ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
ปลุกเด็กยุค 2010 สนุกกับ "งานบ้าน"

ปลุกเด็กยุค 2010 สนุกกับ "งานบ้าน" หากพูดถึง "งานบ้าน" กลายเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเด็กยุคใหม่ไปเสียแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะทัศนคติอันเนื่องมาจากกระแสการแข่งขันในสังคม ซึ่งส่งผลให้พ่อแม่กลุ่มหนึ่ง ต่างผลักดันให้ลูกมุ่งเรียน เพื่อแย่งชิงโอกาสทางการศึกษา ขณะที่งานบ้านปล่อยให้ตกมาเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ พี่เลี้ยง หรือแม่บ้านแทน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ดร.วรนาถ รักสกุลไทย นักการศึกษาและกรรมการสมาคมอนุบาลแห่งประเทศไทย เผยถึงแนวโน้มของเด็กไทยในทศวรรษที่ 21 ว่า เด็กจะขาดวินัย และความรับผิดชอบ เพราะแม้แต่เวลาไปโรงเรียน พ่อแม่ยังช่วยแบกเป้ สะพายกระเป๋า ถือปิ่นโต ห้อยกระติกน้ำแทนลูก ดังนั้นถ้าพ่อแม่สอนให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเอง ถือเป็นจุดเริ่มต้นการสอนให้ลูกมีความรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่ มีระเบียบวินัย กล้าเผชิญกับปัญหา แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้

อย่างไรก็ดี หนึ่งในงานที่ช่วยฝึกหน้าที่ และความรับผิดให้เด็กได้ดีนั้น คือ "งานบ้าน" เพราะถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ลูกควรจะมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมในแต่ละวัย ฝึกให้เด็กเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิต เนื่องจากเด็กจะเรียนรู้ได้ดีผ่านการเล่น พ่อแม่ต้องทำให้งานบ้านเป็นเรื่องเล่นๆ สำหรับเด็ก ทำให้ลูกรู้สึกว่าอยากทำ และเชื่อว่าสามารถทำได้ โดยเริ่มจากเรื่องง่ายๆ เช่น การมีน้ำใจหยิบน้ำเย็นๆ มาให้ญาติผู้ใหญ่ดื่ม หรือให้กับคุณพ่อคุณแม่ที่กลับจากทำงานนอกบ้านมาเหนื่อยๆ

"เด็กอนุบาลวัย 3 ขวบขึ้นไป สามารถสื่อสารกับผู้ใหญ่อย่างเข้าใจได้ แต่ต้องใช้เวลา ซึ่งพ่อแม่ต้องมีความอดทนในการสอนงานบ้านให้กับลูก อย่าดูถูกความสามารถของลูก ให้เวลากับเขาได้ใช้ความพยายาม อาจมีการท้าทายแบบชักชวน เช่น การขัดรองเท้าว่าวันนี้ลูกขัดรองเท้าข้างซ้ายสะอาดกว่าข้างขวาอีกนะ แล้วจะทำยังไงให้มันสะอาดเหมือนกันดีค่ะ เด็กจะพยายามทำให้รองเท้าคู่นั้นสะอาดเหมือนกันได้" กรรมการสมาคมอนุบาลฯ อธิบาย

สำหรับข้อควรระวัง ดร.วรนาถย้ำว่า เมื่อต้องการให้ลูกมีส่วนร่วมในงานบ้าน พ่อแม่ไม่ควรใช้คำสั่งกับลูก เพราะเด็กจะคิดทันทีว่าถูกจำกัดอยู่ในกรอบ ทางที่ดีควรพูดชักชวนให้มาร่วมทำกิจกรรมด้วยความสนใจเอง โดยใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมกับเด็ก นอกจากนี้ควรมีคำชมให้ลูกทุกครั้ง เมื่อลูกทำความดี เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับลูก เช่น "วันนี้หนูเก่งจังเลยคะ หนูล้างจานได้ตั้ง 5 ใบ ได้เยอะกว่าเมื่อวานอีก" คำพูดเหล่านี้ จะช่วยให้เด็กมีกำลังใจ และเกิดความพยายามที่จะทำต่อให้ดีขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของเด็กอนุบาลรายนี้ได้ยกตัวอย่างจากครอบครัวของตัวเธอไว้เป็นแนวทางว่า สมัยก่อนครอบครัวเป็นชาวประมง มีกิจวัตรประจำวันหลังอาหารมื้อเย็นที่ทุกคนในบ้านต้องรับผิดชอบ ด้วยกันคือ นั่งล้อมวงกันเพื่อช่วยกันเก็บเศษไม้ใบหญ้าที่ติดมากับกุ้ง หอย ปู ปลาที่หามาได้ ทุกคนจะไม่คิดว่าเป็นการทำงานเลย

นอกจากนี้ ยังมีเกมที่ดึงเด็กให้สนุกกับงานบ้าน ชื่อว่า "งานบ้านตามล่ามหาสมบัติ" โดยเกมนี้ ดร.วรนาถ เล่าว่า คุณตาคุณยายมักจะชอบวางเงินไว้ตามใต้แจกัน หลังตู้เสื้อผ้า บนเก้าอี้ หลานๆ คนไหนขยันทำความสะอาด หรือว่าทำงานบ้านก็จะได้เงินไป เหมือนเป็นเกมตามล่ามหาสมบัติ สร้างแรงจูงใจในตัวเธอ และพี่น้อง ขยัน ที่จะทำงานบ้านอย่างเต็มที่ และสนุกในเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ในประเด็นนี้ ทีมงานได้พูดคุยกับครอบครัวที่ให้ลูกมีส่วนร่วมกับงานบ้าน เริ่มจากครอบครัวของ "รุ่งนภา นิ่มน้อย" หรือ "ฝน" คุณอาของน้องบีม วัย 3 ขวบ เล่าว่า เธอเลี้ยงหลานคนนี้มาตั้งแต่อายุได้ 2 เดือน ที่บ้านเป็นครอบครัวใหญ่ มี ย่า พ่อ แม่ น้า อา น้องชาย น้องสาว และหลาน (น้องบีม) โดยที่บ้านจะมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ส่วนมากผู้ใหญ่บ้านนี้จะออกไปทำงานนอกบ้าน ส่วนเด็กๆ จะอยู่ในความดูแลของเธอ ทั้งน้อง และหลาน ซึ่งหลักการเลี้ยงหลานของเธอ คือ ให้รู้จักหน้าที่ เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการเรียนรู้งานบ้านเป็นพื้นฐาน 

"ปกติจะสอนน้อง และหลานทำงานบ้าน เช่น ทำกับข้าว กวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้า ล้างจาน โดยเฉพาะบีม ที่ตอนนี้เริ่มหัดให้ช่วยเหลือตัวเอง ทั้งเก็บที่นอน กินข้าว โดยที่ไม่ต้องตามป้อน แต่ให้เขานั่งกินข้าวร่วมโต๊ะกับผู้ใหญ่ เพื่อฝึกให้เขาได้ใช้กล้ามเนื้อ ถึงแม้ว่าเขาจะกินหกเลอะเทอะเปอะเปื้อนบ้าง ก็ไม่ต้องไปตามเช็ดทำความสะอาด ให้เขาเก็บกวาดเอง เวลาทำผิด ก็จะไม่ตำหนิ ดุด่าเด็ก เนื่องจากเป็นสร้างความกดดันให้กับเขา แต่ตรงข้ามควรสอนให้เขารู้จักการช่วยเหลือหรือแบ่งปันงานในบ้านเพียงเล็กๆ น้อยๆ ให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเองและในสิ่งที่ได้ทำ" คุณอาฝนของหลานๆ เล่า

ไม่ต่างจาก "ครอบครัวเห็นการไกล" ถึงแม้จะเป็นครอบครัวที่มีแม่บ้านคอยดูแลจัดการงานในบ้านอยู่แล้ว แต่คุณแม่บี-บงกช เห็นการไกล ก็ให้ความสำคัญในการฝึกให้ลูกสาว (นีน่า) วัย 3 ขวบ 3 เดือนทำงานบ้าน

"ที่บ้านมีแม่บ้าน 2 คน แต่พี่ก็สอนให้น้องนีน่ามีความรับชอบในหน้าที่ของตัวเอง อย่างการเล่นของเล่น พี่ก็จะบอกกับลูกทุกครั้งว่า ถ้าน้องนีน่าเล่นแล้วเก็บให้เป็นระเบียบนะคะ พอกลับมาเล่นอีกครั้ง ลูกก็จะหาของเล่นได้ง่ายกว่า ซึ่งลูกเข้าใจและจดจำ สร้างเป็นนิสัย เพราะทุกครั้งที่เขาหยิบของมาใช้ เมื่อใช้เสร็จเขาจะเก็บเข้าที่อย่างเป็นระเบียบ" คุณแม่บีเผย

ถึงตอนนี้ เธอบอกว่าเริ่มให้ลูกสาวหัดทำงานบ้านแล้ว โดยเฉพาะ เวลาที่อากาศร้อนๆ น้องนีน่าจะอาสาไปช่วยแม่บ้านซักผ้า พับผ้า หรือตอนเช้าก็แต่งตัวไปโรงเรียนเอง แม้ว่าเด็กวัย 3 ขวบ จะทำได้ไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ แต่เธอก็เชื่อว่าจะเป็นการฝึกให้ลูกรู้จักหน้าที่ได้

แม้ว่า "งานบ้าน" จะถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็น แต่เป็นงานที่สอนให้เด็กรู้จักหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ถ้าพ่อแม่ทำให้เป็นเรื่องสนุก และเลือกทำอย่างเหมาะสม ถึงจะทำได้ไม่เต็มที่ อย่างน้อยลูกจะได้ซึมซับความรับผิดชอบ หน้าที่ และการช่วยเหลือคนอื่น ไม่เห็นแก่ส่วนตนเพียงอย่างเดียว


ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการ

ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/node/15496
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล