนั้น ๆ นับว่าเป็นเรื่องยากเช่นกัน ทำให้พ่อแม่หลาย ๆ ท่านอารมณ์เสียกับพฤติกรรมไม่พึ่งประสงค์ของลูกไม่น้อย เช่น กระฟัดกระเฟียด ร้องไห้เอาแต่ใจ เป็นต้น

ดังนั้น การรับมือกับพฤติกรรมของลูกอย่างสร้างสรรค์ จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่นรายนี้ ได้แนะบันได 3 ขั้นไว้เป็นแนวทางดังต่อไปนี้

1. หากถึงเวลาเลิกเล่น แต่ลูกยังไม่ยอมเลิก คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรบอกให้ลูกเลิกเล่นในทันที แต่ควรพูดเกริ่นให้ลูกรู้ตัวก่อนว่า ณ เวลานี้ถึงเวลาที่เขาควรจะเลิกเล่นได้แล้ว เช่น หากลูกติดเล่นอยู่กับเพื่อน ลองพูดตะล่อม ๆ กับเขาก่อนว่า "ใกล้เวลากลับบ้านแล้วนะลูก ดูฟ้าสิ เริ่มมืดแล้ว ลูกหิวข้าวหรือยังคะ" หรืออาจจะบอกเวลาให้ลูกได้เตรียมตัว เช่น "แม่ให้เวลาเล่นอีก 5 นาทีนะจ๊ะ" เป็นต้น

2. หากลูกยังนิ่งเฉย ไม่มีทีท่าว่าจะเลิกเล่น คุณพ่อคุณแม่ลองหาสิ่งอื่น ๆ มาแทนที่ความสนใจในสิ่งที่ลูกกำลังเล่นอยู่ เช่น หากลูกกำลังเล่นกับเพื่อนอย่างสนุกสนาน แต่พอถึงเวลาต้องเลิก ลูกยังไม่เลิก ลองดึงสิ่งที่ลูกชอบมาเบี่ยงเบนความสนใจดู เช่น วันนี้มีการ์ตูนเรื่องโปรดของลูกกำลังรออยู่ที่บ้าน หรืออื่น ๆ ที่พอจะเบี่ยงเบนความสนใจของลูกได้

3. หากเกริ่นนำก็แล้ว หาสิ่งมาดึงดูดก็แล้ว ลูกยังไม่ยอมเลิก ในขณะที่เด็กบางคนเริ่มกระฟัดกระเฟียด แสดงความไม่พอใจ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตามใจ แต่ควรอดทน และฝืนความสงสารเอาไว้เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เขากำลังต่อต้านอยู่นั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องดึงความสนใจของลูกให้เลิกเล่นเป็นระยะ ๆ ด้วย ไม่ควรปล่อยให้ร้องจนเสียงแหบ เสียงแห้ง

อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาพฤติกรรมข้างต้นได้ดีที่สุดนั้น จิตแพทย์เด็กรายนี้ ทิ้งท้ายว่า พ่อแม่ควรให้เวลากับลูก อย่างน้อยถ้าลูกรู้สึกว่าพ่อ หรือแม่มีเวลาให้กับเขาอย่างเต็มที่ ลูกจะไม่ไปติดเพื่อน ติดเกม หรือติดโทรทัศน์ หรือถ้าติด เวลาบอกให้เลิกจะไม่เหนื่อยใจอีกต่อไป

  
 ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000016989
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล