ใช้ "สื่อภาพ" ฝึกสมองลูกอย่างไร? ให้ได้ผล "เด็กสามารถเรียนรู้ และจดจำสิ่งต่างๆ ได้ดี โดยใช้ภาพเป็นสื่อ เพราะสมองของมนุษย์จะประมวลผลการรับรู้ออกมาเป็นภาพ จากนั้นจะส่งต่อไปเป็นตัวแปรอื่นที่เชื่อมโยงกับประสาทสัมผัสทางร่างกาย"
"ดร.วิริยา อุดมผล" หรือ "ครูดี้" ประธานกรรมบริหารสถาบันพัฒนาทักษะการใช้สมองชิจิดะ บอกต่อถึงความสำคัญในการใช้ภาพเป็นสื่อเสริมการเรียนรู้ หลักคิดที่ทางสถาบันฯ คิดค้นเป็นแนวทางสอนเด็กให้เกิดความรู้บนพื้นฐานของความสุข สวนทางกับการเรียนในปัจจุบัน ที่เร่งพัฒนาแต่สมองซีกซ้ายมากเกินไป เด็กจึงใช้สมองซีกเดียวที่มีไม่ถึงร้อยละ 50 ของสมองทั้งหมด ซึ่งตามหลักแล้ว ต้องใช้อย่างเท่าๆ กันประมาณร้อยละ 80
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่แรกเกิด โดยการพัฒนาสมองทั้ง 2 ซีก ครูดี้เผยแนวทางว่า ภาพเป็นสื่อสำคัญสำหรับเด็ก วิธีการใช้ภาพ ควรผสมกับการเล่าเรื่อง คือ ให้เด็กๆ ดูภาพแล้วเล่าเป็นเรื่องราวตามจินตนาการ ในขณะที่พ่อแม่ หรือผู้สอนไม่ต้องบอกรายละเอียดของสิ่งเหล่านั้นอย่างครบถ้วน เช่น ให้เด็กๆ จินตนาการสีของดวงดาว ซึ่งเด็กแต่ละคนจะจินตนาการภาพสีของดวงดาวได้แตกต่างกัน
"การจินตนาการเป็นการใช้สมองซีกขวา แต่การพูดโต้ตอบเป็นการใช้สมองซีกซ้าย ซึ่งการที่เด็กได้ใช้สมองสองซีกในเวลาเดียวกัน ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองที่ดี และทำให้เด็กดึงความสามารถที่มีในตัวออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่" ครูดี้กล่าว
ด้านการฝึกเชื่อมโยงอย่างสร้างสรรค์ ครูดี้บอกว่า เป็นเทคนิคฝึกความจำในกระบวนการเรียนรู้ เช่น นำรูปภาพมาเรียงกัน 20 รูปภาพ จากนั้นให้เด็กใช้รูปภาพในการเชื่อมโยงเป็นเรื่องราว 1 เรื่อง ซึ่งสามารถช่วยให้เด็กจำได้ดีกว่าการที่จะนำเอารูปภาพมาให้ดูทีละภาพ แล้วให้บอกว่ามีรูปภาพอะไรบ้าง ซึ่งวิธีหลังนี้อาจจะยากกว่าการเชื่อมโยงเป็นเรื่องราว และอาจได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน หรือไม่สามารถบอกได้ตามลำดับ
นอกจากนี้ การฝึกป้อนข้อมูลอย่างเร็วจำนวนมากเข้าสู่สมองซีกขวาให้เด็ก โดยการใช้รูปภาพหรือตัวอักษร เป็นการเพิ่มพูนคำศัพท์ให้กับเด็กๆ และเชื่อมโยงสมองซีกขวากับสมองซีกซ้าย เพราะการเรียนรู้ของสมองซีกขวาจะสามารถใช้ความเร็วเป็นสื่อได้ ฝึกความทรงจำเสมือนภาพถ่าย ( Photographic Memory) ที่เป็นพื้นฐานของการอ่านเร็ว ฝึกเด็กให้จดจำตำแหน่งของรูปภาพ ที่ช่วยในการจดจำตำแหน่งที่ตั้งต่างๆ เช่น เวลาที่เราทำข้อสอบ เมื่ออ่านคำถามจบ จะรู้ได้เลยว่าคำตอบของโจทย์ข้อนี้อยู่ในส่วนไหนหรือหน้าไหนของหนังสือ
กิจกรรมสื่อภาพสร้างจินตนาการเด็ก
อย่างไรก็ดี เรื่องของภาษาเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน พ่อแม่สามารถสอนให้ลูกเรียนรู้เรื่องการผสมคำ เกิดเป็นคำศัพท์ใหม่ๆ และส่งเสริมความสามารถด้านการใช้ภาษา เมื่อเด็กสามารถสื่อสารด้วยภาษาที่ถูกต้อง กระบวนการเรียนรู้ของเด็กจะมีประสิทธิภาพ และพัฒนาต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ระดับสูงขึ้นต่อไป
"บางครั้งเรามักจะเห็นเด็กเล็กที่เริ่มหัดพูด มักจะมีการออกเสียงไม่ถูกต้อง ผิดเพี้ยนไป การที่พ่อแม่ปล่อยปะละเลยกับปัญหาเล็กน้อยที่มองข้ามนี้ และคิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของเด็ก พอโตขึ้นก็จะเป็นปกติได้ ความเชื่อนี้บอกได้เลยว่า "ผิด" ดังนั้นพ่อแม่ต้องสอนให้เขาพูดชัดถ้อยชัดคำ เพื่อการสื่อสารที่ถูกต้องและตรงความหมาย เพราะเป็นเรื่องง่ายมาก ถ้าเริ่มฝึกตั้งแต่เด็กๆ" ครูดี้กล่าว
ทิ้งท้ายนี้ ครูดี้ ฝากถึงพ่อแม่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของลูกว่า ไม่ควรคาดหวังกับลูกมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกมีความรู้ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด เป็นคำถามที่ทิ่มแทงใจพ่อแม่หลายคนที่พยายามยัดเยียดความเป็นตัวตนให้กับลูก เด็กจะสามารถเรียนด้วยได้ดี เมื่อเด็กได้รับความรักความอบอุ่นอยู่ในใจ และเมื่อใดที่เด็กอยู่ในความกดดัน เด็กจะหลั่งสารชนิดหนึ่งออกมาต่อต้านการเรียนรู้ที่ส่งผลให้สมองเด็กไม่เกิดการพัฒนาในอนาคต
ข้อมูลจาก :
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000068554