ผู้เชี่ยวชาญแนะพ่อแม่อัจฉริยภาพเด็กพัฒนาได้ด้วยธรรมะ เพื่ออีคิวเด็กและนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
คงไม่ผิดนัก หากจะบอกว่าการมาถึงของความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ (Emotional Quotient) ซึ่งเป็นเทรนด์การเลี้ยงดูเด็กที่ได้รับการเผยแพร่มาจากสื่อต่างประเทศ (ก่อนจะตามมาด้วยMQ, RQ, AQ และ อีกมากมายหลายประการนั้น)เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กระตุ้นให้คุณพ่อ คุณแม่ยุคใหม่หันมาสนใจค้นคว้าหาวิธีพัฒนาศักยภาพลูกในด้านต่าง ๆ เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น แทนการสนใจพัฒนาแต่ด้านวิชาการเพียงอย่างเดียวเช่นในอดีต
อย่างไรก็ดี ยังมีสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน นั่นก็คือ หลักธรรมะตามแนวทางของพุทธศาสนา อันได้แก่ พรหมวิหาร 4 อิทธิบาท 4 สังคหวัตถุ 4 และอริยสัจ 4 ซึ่งหลายคนอาจหลงลืมไป และไม่ได้นำมาใช้กับครอบครัวให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ในจุดนี้ ทำให้ ศาสตราจารย์(เกียรติคุณ) พญ.ชนิกา ตู้จินดา กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูก ได้หยิบยกถึงการนำหลักธรรมะมาประยุกต์ใช้ในครอบครัว และพัฒนาอัจฉริยภาพทางอารมณ์ให้แก่ลูกในงานเปิดตำนาน"คู่มือเลี้ยงลูก"ฉบับ ครบรอบ 25 ปี ของสำนักพิมพ์รักลูกบุ๊กส์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า "การเลี้ยงลูกโดยใช้หลักธรรมะ สามารถนำมาปรับใช้ได้กับลูกในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะถ้าเราแสดงให้เห็นตั้งแต่เด็ก เด็กก็จะได้เรียนรู้วิธีการเหล่านั้น นำไปสู่การมีความสุขในชีวิต และเป็นพัฒนาอีคิวของเด็กได้เป็นอย่างดี"
ทั้งนี้หลักธรรมะง่ายๆ ที่คุณหมอชนิการะบุว่า สามารถนำมาปรับใช้ในครอบครัวประกอบด้วย พรหมวิหาร 4 อิทธิบาท 4 สังคหวัตถุ 4 และอริยสัจ 4 นั่นเอง
พรหมวิหาร 4 ธรรมะเพื่อความสุขสงบในชีวิต
เมื่อเอ่ยถึง "พรหมวิหาร 4" อันประกอบด้วยหลักใหญ่ 4 ประการได้แก่ "เมตตา" คือ ความ ปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข "กรุณา" คือ การช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ "มุทิตา" คือการยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี และ "อุเบกขา" คือการรู้จักวางเฉยนั้นโดยมากแล้ว เมตตาและกรุณา คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่เข้าใจและพร้อมนำมาใช้อย่างเกิดผล อย่างไรก็ดี สำหรับมุทิตา และอุเบกขา นั้น คุณหมอชนิกาให้คำแนะนำว่า มีหลายครอบครัวยังใช้ได้อย่างไม่ถูกต้องนัก "มุทิตาคือการยินดีเมื่อผู้อื่นทำความดี ในชีวิตประจำวัน เราอาจเอ่ยปากชมคนอื่นได้มากมายแต่กับลูก เรากลับไม่ได้ชมเวลาเขาทำดีมากนักเพราะพ่อแม่อาจถูกสอนมาว่าชมลูกมากไม่ได้ เดี๋ยวลูกเหลิง แท้จริงแล้ว การชื่นชมก็เหมือนกับการให้กำลังใจ ให้ลูกได้รู้ว่า พ่อแม่ชื่นใจและภาคภูมิใจนะที่ลูกทำความดี"
อุเบกขา หรือการวางเฉย
มีคนเข้าใจผิดกันเยอะ และทำให้นำไปใช้ผิดวิธี เช่น เห็นลูกทำผิด ก็วางเฉยไม่ตักเตือน ทำให้เด็กๆ เหล่านี้เมื่อเติบโตขึ้นมามีพฤติกรรมก้าวร้าว ชอบใช้คำหยาบคาย ไม่ระมัดระวังกิริยาเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่ส่วนพ่อแม่ก็วางเฉย หัวเราะอย่างเดียว อันนี้ไม่ถูก
แท้จริงแล้ว อุเบกขาคือการให้ลูกทำได้ด้วยตนเอง ซึ่งพ่อแม่สามารถฝึกลูกได้ตั้งแต่ยังเล็กตัวอย่างเช่น เมื่อลูกเริ่มหัดเดิน เขาก็ต้องมีล้มเป็นธรรมดา แต่เขาจะลุกได้ การที่พ่อแม่เข้าไปอุ้มหรือเข้าไปตีโต๊ะว่ามาเกะกะลูก ไม่ใช่สิ่งที่ถูก หรือลูกมีการบ้านมาจากโรงเรียน ลูกก็จะต้องทำด้วยตัวเอง พ่อแม่ไม่ต้องเข้าไปช่วยทำแทนเขา พอลูกทำได้ พ่อแม่ค่อยชื่นชม นั่นคือการนำอุเบกขามาใช้อย่างเหมาะสม
อิทธิบาท 4 สอนให้ลูกมุ่งมั่นกับงานที่ทำ
อีกหนึ่งปัญหาปวดหัวที่คนเป็นพ่อแม่ยุคนี้ต้องรับมือก็คือ การที่ลูกเป็นเด็กจับจด ไม่มีความพยายาม ไม่อดทนต่ออุปสรรค ทำให้การทำงานไม่ประสบความสำเร็จดังที่หวัง ซึ่งในทางพุทธศาสนาก็ยังมีหลักธรรมชื่อว่า "อิทธิบาท 4" ที่จะสามารถแก้ไขพฤติกรรมเจ้าปัญหาของลูกได้อยู่เช่นกัน
โดยอิทธิบาท 4 ประกอบด้วย " ฉันทะ วิริยะจิตตะ วิมังสา" ฉันทะคือความพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีตัวเองเป็น ส่วนวิริยะคือความพากเพียรพยายามมีจิตใจจดจ่อมุ่งมั่นทำให้เสร็จ จิตตะคือการมีจิตใจที่มุ่งมั่น ไม่ทอดทิ้งงาน และวิมังสาคือการหมั่นไตร่ตรองในสิ่งที่ทำลงไป และหมั่นพิจารณาในเรื่องดังกล่าวให้ลึกซึ้งยิ่ง ทำให้ดีขึ้นไปตลอดเวลา
"การฝึกอิทธิบาท 4 เรา สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก ยกตัวอย่างเช่น การเล่นของเล่น เมื่อเด็กเล่นเสร็จ อาจทิ้งของเกลื่อนกลาดให้พ่อแม่เป็นคนเก็บอันนี้ไม่ถูก ควรจะถามลูก ว่าเราจะเก็บของเล่นอย่างไรดี ให้ลูกได้ใช้ความคิดพร้อมๆ กับได้เรียนรู้ว่ากิจกรรมนี้จะเสร็จสิ้นได้ก็ต่อเมื่อเก็บของเรียบร้อย"
นอกจากนั้นแล้ว การฝึกอิทธิบาท 4 ยังช่วยให้พ่อแม่ลูกได้ใกล้ชิดกัน เมื่อใกล้ชิดกัน พ่อแม่ก็จะสามารถสอนให้ลูกรู้จักกฎระเบียบภายในบ้านรู้จักทำสิ่งต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน อีกทั้งคำพูดคำจา กิริยาท่าทางก็จะได้รับการกล่อมเกลาให้มีความประพฤติที่ดี สามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้อย่างปกติสุขด้วย
อริยสัจ 4 ธรรมะเยียวยาของเด็กทุกข์
ในสังคมปัจจุบันที่เด็กจะต้องเติบโตขึ้น พ่อแม่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความผิดหวัง และความทุกข์มากมายรอเขาอยู่เบื้องหน้า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กที่ไม่มีธรรมะยึดเหนี่ยวจิตใจก็คือ เขาจะไม่เข้าใจความทุกข์ที่เกิดขึ้น และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้นำมาซึ่งการอาละวาด ทำร้ายร่างกาย หรือหนักข้อขึ้นก็นำไปสู่การฆ่าตัวตาย เพิ่มปัญหาให้แก่สังคมอีกทอดหนึ่ง
อริยสัจ 4 ความจริง 4 ประการที่จะเข้ามาช่วยยกระดับจิตใจเด็ก ประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัยนิโรธ มรรค เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ในหัวใจของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี ในจุดนี้ คุณหมอชนิกาแนะนำว่า ควรจะเริ่มจากการสอนเมื่อลูกรู้จัก "ความทุกข์" นั่นเอง
อริยสัจ 4 คือการสอนให้ลูกได้รู้ว่าทุกข์คืออะไร และจะมีทางใดบ้างที่จะช่วยขจัดทุกข์ โดยพ่อแม่อาจสอนได้ง่าย ๆ ผ่านประสบการณ์จริงของลูกเช่น วันนี้ลูกไปโรงเรียนถูกคุณครูดุ หรือทะเลาะกับเพื่อนมา พ่อแม่อาจไต่ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ชวนลูกคุยให้เล่าถึงสิ่งที่ได้ประสบมา และช่วยกันวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหา ก่อนจะนำมาอธิบายให้ลูกได้เข้าใจ ในกรณีนี้อาจยกตัวอย่างประสบการณ์ของพ่อแม่ในอดีต และให้ลูกร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยก็เป็นได้
ส่วนแนวทางในการแก้ไข พ่อแม่อาจเป็นผู้ชี้แนะ หรือถามคำถามให้ลูกได้คิดเองว่าควรจะทำอย่างไร เช่น อยากให้เพื่อนพูดจากับลูกดี ๆ ก็ต้องพูดดี ๆ กับเขาก่อน เป็นต้น
สังคหวัตถุ 4 น้ำทิพย์ชโลมใจเด็ก
ธรรมะ ข้อสุดท้ายอันได้แก่ สังคหวัตถุ 4 ซึ่งประกอบด้วย ทาน (การเอื้อเฟื้อแบ่งปันของๆ ตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น) ปิยวาจา (การพูดด้วยถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน เว้นการเท็จ ส่อเสียดคำหยาบ เพ้อเจ้อ) อัตถจริยา (การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น) สมานัตตา (ประพฤติตนเสมอต้นเสมอปลาย) นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งหลักธรรมที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาแต่อดีต โดยเฉพาะการบริจาคทาน อย่างไรก็ดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคหวัตถุ 4 ในสังคมไทยปัจจุบันนี้ได้เลือนหายไปเป็นอันมาก อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและการมาถึงของระบอบทุนนิยม แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยาก หากครอบครัวจะปลูกฝังสังคหวัตถุ4 ลงในจิตใจเด็กเพื่อเรียกสิ่งดี ๆ ให้กลับคืนมา
เมื่อเอ่ยถึงทาน ทานก็คือการแบ่งปัน เราฝึกได้ตั้งแต่เล็ก ๆ เวลามีเพื่อนมา ก็แบ่งของเล่นเล่นด้วยกัน มีสัตว์เลี้ยงก็ให้อาหารสัตว์เลี้ยง พาลูกไปตักบาตร พาลูกไปคารวะผู้ใหญ่ แต่ก็ต้องสอนลูกว่าไม่ควรให้จนตัวเองลำบาก เช่น ได้เงินวันละ 10 บาท แต่ให้เพื่อนหมด ตัวเองอดอยาก นอกจากนั้นการสอนเรื่องทาน ยังช่วยให้พ่อแม่ฝึกเด็กเรื่องการบริหารเงินด้วย เช่น มีกระปุกออมสินให้ลูกนำเงินค่าขนมที่ได้มาเก็บออมไว้ส่วนหนึ่ง กินขนมเองส่วนหนึ่ง แบ่งให้ผู้อื่นบ้างในบางโอกาส
นอกจากนั้น แรงงานก็เป็นทานอย่างหนึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการให้ทานที่เป็นทรัพย์สิน เงินทอง เด็กที่มีจิตอาสา ช่วยงานคุณครู หรืองานโรงเรียน ก็เป็นทานอย่างหนึ่งเช่นกัน ส่วนปิยวาจาหรือก็คือการพูดโดยใช้ถ้อยคำไพเราะนุ่มนวล หากพ่อแม่ทำอย่างนี้ให้ลูกเห็นตั้งแต่เล็กๆ ลูกก็จะมีพฤติกรรมเหมือนพ่อแม่ไปด้วย
การสอนให้ลูกรู้จักสังคหวัตถุ 4 และทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ด้วยจิตใจ ทำด้วยความสม่ำเสมอเป็น สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอนมาแล้วกว่า 2,500 ปีและเป็นสิ่งที่คนไทยควรเรียนให้ลึก เรียนให้รู้ เรียนเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา เพราะจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้นั่นเอง คุณหมอชนิกากล่าวทิ้งท้าย
ภาพประกอบจาก
www.dmc.tv
ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของ
สสส. และ วิชาการดอทคอม
ที่มา
www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก :
http://www.vcharkarn.com/varticle/39910