ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
กฎ 7 ข้อ พัฒนาลูกวัยเรียนไอคิวดี-อีคิวสูง

กฎ 7 ข้อ พัฒนาลูกวัยเรียนไอคิวดี-อีคิวสูง เมื่อลูกรักเริ่มเข้าสู่วัยเรียน ถือเป็นช่วงวัยที่พ่อแม่หลายๆ คนเริ่มฝากความหวังไว้กับโรงเรียน เพราะคิดว่าลูกได้มีสังคม และสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่ให้ความสนุก และความสุข โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องดูแล หรือมีบทบาทอะไรมากนัก ทำให้บางคนคิดว่า หน้าที่รับส่งลูกที่โรงเรียน สอนการบ้าน หรือทำกิจกรรมร่วมกันเล็กๆ น้อยๆ ในวันหยุดสุดสัปดาห์เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

แต่ในความเป็นจริง เด็กในช่วงวัยนี้ควรได้รับการพัฒนาทักษะที่สมบูรณ์อย่างถูกต้องจากที่บ้านด้วย ไม่ว่าจะกิน เล่น หรือนอน เพราะถือเป็นส่วนสำคัญในการเติมเต็มให้เด็กมีร่างกาย และสมองที่ดี ซึ่งมีวิธีพัฒนาลูกง่ายๆ 7 ข้อ เป็นคำแนะนำดีๆ ที่ทีมงาน Life and Family ได้รับจากสถาบันพัฒนาความฉลาด และเสริมสร้างทักษะสมอง เพื่อเป็นแนวทางให้กับพ่อแม่ในการพัฒนาทักษะลูกน้อยในวัยเรียนให้ฉลาดสดใสกันครับ

1. ควรจัดเวลาเข้านอนอย่างเหมาะสม

เมื่อลูกถึงวัยของการไปโรงเรียน เด็กควรเข้านอนแต่หัวค่ำ เพราะเด็กใช้เวลาตอนกลางวันไปกับการเรียนรู้ เล่น และทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย ดังนั้นจึงควรได้นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ ถ้าหากเด็กนอนเร็วในเวลาที่เหมาะสมประมาณ 20.00 น.ทุกๆ วัน เด็กจะตื่นแต่เช้าโดยไม่งอแง แต่จะเป็นเด็กอารมณ์ดี สมองปลอดโปร่ง และพร้อมที่จะใช้พลังในการเรียนรู้อย่างเต็มที่

แต่ถึงกระนั้น เชื่อว่าหลายๆ บ้านมักเจอปัญหาลูกไม่ยอมนอนแต่หัวค่ำ ซึ่งอาจเป็นเพราะห่วงเล่น หรือมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น อยากดูโทรทัศน์ อยากเล่นกับพี่น้อง หรือไม่นอนตามพ่อแม่ ปัญหานี้ มีวิธีตั้งรับคือ กำหนดเวลานอน โดยสมาชิกทุกคนในบ้านร่วมมือปฏิบัติตามข้อกำหนดคือ เข้านอนตามเวลา ควรสร้างบรรยากาศการพักผ่อน เช่น หรี่ไฟ หรือปิดไฟ ปิดทีวี เก็บงาน หรือของเล่น ทำอย่างสม่ำเสมอตรงเวลาทุกวัน นอกจากนี้ควรแสดงความชื่นชมเมื่อลูกเข้านอนตามเวลาที่กำหนด หรืออ่านนิทานก่อนนอนให้ลูกฟัง เพื่อให้ลูกนอนหลับอย่างมีความสุข เด็กก็จะปฏิบัติตามได้ในที่สุด

2. อาหารเช้า อาหารสมองที่จำเป็น

เด็กในวัยเรียนทุกคน ควรรับประทานอาหารเช้าทุกวันก่อนไปโรงเรียน เพราะการที่เด็กได้รับอาหารเพียงพอจะทำให้เด็กมีความพร้อมในการเรียนรู้ โดยเฉพาะอาหารเช้าที่มีประโยชน์จะช่วยบำรุงสมอง ทำให้สมองมีประสิทธิภาพในการคิดได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว โดยอาหารเช้าที่เตรียมได้ง่ายๆ คือ ซีเรียลกับนม หรือขนมปังกับนม

อย่างไรก็ดี พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้เด็กลองรับประทานอาหารที่หลากหลาย อาจเป็นการลองชิมทีละน้อย ผลไม้แกะเม็ดออกหั่นเป็นชิ้นพอดีคำ หรือขนมหวานของไทยบางชนิดที่มีคุณค่าทางอาหารสูง พ่อแม่อาจเลือกให้เด็กกินได้ เช่น กล้วยบวดชี มัน หรือฟักทองแกงบวด เป็นต้น

สำหรับบ้านที่ลูกเป็นเด็กกินยาก สาเหตุอาจเป็นเพราะลูกไม่เคยรับประทาน ห่วงเล่น ห่วงทำกิจกรรมอื่นๆ อารมณ์ไม่ดี หรือขาดแรงจูงใจ ดังนั้น วิธีรับมือ คือ ตักอาหารให้ลูกทีละน้อยรับประทาน 3-4 คำหมด เด็กจะรู้สึกว่าตัวเขาเองประสบความสำเร็จในการรับประทานอาหาร โดยพ่อแม่ควรให้คำชม และเป็นกำลังทุกครั้งเมื่อลูกทำได้

3. แบ่งเวลาดูทีวี-เล่นเกมอย่างเหมาะสม

สื่อนิยมของเด็กอย่างโทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์ เรียกได้ว่า เป็นเครื่องใช้ประจำบ้านไปเสียแล้ว แต่สำหรับเด็กนั้น ต้องจำกัดเวลาในการใช้ด้วย เพราะการที่เด็กจ้องมองหน้าจอนานๆ จะมีผลต่อสายตา และสมองของเด็กได้ เนื่องจากทำให้สมองเหนื่อยล้า ไม่อยากเรียนหนังสือ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนเสียเวลาที่ควรใช้กับคนในครอบครัวไป

ดังนั้น เวลาที่เหมาะสมในการให้ลูกดูโทรทัศน์ และเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ควรให้เล่นได้ไม่เกินวันละ 1 ชม. และครั้งละไม่เกิน 30 นาทีในวันที่ต้องไปโรงเรียน แต่ทั้งนี้อาจเพิ่มเวลาขึ้นได้นิดหน่อยในวันหยุดสุดสัปดาห์ อย่างไรก็ดี การจัดวางโทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์ในบ้าน ไม่ควรอยู่ในห้องนอนเด็ก เพราะเด็กจะเปิดแล้วนอนดูนานเกินเวลาที่กำหนด หรือดูรายการที่ไม่เหมาะสมได้

สำหรับบ้านที่ลูกติดทีวี หรือติดเกมมากเกินไปโดยไม่ยอมเลิก ไม่ยอมเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่นๆ เลย พ่อแม่ควรตกลงกติกาก่อนอนุญาตให้ดู หรือเล่น เช่น ตั้งแต่เวลาให้ลูกรู้จักขอบเขตในการดู หรือเล่น หากเด็กละเลยไม่ยอมทำตามกติกา ควรกำหนดบทลงโทษ เช่น ไม่ให้ดู หรือเล่นในวันต่อไป ชมเชยทุกครั้งที่เด็กทำตามกติกา นอกจากนี้ ควรเตรียมกิจกรรม หรือของเล่นอื่นๆ ไว้ให้ลูกได้เปลี่ยนไปเล่นบ้าง โดยทั้งนี้พ่อแม่ต้องไม่ใจอ่อนกับลูกเป็นอันขาด

4. ฝึกให้เด็กรับผิดชอบงานในหน้าที่ของตัวเอง

เด็กวัยเรียน ควรได้รับการฝึกสอนให้รับผิดชอบในเรื่องข้าวของเครื่องใช้ของตนเอง ฝึกสวมเสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้า รู้จักเก็บของเล่นของใช้ ซึ่งเด็กในวัยนี้ สามารถรับผิดชอบงานบางอย่างในบ้านได้แล้ว เช่น ช่วยจัดโต๊ะอาหาร รินน้ำใส่แก้ว รดน้ำต้นไม้ จัดที่นอน เรียงหมอน พับผ้าห่ม ทั้งนี้ควรให้เริ่มจากงานง่ายๆ ก่อน เพราะงานที่ยาก และใช้เวลานาน เด็กจะท้อแท้จนไม่อยากทำ เช่น พับผ้าผืนเล็กๆ จัดวางจานช้อนส้อมบนโต๊ะอาหาร เป็นต้น ซึ่งพ่อแม่ต้องแสดงทีท่าว่าความรับผิดชอบงาน เป็นเรื่องที่สนุกสนาน และเป็นหน้าที่ของทุกคน มีการทบทวนหน้าที่ของสมาชิกในบ้านอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกงานที่ตนเองอยากลองทำ หรือสับเปลี่ยนกัน

5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน

ให้โอกาสเด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายแบบต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ดี เช่น วิ่ง กระโดดเชือก ว่ายน้ำ สังเกตความสนใจของเด็กได้จากความชอบ หรือไม่ชอบอะไร ซึ่งควรจัดกีฬาให้ลูกอย่างเหมาะสมตรงตามที่ลูกชอบ เพื่อให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อการออกกำลังกาย โดยมีพ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีในการออกกำลังกาย

6. ให้เด็กทำงานอดิเรกที่ชอบ

การเล่น คือการทำงานของเด็ก ดังนั้น พ่อแม่ควรสร้างประสบการณ์ที่หลากหลายให้ลูก เพื่อให้เด็กได้เลือกงานอดิเรกที่ตนเองสนใจ ถึงแม้ว่าเด็กวัยนี้ยังบอกไม่ได้ว่าอะไรที่ตนชอบ หรือถนัด พ่อแม่จึงควรช่วยให้เด็กได้ลองเล่น และฝึกฝนงานหลายๆ อย่าง ซึ่งงานอดิเรกมีประโยชน์คือ ให้เด็กได้เปลี่ยนกิจกรรมไปทำสิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากการเรียน และคลายความเครียดได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี งานอดิเรกมีหลายประเภท และให้ทักษะแก่เด็กที่แตกต่างกัน เช่น การเล่นดนตรี ได้ฝึกการฟัง การแยกระดับเสียง เรียนรู้จังหวะ การทำงานศิลปะ เช่น การปั้น ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อนิ้วมือ และยังได้เรียนรู้ถึงคุณสมบัติ และผิวสัมผัสของดินที่นำมาปั้นอีกด้วย เช่น นุ่ม เย็น เหนียว ส่วนงานประดิษฐ์ต่างๆ เด็กจะได้ฝึกใช้กรรไกรตัด การฉีก ปะกระดาษ รู้จักผิวสัมผัสของสิ่งต่างๆ เช่น ความเหนียว หรือความลื่นของแป้งเปียก และกาว

7. ฝึกให้เด็กทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอ

ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เด็กที่มีสมาธิดี จะเรียนรู้อย่างเข้าใจ และมีความจำดี พ่อแม่จึงควรชวนลูกทำสมาธิกันทุกวัน ครั้งละประมาณ 8 นาที แบ่งเป็นยืน เดิน นอน อย่างละ 2 นาที ในเรื่องนี้ เด็กจะซึมซับหรือไม่นั้น พ่อแม่ถือเป็นต้นแบบ และตัวอย่างที่จะประพฤติปฏิบัติให้เด็กดู ทำให้เด็กเชื่อว่า การทำสมาธิเป็นสิ่งที่ดี และไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถ

แต่กระนั้น การฝึกสมาธิครั้งแรก อาจใช้เวลาน้อย เมื่อเด็กทำได้แล้ว จึงค่อยๆ เพิ่มเวลาให้นานขึ้น เวลาที่เหมาะสมในการทำสมาธิของเด็กวัยเรียนคือ 8-12 นาที และช่วงเวลาที่ดีคือก่อนนอน ประมาณ 2 ทุ่ม หรือเวลาเช้า

ลองนำไปปฏิบัติกันดูนะครับ ซึ่งแต่ละข้อเป็นวิธีที่ทำได้ไม่ยากเลย เพียงแต่ว่า จะทำอย่างสม่ำเสมอกันหรือเปล่า ซึ่งหากทำอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ เชื่อว่า ลูกรักจะเป็นเด็กฉลาดอย่างมีความสุขแน่นอนครับ

  
 ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000120739
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
วิธีดูแลเสื้อผ้าลูกน้อย ให้ไร้กลิ่นอับ
วิธีดูแลเสื้อผ้าลูกน้อย ให้ไร้กลิ่นอับ
วิธีเล่นกับลูกในครรภ์ ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ
วิธีเล่นกับลูกในครรภ์ ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ