ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
สอนลูกผูกมิตรกับคนรอบข้างอย่างสร้างสรรค์

สอนลูกผูกมิตรกับคนรอบข้างอย่างสร้างสรรค์ ยุคนี้การติดต่อสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะทุกอย่างเชื่อมต่อกันหมด ถ้าเด็กไม่ได้ฝึกสร้างสัมพันธภาพกับคนรอบตัวโดยเฉพาะเพื่อนฝูง เขาอาจขาดเครือข่ายที่จะช่วยเหลือพึ่งพากันในอนาคตได้ วันนี้เรามีเทคนิคสอนลูกผูกมิตรกับคนรอบข้างอย่างสร้างสรรค์ มาฝากกัน

ก่อนปฏิบัติภารกิจสอนลูกให้รู้จักผูกมิตรกับคนรอบข้างนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เด็กในแต่ละวัยมีสังคมที่ไม่เหมือนกัน โดย เด็กอนุบาล เป็นวัยที่เพิ่งหันหน้าเข้าหาสังคม จึงยังกล้า ๆ กลัว ๆ ในการสร้างสัมพันธภาพใหม่ ๆ แต่สถานการณ์จะเอื้อให้เขาได้เรียนรู้ศึกษาผู้คนหน้าใหม่ ๆ เช่น เพื่อนห้องเดียวกัน คุณครูเสียงหวาน คุณป้าแม่ครัวประจำโรงเรียน เป็นต้น

ดังนั้น โรงเรียนอนุบาลจึงเป็นเวทีให้เด็กวัยนี้เริ่มเรียนรู้บทบาทที่ควรแสดงต่อผู้คนอย่างเหมาะสม เช่น การพนมมือไหว้ เป็นมารยาทที่ควรปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ การจับมือ หรือเล่นกับเพื่อนเบา ๆ เป็นการผูกมิตรที่เหมาะสมจะปฏิบัติต่อเพื่อนในห้องเรียน

ส่วน เด็กประถม สัมพันธภาพที่มีต่อคนรอบข้างมีมากขึ้น เพราะเด็กเริ่มมีกลุ่มก๊วนที่มีความสนใจในแนวทางเดียวกัน บางคนมีพฤติกรรมติดเพื่อน แต่ในทางกลับกัน อาจเจอเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ขัดแย้งกับเพื่อนบ้าง เพราะต่างแสดงตัวตน หรืออัตลักษณ์ออกมาอย่างเต็มที่ จุดสำคัญของวัยนี้จึงเป็นการกระตุ้นให้เขากล้าที่จะสานต่อสัมพันธภาพเมื่อพบว่าคนแสดงพฤติกรรมต่อคนรอบข้างอย่างไม่เหมาะสม

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เห็นได้ว่า ทุกสัมพันธภาพที่ลูกเริ่มต้นผูกสัมพันธ์กับคนรอบข้างนั้นจะแข็งแกร่ง และมั่นคง ถ้าหากเรียนรู้บทบาทของตนเอง และเรียนรู้ที่จะปฏิบัติกับผู้อื่นที่หลากหลายอย่างเหมาะสม โดยพ่อแม่มีบทบาทสำคัญในการสอนทักษะดังกล่าว เริ่มจาก

เล่นสมมติช่วยเจ้าหนูซึมซับบทบาท 

เวลาเห็นลูกเอาผ้าสีสันสดใส แล้วพาคุณตุ๊กตามาจ๊ะเอ๋กัน พลางพูดบทสนทนาสร้างสถานการณ์สมมติว่า พี่หมีเป็นอัศวินที่กำลังตะลุยป่า ผจญภัยตามหามงกุฎของเจ้าหญิง นี่คือการเล่นที่สะท้อนว่า เขากำลังเรียนรู้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ แม้จะเป็นเพียงจินตนาการที่เขาสมมติขึ้นก็ตาม

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ลองมองหาของเล่นบทบาทสมมติ สร้างสถานการณ์ให้ลูกเรียนรู้ผ่านการโต้ตอบ เช่น อุปกรณ์ทำครัว ผลัดกันลงมือทำ หรือซื้อขายได้สื่อสาร พูดคุย และลงมือทำไปด้วยกัน

เป็นแบบอย่างของความมีสัมพันธภาพที่ดี


ไม่ว่าเป็นจะสังคมในครอบครัว หรือสังคมเพื่อนของคุณพ่อคุณแม่ และสังคมญาติพี่น้อง หากเจ้าหนูแสดงออกถึงกิริยาที่เหมาะสมเมื่อเข้าสังคม เช่น การแสดงความนอบน้อม มีสัมมาคารวะ พูดจาไพเราะกับผู้ใหญ่ หรือบางครั้งอาจพบว่า ลูกกำลังมีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม หรือสัมพันธภาพกับผู้อื่น ควรเปิดโอกาสให้เขาได้ฝึกฝนให้บ่อยครั้งขึ้น โดยที่คุณพ่อคุณแม่คอยให้กำลังใจอยู่เคียงข้าง

คุณพ่อคุณแม่เป็นต้นแบบที่ดี

ต้นแบบที่ดีในที่นี้หมายถึง ให้เจ้าหนูเรียนรู้วิธีจัดการปัญหาด้านสัมพันธภาพ ถ้าคุณคลี่คลายปัญหาด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง แล้วลูกก็จะรู้จักยืดหยุ่น พร้อมปรับตัวเข้าหาคนอื่น ๆ ได้ดี

สอนลูกรู้จัก "ผูกมิตร" ในสถานการณ์จริง


สำหรับวิธีการสอนลูกให้รู้จัก "ผูกมิตร" กับคนรอบข้างนั้น มีกิจกรรมช่วยฝึกง่าย ๆ ดังต่อไปนี้ 
  • ตัวอยู่ไม่ไกลแต่ใจไม่ห่าง แค่โปสการ์ด หรือกระดาษสวย ๆ และซองจดหมาย อาจเป็นแบบสำเร็จรูป หรือลงมือทำด้วยกันกับลูกก็ได้ (แต่ควรเป็นขนาดมาตรฐานของการไปรษณีย์ไทย) เป็นวิธีให้เด็กได้รู้จักเขียนบอกเล่าความรู้สึก ๆ ดีถึงคนที่รัก และคนรู้จักผ่านการเขียนจดหมาย
  • ไปตลาดเพื่อชอปเครื่องปรุงทำกับข้าว หรือขนมหวานสักหม้อ แล้วแบ่งปันโดยให้ลูกเอาไปให้คุณป้าข้างบ้าน หรือนำไปฝากเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน
  • กระเช้าผลไม้ หรืออาหารเพื่อสุขภาพ เป็นสื่อกลางในการที่จะให้เจ้าหนูแสดงน้ำใจ ไปเยี่ยมเพื่อนลูก เพื่อนคุณพ่อคุณแม่ หรือญาติพี่น้องพร้อมกับถามไถ่ด้วยใจเอื้ออาทร

นอกจากนี้ การสอนลูกผูกมิตรกับคนรอบข้างง่าย ๆ ด้วยการพาลูกเข้าสังคม หรืองานต่าง ๆ โดยมีคุณพ่อคุณแม่เป็นแบบอย่างจะช่วยรู้จักการสร้างสัมพันธภาพได้ดีขึ้น หรืออาจใช้พื้นที่ของบ้านจัดงานสังสรรค์ เช่น งานวันเกิด หรืองานวันปีใหม่ โดยให้เจ้าหนูเป็นเจ้าภาพใหญ่ในการชักชวนเพื่อน ๆ รวมถึงเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการเตรียมงานด้วยตัวเอง เรียกได้ว่า ทั้งสุข สนุก และได้เพื่อนอีกด้วย

มิตรภาพเป็นใบเบิกทางในการเชื่อมประสาน และเอื้อประโยชน์ต่อกัน หากเด็กมีเพื่อน มีสัมมาคารวะ และมีทักษะการจัดการความสัมพันธ์อย่างเหมาะสม จะสร้างเครือข่ายโยงใยไปยังสังคมที่ใหญ่ขึ้น เช่น ชุมชน จวบจนถึงสังคมโลกกว้างอย่างโลกออนไลน์ในที่สุด แม้จะไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว หรือเห็นหน้ากันมาก่อนก็ตาม

ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ
ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/node/18694
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง