ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
เตรียมพี่คนโตอย่างไร ไม่อิจฉาน้อง (ในท้อง)
เตรียมพี่คนโตอย่างไร ไม่อิจฉาน้อง (ในท้อง) เมื่อพูดถึงความ "อิจฉา" เกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน โดยเฉพาะเด็กวัยอนุบาลที่ยังต้องการความรัก และการเอาใจใส่ เมื่อคุณแม่มีน้องอยู่ในท้องอีกคน เวลา และความสนใจส่วนหนึ่งจึงถูกแบ่งให้กับน้องเป็นหลัก จึงเป็นไปได้ที่ลูกคนโตจะรู้สึกว่าตัวเองถูกแทนที่ เกิดเป็นความอิจฉาจนถึงขั้นรังแก และทุบตีท้องกลม ๆ ของคุณแม่เพราะอิจฉาน้องในท้องที่มาแย่งความรักไป

พฤติกรรมข้างต้น พ.ญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น อธิบายผ่าน ทีมงาน Life & Family ว่า เป็นเรื่องปกติที่เด็กจะรู้สึกอิจฉาน้องในท้อง เพราะเขาเคยเป็นที่หนึ่งในใจพ่อแม่มาตลอด แต่เมื่อมีสมาชิกใหม่เข้ามา พ่อแม่หรือคนอื่น ๆ ต่างให้ความสนใจเป็นพิเศษ ทำให้ลูกคนโตรู้สึกน้อยใจจนเกิดเป็นความอิจฉาตามมาได้

เรื่องนี้จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับพี่คนโตอย่างเหมาะสม กับการจะมีน้องใหม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพราะไม่เช่นนั้น อาจทำให้ลูกสับสน และไม่เข้าใจพ่อแม่ ก่อตัวเป็นความอิจฉาที่มีระดับความรุนแรง และก้าวร้าวมากขึ้น โดยวิธีเตรียมพร้อมลูกคนพี่ หรือลูกคนโตนั้น จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่นท่านนี้ ให้แนวทางไว้ว่า
  •  พ่อแม่ต้องยอมรับก่อนว่า พี่อิจฉาน้องเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะน้องที่อยู่ในท้องแม่ เนื่องจากหลาย ๆ ท่านไปคาดหวังว่าลูกต้องรัก ไม่อิจฉากัน ทำให้อึดอัดกับพฤติกรรมของลูกจนมีปฏิกิริยาในทางลบ เช่น ดุ หรือตีลูก จึงเป็นไปได้ที่เด็กจะน้อยใจว่าช่วงที่คุณแม่มีน้องทำไมถึงดุ และหงุดหงิดกับเขามากขึ้น

"ควรให้ระยะเวลาทำใจกับลูกคนโตบ้าง ไม่ควรหงุดหงิดใส่เขาเมื่อแสดงท่าทีอิจฉาน้องในท้อง เพราะการจะทำให้ลูกรักน้องในทันทีไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งคุณต้องเข้าใจด้วยว่า เขาเคยเป็นลูกคนเดียวในบ้าน เคยเป็นจุดสนใจทั้งหมด ดังนั้นต้องค่อย ๆ พูดกับเขา" จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่นกล่าว
  • ควรจัดเวลาพิเศษให้ลูกคนโตบ้าง พร้อมกับให้ความสนใจแก่เขาอย่างเต็มที่ เช่น ทำกิจกรรมที่เขาชอบ ไม่ว่าจะเป็นการเล่านิทานให้ฟัง อ่านหนังสือด้วยกัน ไปเดินเล่น นั่นจะทำให้ลูกรู้สึกว่า เขายังเป็นคนสำคัญจากพ่อแม่อยู่ ไม่ใช่น้องในท้องมาดึงความสนใจจากเขาไปเกือบหมด
  • ถ้ามีโอกาส ควรนำรูปตอนที่เขายังเล็ก หรือเลือกรูปสมัยตอนที่คุณตั้งท้องเขามาให้ดู จากนั้นอาจจะคุยกับลูกไปด้วยว่า "ตอนที่แม่อุ้มท้องหนู แม่ต้องดูแลหนูเป็นอย่างดี ก็เหมือนกับตอนนี้ที่แม่มีน้องอยู่ในท้อง แม่ก็ต้องดูแลน้องให้ดีเหมือนหนู เพราะน้องยังทำอะไรไม่ได้" เป็นต้น
  • หนังสือนิทานถือเป็นตัวช่วยให้ลูกคนโตเข้าใจบทบาทความเป็นพี่ได้ดี โดยคุณแม่อาจเลือกหนังสือที่บอกเล่าถึงความเป็นพี่ที่แสนดีมาอ่านให้ลูกฟัง เพื่อให้เด็กซึมซับบทบาท ตลอดจนเกิดความรู้สึกที่ดีกับการได้มีน้อง เช่น มีน้องเป็นเพื่อนเล่น คอยช่วยเหลือซึ่งกัน และกัน
  • ควรให้ลูกมีส่วนร่วมกับการตั้งครรภ์ของคุณด้วย เช่น มีส่วนร่วมในการจัดเตรียมของเล่น และของใช้ของน้อง พากันเล่านิทานให้น้องฟังทุกคืน พูดคุยกับน้องในท้อง แนะนำตัวเองให้น้องรู้จัก หรือช่วยดูแลน้องในเรื่องอื่น ๆ ซึ่งหลังจากช่วยเสร็จ ควรพูดขอบคุณลูก หรือบอกกับเขาว่า "โห ดีจังเลยที่แม่มีหนูมาก่อน หนูช่วยแม่ได้เยอะเลยค่ะ" สิ่งเหล่านี้ จะทำให้ลูกคนโตภูมิใจ และค่อย ๆ ซึมซับบทบาทพี่ที่แสนดีตั้งแต่น้องอยู่ในท้อง

อย่างไรก็ดี เมื่อสมาชิกคนใหม่ของบ้านคลอดออกมา สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรละเลยก็คือ เวลา ความรัก และการเอาใจใส่ที่ควรมีให้กับลูกทั้ง 2 คนอย่างใกล้เคียงกันที่สุด จากนั้นให้ลูกคนโตในฐานะพี่ชาย หรือพี่สาว ช่วยดูแลน้องร่วมกับคุณด้วย เช่น ช่วยหยิบของใช้สำหรับเด็กอ่อน หรืออื่นๆ ที่เขาพอจะช่วยได้

นอกเหนือจากคุณแม่แล้ว คุณพ่อมีบทบาทสำคัญมากในการช่วยคุณแม่เลี้ยงดูลูก เพราะความเหนื่อยของคุณแม่อาจนำไปสู่อารมณ์หงุดหงิด และอาจพาลใส่ลูกคนโตที่ดื้อ หรือร้องงอแง ถือเป็นตัวปลุกกระตุ้นความอิจฉาให้เกิดขึ้นระหว่างพี่น้องได้ไม่น้อย
  
ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000009722
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นอนท่าไหน มดลูกเข้าอู่เร็ว
นอนท่าไหน มดลูกเข้าอู่เร็ว
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ