ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
ไซนัสอักเสบ...ใครคิดว่าเด็กไม่เป็น

ไซนัสอักเสบ...ใครคิดว่าเด็กไม่เป็น ไซนัสอักเสบเป็นโรคที่พบบ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ นอกจากจะก่อให้เกิดความรำคาญแล้วยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การได้ยินลดลง ตาบอด หรือฝีในสมองได้ครับ แต่ไซนัสไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หากคุณพ่อคุณแม่มีความเข้าใจ ก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดกับลูกเล็กได้ครับ

ต้นเหตุไซนัสอักเสบในเด็ก
ไซนัสอักเสบคือ โรคที่มีการอักเสบของเยื่อบุไซนัสตั้งแต่ 1 ไซนัสขึ้นไป โดยมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดไซนัสอักเสบคือ ปัจจัยที่ทำให้รูเปิดของไซนัสอุดตัน ได้แก่ การอักเสบของทางเดินหายใจส่วนต้นหรือโรคหวัด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไซนัสอักเสบในเด็กที่พบบ่อยที่สุด

สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ไซนัสอักเสบได้ก็ เช่น จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ริดสีดวงจมูก ผนังกั้นจมูกคด มีเนื้องอกหรือสิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูก ปัจจัยอื่นๆ เช่น มีการผลิตสิ่งคัดหลั่งในไซนัสเพิ่มขึ้น ขนกำจัดสิ่งแปลกปลอมทำงานผิดปกติ มีการติดเชื้อจากอวัยวะอื่น เช่น รากฟันอักเสบ และภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง 

ในเด็กเล็กมักเป็นหวัด บ่อยกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นไข้หวัดจากเชื้อไวรัสประมาณ 6-8 ครั้งต่อปี และประมาณร้อยละ 10 ของเด็กเหล่านี้ จะมีไซนัสอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมา ซึ่งส่วนเชื้อที่เป็นสาเหตุของไซนัสอักเสบในเด็กที่สำคัญได้แก่ 

- เชื้อไวรัส เป็นเชื้อกลุ่มเดียวกับที่ทำให้เกิดไข้หวัด พบบ่อยที่สุดในโรคไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดมักจะมีอาการและอาการแสดง ซึ่งไม่สามารถแยกว่าเป็นโรคไซนัสอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสได้

- เชื้อแบคทีเรีย มักเกิดตามหลังการติดเชื้อไวรัสร้อยละ 80 และเกิดตามหลังการอักเสบ จากภูมิแพ้ร้อยละ 20 

- เชื้อรา พบน้อยมากในเด็ก มักพบในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง 


ชนิดของไซนัสอักเสบในเด็กแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
  1. ไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลัน หมายถึง การอักเสบของเยื่อบุไซนัสที่เป็นมาน้อยกว่า 4 สัปดาห์ และมีอาการหายเป็นปกติหลังการอักเสบในแต่ละครั้ง
  2. ไซนัสอักเสบชนิดเรื้อรัง การอักเสบชนิดนี้จะมีอาการต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไป โดยทั่วไปอาการจะไม่รุนแรงเท่าการอักเสบชนิดเฉียบพลัน
  3. ไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลันที่มีการกลับเป็นซ้ำ หมายถึง การอักเสบมีการกลับเป็นซ้ำมากกว่า 4 ครั้งต่อปี แต่ละครั้งเป็นนานกว่า 7 วันแต่ไม่เกิน 4 สัปดาห์ และการอักเสบหายไปอย่างสมบูรณ์ทุกครั้ง

วิธีสังเกตอาการไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบในเด็กส่วนใหญ่มักเกิดตามหลังไข้หวัด โดยการวินิจฉัยนั้น แพทย์จะอาศัยการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นสำคัญ เด็กเล็ก มักมีอาการของไข้หวัดนำมาก่อน ได้แก่ อาการ ไข้ ไอ น้ำมูก ข้อสังเกตคือ อาการของไข้หวัดดังกล่าวแย่ลงหรือเป็นนานมากกว่า 7-10 วัน มีน้ำมูกไหลข้น คัดจมูก ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น อาจจะมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ก็ได้ ไอจากการที่มีเสมหะไหลลงคอ โดยเฉพาะตอนนอนในเวลากลางคืน ซึ่งพบบ่อยในเด็กเล็ก

เด็กโตอาจมีอาการปวดบริเวณหน้าผากและหัวคิ้ว จมูกไม่ได้กลิ่น ถ้ามีอาการรุนแรงจะมีน้ำมูกไหลข้นเขียวเป็นหนอง กลิ่นเหม็น และมีไข้สูงมากกว่า 39๐C ดังนั้นในเด็กเล็กๆ ถ้าป่วยเป็นหวัดนานติดต่อกันหลายวัน หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกน้อยจะเป็นไซนัสอักเสบหรือไม่ ควรพาไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์จะต้องแยกโรคไซนัสอักเสบออกจากไข้หวัดธรรมดา โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และผู้ป่วยเด็กที่มีสิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูก

ในทางปฏิบัติแพทย์จะใช้อาการที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นร่วมกับอาการแสดงจากการ ตรวจร่างกายอย่างละเอียดเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญ มีน้อยรายในผู้ป่วยเด็กที่แพทย์จำเป็นต้องสั่งการตรวจพิเศษ เช่น การถ่ายภาพรังสีแบบธรรมดาบริเวณไซนัส การถ่ายภาพรังสีบริเวณไซนัสด้วยวิธีคอมพิวเตอร์หรือด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ และการเจาะดูดไซนัสเพื่อส่งเพาะเชื้อ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยเพิ่มเติม แต่ละวิธีก็มีข้อจำกัดต่างกันในการแปลผล การตรวจพิเศษเหล่านี้จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และผู้ป่วยแต่ละราย เป็นสำคัญ 

วิธีดูแลเมื่อลูกเป็นไซนัสอักเสบ
สำหรับการรักษาโรคไซนัสอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียที่มักเป็นสาเหตุของไซนัส อักเสบ ชนิดและขนาดของยาปฏิชีวนะรวมทั้งระยะเวลาของการรักษา แพทย์จะเป็นผู้เลือกตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาปฏิชีวนะควรแจ้งแพทย์ให้ทราบด้วยทุกครั้ง 

รวมทั้งให้ยาที่มีฤทธิ์ลดบวมของเยื่อบุโพรงจมูก ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือหรือสารละลายที่แพทย์สั่งให้ด้วยลูกยางหรือหลอดฉีดยา วิธีนี้เหมาะกับเด็กโตที่สามารถทำตามคำสั่งได้ เพื่อส่งเสริมให้ทางระบายของไซนัสดีขึ้น นอกจากนี้อาจมียาเสริมอื่นๆ อีก เช่น ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ยาละลายเสมหะ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้สั่งให้ตามความเหมาะสม 

การรักษาโรคเป็นการรักษาพื้นฐานที่สาเหตุหรือต้นตอส่งเสริมให้เป็นไซนัส อักเสบควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะในรายที่เป็นภูมิแพ้ รวมทั้งให้คำแนะนำเรื่องการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นหรือสารก่อภูมิแพ้เพื่อไม่ ให้โรคภูมิแพ้กำเริบบ่อยๆ เช่น พยายามหลีกเลี่ยงหรือกำจัดไรฝุ่นบ้าน ควันบุหรี่ การติดเชื้อจากคนรอบข้าง การอยู่ในที่ชุมชนแออัด เป็นต้น

โดยทั่วไปโรคไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลันจากเชื้อแบคทีเรีย สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ในรายที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล หรือมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายซึ่งพบน้อยมากในเด็ก แพทย์ก็จะให้การรักษาเพิ่มเติมโดยการผ่าตัดซึ่งมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย

สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ หากลูกป่วยเป็นโรคไซนัส คุณพ่อคุณแม่ต้องติดตามการรักษาเพื่อประเมินผลของการรักษาตามที่แพทย์นัดทุกครั้งนะครับ

“ไซนัส” เป็นโพรงอากาศที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะส่วนใบหน้า มีทั้งหมด 4 คู่ คู่แรกอยู่บริเวณโหนกแก้ม คู่ที่สองอยู่บริเวณหัวคิ้วระหว่างลูกตา คู่ที่สามอยู่บริเวณหน้าผากและคู่สุดท้ายอยู่บริเวณกลางกะโหลกศีรษะ โพรงไซนัสทำให้กะโหลกศีรษะน้ำหนักเบา ช่วยปรับอุณหภูมิและความชื้นของอากาศก่อนเข้าสู่ปอดและยังช่วยให้เกิดความก้องกังวานของเสียงอีกด้วย 

ภายในโพรงไซนัสประกอบไปด้วยเยื่อบุ ขนกำจัดสิ่งแปลกปลอมและมีการผลิตมูกที่มีแอนติบอดีช่วยกันสิ่งสกปรก รวมทั้งเชื้อโรคที่เข้ามาในไซนัส ไม่ให้ลุกลามเข้าไปในเยื่อบุโพรงไซนัส ปกติโพรงไซนัสจะมีรูเปิดติดต่อโดยตรงกับโพรงจมูก ขนกำจัดสิ่งแปลกปลอมจะทำหน้าที่ขับมูกภายในไซนัสออกสู่โพรงจมูก เมื่อใดก็ตามที่มีการอุดตันของรูเปิดดังกล่าว ก็จะทำให้เกิดการคั่งค้างของมูกภายในโพรงไซนัส ซึ่งเป็นภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค จึงทำให้เกิดการอักเสบของไซนัสตามมา 

ในเด็กเล็กๆ ถ้ามีการอักเสบของไซนัส มักเป็นไซนัสบริเวณโหนกแก้มและหัวคิ้วระหว่างลูกตา เนื่องจากไซนัสที่เหลือยังเจริญไม่เต็มที่

ข้อมูลจาก : http://www.vcharkarn.com/varticle/40870
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง