ลูกใจดีเกินไป สอนอย่างไรให้พอดี เมื่อพูดถึงเรื่องการแบ่งปัน หรือการให้ เป็นเรื่องสำคัญที่สังคมกำลังถามหาจากเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นพื้นฐานจำเป็นที่พ่อแม่ทุกคนหวังอยากจะให้ลูกมีติดตัว แต่การจะสอนให้ลูกรู้จักแบ่งปันนั้น ถ้าสอนโดยมองไม่รอบ และไม่ครอบ อาจเกิดปัญหาขึ้นกับเด็กได้ เช่น มีก็จะให้ ไม่มีก็จะพยายามเสาะหามาให้
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ คุณเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และผู้ทำงานด้านเด็กมากว่า30 ปี กล่าวว่า พ่อแม่บางคนสอนให้ลูกรู้จักแบ่งปัน แต่ไม่ได้สอนต่อไปว่า ควรจะแบ่งปันอย่างไรไม่ให้เบียดเบียนตัวเอง ทำให้ลูกติดนิสัยใจดีจนแบ่งปันเกินขอบเขต ดังนั้นวิธีการสอนเรื่องการแบ่งปัน พ่อแม่ควรใช้คำพูดที่ว่า ถ้ามีมากพอแล้วเหลือจึงค่อยนำไปแบ่งปัน ซึ่งการแบ่งปันต้องแบ่งในภาวะที่ไม่ทำให้ตัวเราเองต้องลำบาก
"แรกๆ ก็สอนลูกให้รู้จักแบ่งปันไปก่อน จากนั้นค่อยเจาะต่อไปว่า เรามีเท่าไร เหลือเท่าไร และเก็บส่วนที่พอเอาไว้ไปแบ่งปัน ตรงนี้ถึงจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าเมื่อไรที่สอนลูกให้แบ่งปัน แต่ไม่บอกให้รู้ถึงความเหมาะสม หรือความพอดีที่จะแบ่งปัน มีแต่จะให้ ให้ และก็ให้จนเบียดเบียนตัวเอง และทำให้เป็นทุกข์ เมื่อโตขึ้น เด็กก็จะรู้สึกผิดทุกครั้งที่เขามี และไม่ได้ให้ ตรงนี้อันตรายต่อเด็กในตอนโตมาก" กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กกล่าว
การสอนเรื่องการแบ่งปัน คุณเรืองศักดิ์ ยกตัวอย่างให้ฟังว่า พ่อแม่ต้องสอนให้รอบ และให้ครอบ เช่น มีเงิน 10 บาทที่สามารถแบ่งให้คนอื่นได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะแบ่งให้คนอื่นได้ทั้งหมด เพราะไม่เช่นนั้นเราก็จะไม่มีเงินกินข้าว แต่ถ้าเกิดว่า10 บาท จะแบ่งให้เพื่อน 4 บาท หลังจากกินข้าว และน้ำแล้วก็ย่อมทำได้ ฉะนั้น การสอนไม่ว่าจะเรื่องการแบ่งปัน หรือเรื่องอื่นๆ พ่อแม่ต้องมอง 2 ด้าน ไม่ใช่มองด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว
ด้าน พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวในประเด็นเดียวกันว่า การสอนลูกในเรื่องที่เป็นนามธรรม ความเข้าใจของเด็กจะค่อยๆ เรียนรู้ไปทีละระดับ เช่นกันกับการสอนเรื่องการแบ่งปัน ตัวเด็กเองอาจพบความขัดแย้ง หรือเงื่อนไขต่างๆ ในสถานการณ์จริงนอกเหนือจากสิ่งที่พ่อแม่สอนก็ได้ ดังนั้นพ่อแม่ควรมีการพูดคุยกับลูก และค่อยๆ สอนไปพร้อมๆ กับอธิบายให้ลูกเข้าใจ
นอกจากนี้ พญ.พรรณพิมล บอกต่อว่า สำหรับพ่อแม่ที่ทำให้ลูกรู้สึกว่า พ่อแม่รักลูกมากที่สุด ทำทุกอย่างให้ลูกได้ทั้งหมด ถ้าไม่สอนให้ลูกรู้จักการตอบแทน หรือมีส่วนร่วมในการส่งคืนบ้าง เด็กจะกลายเป็นผู้รับฝ่ายเดียวจนไม่ได้เรียนรู้ถึงการให้คนอื่น เช่น ขนมชิ้นนี้ พ่อให้ลูกหมดเลย เพราะพ่อรักลูกมากที่สุด ถ้าพูดแบบนี้ไปเรื่อยๆ เด็กจะมองแต่ขนมตัวเอง จนไม่ทันคิดที่จะแบ่งปันคนอื่น
แต่ถ้าใช้วิธีตั้งคำถามกับลูก อาทิ ขนมชิ้นนี้อร่อยมาก หนูอยากกินคนเดียวใช่ไหมคะ แล้วนอกจากกินคนเดียวแล้ว ถ้าอยากจะให้ใครสัก 1 คน หนูจะเลือกแบ่งให้ใครดีจ้ะ ซึ่งลูกจะแบ่งให้เจ้าเหมียว หรือใครก่อนก็แล้วแต่ลูก แต่สิ่งที่เด็กได้รับจากการตั้งคำถามแบบนี้ คือ เด็กเริ่มเรียนรู้ และรู้จักที่จะแบ่งปันในสิ่งที่เกินไปกว่าตัวเขาเอง ดังนั้นจุดเริ่มต้นของพ่อแม่ต้องทำให้เด็กรู้ก่อนว่า พ่อแม่รักเขามากที่สุด และสอนให้เขารู้จักส่งคืนความรักกลับมาพร้อมๆ กันด้วย เมื่อถึงวันหนึ่งเด็กก็จะรู้สึกอยากแบ่งปันความรักไปให้พ่อแม่ หรือคนอื่นๆ ต่อไป
ดังนั้น การจะสอนให้ลูกรู้จักแบ่งปันเป็นเรื่องที่ละเอียด พ่อแม่ต้องสอนให้รอบ และให้ครอบ เพราะไม่เช่นนั้น ลูกอาจกลายเป็นเด็กใจดีเกินไป จนไม่รู้จักปฏิเสธเมื่อตัวเองมีไม่พอ แต่จะให้เพราะไม่อยากรู้สึกผิดที่ไม่ได้ให้ ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องค่อยๆ สอน และยกตัวอย่างให้ลูกรู้จักการแบ่งปันอย่างรู้ขอบเขต โดยไม่เบียดตัวเองจนเป็นต้องเป็นทุกข์
ข้อมูลจาก :
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000107152