รักพ่อแม่ต้องดูแลอย่างเข้าใจ หลายครอบครัวที่อาศัยอยู่ร่วมกับพ่อแม่หรือผู้สูงอายุ อาจเคยพบปัญหาสมาชิกในบ้านไม่เข้าใจผู้สูงอายุ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแนวคิดและทัศนคติที่แตกต่างกัน จึงทำให้ผู้สูงอายุขาดการเข้าใจและได้รับการดูแลที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นจึงมีวิธีการสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ตลอดจนทัศนคติของผู้สูงอายุที่สมาชิกในครอบครัวควรทราบ เพื่อเป็นแนวทางในการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข
พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ในการดูแลผู้สูงอายุนั้น สิ่งแรกที่ควรทำคือการต้องพยายามเข้าใจผู้สูงอายุหรือพ่อแม่ ในสิ่งที่ท่านเป็นให้มากที่สุด และต้องมองย้อนไปถึงอดีตว่า ท่านมีวิธีการดำรงชีวิตและใช้ชีวิตมาอย่างไร โดยต้องไม่เอาโลกในปัจจุบันรวมทั้งตัวเราเองมาเป็นบรรทัดฐานในการทำความเข้าใจผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันก็ควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุอยู่เป็นประจำว่า มีอาการผิดปกติหรือไม่ ก็จะทำให้เราเข้าใจผู้สูงอายุได้มากขึ้น
สิ่งสำคัญที่สุดคือ ลูกๆ ไม่ควรมองว่าพ่อแม่นั้นดื้อรั้น แต่ควรเข้าไปนั่งในใจท่านเพื่อทำความเข้าใจถึงสิ่งที่ท่านเป็น หากสิ่งใดที่เป็นความต้องการของท่าน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหาร้ายแรง ก็ขอให้เลือกถนอมน้ำใจท่าน แทนการยึดมั่นในหลักการ เพราะการดูแลผู้สูงอายุหรือพ่อแม่นั้น นอกจากการดูแลสุขภาพทางกายแล้ว การดูแลสุขภาพทางด้านจิตใจก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
ขณะเดียวกันแนวคิดหรือทัศนคติที่แตกต่างที่พ่อแม่หรือผู้สูงอายุมีต่อลูกๆ นั้น สามารถสรุปออกมาได้ 5 ข้อ ดังต่อไปนี้
- เรื่องของสุขภาพ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักกังวลในเรื่องของสุขภาพ เพราะเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ จะทำให้ร่างกายไม่สมบูรณ์เหมือนก่อน รวมทั้งผู้สูงอายุยังอยากได้วิธีการดูแลตนเองที่ถูกต้อง โดยไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน
- เรื่องของจิตใจ ผู้สูงอายุมักเป็นห่วงลูกหลาน จนทำให้เกิดความเครียด โดยเฉพาะเรื่องการงานและเรื่องเรียน
- ผู้สูงอายุนั้นอยากให้ลูกหลานดูแลใกล้ชิด
- เรื่องสังคม ผู้สูงอายุโดยทั่วไปมักอยากมีสังคม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรื่องราวในชีวิตซึ่งกันและกัน
- เรื่องของจิตวิญญาณ บางครั้งผู้สูงอายุพยายามจะอธิบายให้ลูกหลานเข้าใจ แต่ยังขาดการสื่อสารที่ถูกต้องระหว่างกัน
ส่วนแนวคิดและทัศนคติของลูกๆ ที่มีต่อพ่อแม่หรือผู้สูงอายุนั้น ประกอบด้วย เรื่องจิตใจ ลูกๆ มักเกิดความเครียด โดยกลัวว่าพ่อแม่จะคิดมากในเรื่องของตนเอง จึงอยากให้พ่อแม่ปล่อยวางในเรื่องตน , เรื่องสุขภาพ ลูกๆ มักเครียดเกี่ยวกับสุขภาพของพ่อแม่ ในกรณีชวนเพื่อนมาเที่ยวบ้าน , เรื่องอารมณ์ ลูกๆ กลัวพ่อแม่จะมีอารมณ์ฉุนเฉียวเมื่ออายุมากกว่านี้ และการสื่อสาร ลูกๆ มักเป็นกังวลในเรื่องของการสื่อสารระหว่างกัน เพราะยังไม่ทราบถึงวิธีในการสื่อสารกันที่ถูกต้อง
สำหรับอาการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายของผู้สูงอายุที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คุณหมอ กล่าวว่า หากไม่มองถึงเรื่องของการเจ็บป่วย ก็คือเรื่องการเสื่อมถอยของอวัยวะในร่างกาย เช่น ฟัน ตา หูที่เสื่อมลง โดยเฉพาะฟัน หากไม่ได้ดูแลฟันให้ดี ผู้สูงอายุจะไม่มีฟันในการรับประทานอาหาร ก็จะทำให้รับประทานอาหารไม่ได้ ส่งผลให้น้ำหนักลด เมื่อน้ำหนักลดลง ก็จะนำมาซึ่งอาการซึมเศร้า และเป็นกังวลว่าจะเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆ หรือไม่ และจะเป็นปัญหาวงจรลูกโซ่ต่อไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าปัญหาเหล่านี้จะเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุทุกคน แต่ถ้าเรามีการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นอย่างดี อย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้ท่านมีความสุขในการใช้ชีวิตมากขึ้น
ส่วนวิธีการดูแลผู้สูงอายุนั้น คุณหมอกล่าวว่า ไม่มีวิธีการดูแลที่เป็นรูปแบบ แต่ดูแลท่านให้เหมือนกับเวลาที่เราดูแลตนเอง และมองผู้สูงอายุในมิติของท่าน และพยายามเข้าใจให้มากที่สุด เพราะผู้สูงอายุนั้น เวลาของท่านเหลือน้อยลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ก็ควรช่วยให้ผู้สูงอายุมีชีวิตอยู่ได้ โดยปราศจากการเจ็บป่วยทรมาน รวมทั้งพึ่งพาผู้อื่นให้น้อยที่สุด เมื่อดูแลด้านร่างกายให้กับผู้สูงอายุกันไปแล้ว การดูแลเรื่องของจิตใจก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองมีศักดิ์ศรีและมีเงินจ่ายตามอัตภาพ หากต้องการรับประทานสิ่งใดหรืออยากได้อะไร ในฐานะที่เราเป็นลูก หากไม่ได้เกินแก่ความสมควร เราก็ควรหามาให้ท่าน
ขณะเดียวกัน คุณหมอก็ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างพ่อแม่และลูกนั้น ที่เรามักพบได้ทั่วไปในทุกๆ ครอบครัวว่า โดยหลักของปัญหาจริงแล้วคือ พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นอย่างที่ตนเองคิด แต่ไม่ได้เอาใจลูกใส่ในใจของตนเอง อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เราเป็นลูก ก็ต้องรักพ่อแม่อย่างที่ท่านเป็น และต้องพยายามเข้าใจว่าท่านต้องการอะไร โดยมองย้อนไปถึงรูปแบบการใช้ชีวิตที่ผ่านมาของท่าน และที่สำคัญควรเลี้ยงดูท่าน โดยให้ท่านมีความสุขมากที่สุด และที่สำคัญต้องเปิดใจยอมรับความต้องการระหว่างกันและกันให้มากที่สุด เพราะพ่อแม่นั้น ท่านไม่ได้เกิดมาเพื่อเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างที่เราต้องการ แต่เราต่างหากที่ต้องพยายามเข้าใจท่านให้มากที่สุดในฐานะที่เป็นลูก
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ข้อมูลจาก :
http://www.thaihealth.or.th/node/16849