ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
ไขเคล็ด 20 วิธี เป็นพ่อแบบ "อู้ฮู...หนูรักพ่อจัง"

ไขเคล็ด 20 วิธี เป็นพ่อแบบ "อู้ฮู...หนูรักพ่อจัง" บทบาทคนในบ้าน โดยเฉพาะ "พ่อ" ถือเป็นคนสำคัญ ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อทัศนคติ และการเติบโตของลูก แต่ถึงกระนั้น บทบาทพ่อในสังคมไทย ยังเป็นบทบาทของผู้นำในเชิงการหาเลี้ยงครอบครัวเป็นหลัก ส่วนบทบาทการเลี้ยงลูก จะเป็นหน้าที่ของแม่ ด้วยช่องว่างนี้เอง ทำให้พ่อส่วนใหญ่วางตัวไม่ถูก ตลอดจนไม่เข้าใจบทบาท และการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมกับลูก จนบางครั้งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกมีช่วงโหว่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อขยับความไกล ให้เข้ามาใกล้ ทีมงาน Life & Family ได้รับคู่มือที่น่าสนใจจากโครงการ "ใกล้กันอีกนิดนะพ่อ" กับคู่มือ 20 วิธีเป็นพ่อแบบ "อู้ฮู...หนูรักพ่อ" ที่จัดทำภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันราชานุกูล (กรมสุขภาพจิต) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว โดยหวังให้พ่อทั่วไทย ใช้เป็นคู่มือง่ายๆ เชื่อมสัมพันธ์รัก และสร้างครอบครัวให้อบอุ่น ดังนี้

1. ยิ่งคุย ยิ่งใกล้ ยิ่งเข้าใจ ยิ่งรัก
เทคนิคคุยกับลูกให้สนุก และสนิทตามช่วงวัย ลูกวัยเล็ก เริ่มหัดพูด และเรียนรู้ภาษาจากพ่อแม่เป็นหลัก พ่อควรชวนลูกคุยเพื่อจะได้รู้จักสิ่งต่างๆ รอบตัว เมื่อลูกโตขึ้น เริ่มรู้จักถูกผิด ให้พ่อเล่านิทาน หรืออ่านหนังสือให้ฟัง แล้วแทรกเรื่องความดี ความชั่วให้ลูกเรียนรู้ พอเข้าสู่วัยเรียน เริ่มเป็นนักแก้ปัญหา พ่อคือคนสำคัญที่ช่วยสอนลูกให้เป็นนักวางแผน และแก้ปัญหา เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น ลูกจะเริ่มเรียนรู้ชีวิต และสังคม พ่อควรสอนชีวิตทางอ้อมผ่านการเล่าประสบการณ์ต่างๆ เป็นการคุย และแลกเปลี่ยนกับลูก ไม่ว่าจะเรื่องเรียน คบเพื่อน และการใช้ชีวิต

2. รักนะ (ต้อง) แสดงออกด้วย
ลูกวัยเล็กอยากให้พ่อแม่โอบกอด หรือสัมผัส ถ้าพ่อได้อุ้ม ได้ป้อนข้าว เปลี่ยนผ้าอ้อม จะช่วยให้เกิดความใกล้ชิดผูกผันตั้งแต่แรกๆ ของชีวิตลูก พอเข้าสู่วัยเด็กเล็ก พ่อควรเป็นคนช่วยเปิดโลกกว้างให้ลูก เช่น พาออกไปเดินเล่นนอกบ้าน และชี้ชวนให้ลูกรู้จักสิ่งต่างๆ เมื่อลูกเข้าสู่วัยเรียน ควรพาไปล่องเรือ เพราะลูกจะชอบมาก ถือเป็นประสบการณ์ และความทรงจำที่ดีไปจนโต และถ้าลูกเข้าสู่วัยรุ่น เป็นวัยที่ลูกเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น พ่อควรฝึกถามความเห็น แต่ไม่ควรทิ้งการโอบกอด สัมผัส ลูบศีรษะ เพราะจะช่วยให้ลูกรู้สึกผูกพันไม่เสื่อมคลาย

3. โรงเรียนลูก = โรงเรียนเรา
เมื่อลูกโตเข้าสู่วัยเรียน เวลาส่วนใหญ๋จะอยู่ที่โรงเรียน พ่อควรถือโอกาสไปประชุมผู้ปกครองชั้นเรียน ทำความรู้จักกับครูของลูก หรือดีที่สุด คือการไปพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก เหตุการณ์แบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย อย่างมาก 2 ครั้งต่อปี ซึ่งไม่ควรมองเป็นเรื่องเสียเวลา แต่เป็นโอกาสที่จะได้รู้จักโรงเรียนของลูก รู้จักครู ผู้ปกครองคนอื่นๆ รวมทั้งรู้จักเพื่อนของลูก

4. บันได 3 ขั้น จัดการให้ลูก เมื่อถูกรังแก
บันไดขั้นที่ 1 ตั้งสติ และรับฟังเรื่องราวให้ดีก่อน อย่าเพิ่งเร่งร้อนจัดการด้วยอารมณ์ ขั้นที่ 2 ให้ลูกคิดว่า เขาควรจะแก้ปัญหาอย่างไร โดยไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ พ่อควรให้ลูกได้คิด และรู้จักวิธีการก่อนลงมือแก้ปัญหา และขั้นที่ 3 เมื่อลูกต้องการความช่วยเหลือ เช่น ทะเลาะกันแล้ว ลูกรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม ครูไม่เข้าใจ พ่อต้องไม่ลังเลที่จะเข้าไปเป็นผู้ช่วยทันที (โดยไม่เข้าข้างลูก) และทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจจนลงเอยได้ด้วยดี

5. คุณพ่อแสนสนุก (ชวนลูกเล่น พาลูกเที่ยว)
การไม่ชวนลูกเล่น หรือเที่ยว เดี๋ยวเวลาผ่านไปจนลูกโต และไม่อยากใช้เวลากับเราแล้ว จะมาเสียใจ และเสียดายไม่ได้นะครับ ดังนั้น ควรจัดเวลากับเรื่องนี้อย่างจริงจัง และสม่ำเสมอ เล่นกับลูกทุกวัน วางโปรแกรมการเที่ยวไว้ล่วงหน้า หรือระบุวันเที่ยวลงในปฏิทินเลยยิ่งดี อย่างไรก็ดี พ่อบางคนสงสัยว่า แล้วจะเล่นอะไรกับลูกดี ดูได้จากช่วงวัย 0-3 ขวบ เด็กจะชอบเลียนแบบ ชอบสำรวจสิ่งแวดล้อม และร่างกายตัวเอง 3-5 ขวบ ชอบเล่นสร้างสรรค์ ชอบเรื่องการทดสอบ อยากรู้อยากเห็นสิ่งต่างๆ 5-8 ขวบ เป็นวัยกำลังโต จะชอบเที่ยวสำรวจโลกกว้าง

6. "3 ต้อง 2 ไม่" ดูทีวีกับลูกให้สนุก-สร้างสรรค์
ต้องที่ 1 ต้องกำหนดเวลาให้ลูก โดยตกลงกันว่า จะดูวันละเท่าไร ไม่ใช่ดูไปเรื่อยๆ ต้องที่ 2 ต้องช่วยลูกเลือก และตกลงกันว่า จะดูรายการอะไร ไม่ใช่ให้ดูอะไรก็ได้ และต้องที่ 3 ต้องดูกับลูกบ้าง เพราะระหว่างที่ดูก็สนุกด้วยกัน ดูจบแล้วก็ยังคุยกันได้รู้เรื่อง ที่สำคัญ ถ้าบังเอิญมีเนื้อเรื่อง หรือภาพไม่เหมาะสม พ่อยังมีโอกาสบอก หรือพูดคุยกับลูกได้

ส่วน "2 ไม่" ไม่ที่ 1 ไม่มีโทรทัศน์ในห้องลูก เพราะจะทำให้ควบคุมเวลา และคุณภาพในการดูทีวีไม่ได้ ไม่ที่ 2 ไม่มีสื่อร้ายในบ้าน เช่น วีซีดี หรือดีวีดีที่ไม่เหมาะสมอย่างหนังโป๊ หรือหนังรุนแรงดุเดือดเลือดพล่าน

7. พ่อช่วยสอนการบ้านลูกได้...ง่ายนิดเดียว
พ่อควรตรวจการบ้านลูกทุกวัน เพื่อฝึกลูกทำให้เสร็จ ไม่คั่งค้าง เป็นการฝึกวินัย และความรับผิดชอบ ตลอดจนฝึกเวลาทำการบ้านที่ชัดเจน และทำตามเวลานั้นสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม วิธีทำการบ้านให้เป็นเรื่องสนุก พ่อควรใช้ของจริงที่มีอยู่รอบตัว มาประกอบการอธิบาย จากนั้นชมเชยให้กำลังใจลูก และที่สำคัญ เมื่อรู้สึกตัวว่า วันนี้อารมณ์ไม่ดี หรือเหนื่อยจัง ควรเปลี่ยนให้คุณแม่มาสอนแทน จะได้ไม่เผลออารมณ์เสียใส่ลูกขณะสอน

8. ชวนลูกช่วยงานบ้าน งานสุดเท่ของคนเป็นพ่อ
เริ่มไม่ยาก โดยเริ่มที่ตัวพ่อ คือ ต้องทำงานบ้านให้ลูกเห็นก่อน จากนั้นชวนลูกมาทำงานบ้านด้วยกัน ตั้งแต่ลูกยังตัวน้อย เริ่มจากทำงานง่ายๆ และพยายามทำให้เป็นเรื่องที่น่าสนุก เช่น ร้องเพลง หรือเปิดเพลงสนุกๆ ไปด้วย หรือถ้าบ้านไหนมีสมาชิกเยอะหน่อย ก็จัดเป็นทีม หรือให้ทำงานเป็นคู่ เพิ่มความสนุกได้ไม่น้อย ซึ่งงานที่ลูกทำ ควรเลือกให้ทำ 1-2 อย่างเท่านั้น และอย่าเปลี่ยนไปมา ลูกจะได้ตั้งใจทำให้สำเร็จ ทั้งนี้ อย่าให้เงินลูกเพื่อตอบแทนการช่วยงานบ้าน ควรให้เป็นคำชม คำแนะนำ และกำลังใจจะดีกว่า

9. พาลูกเรียนรู้ธรรมนำชีวิต
เริ่มจาก คุณพ่อควรเป็นแบบอย่างทางคุณธรรมให้ลูก เพราะลูกเฝ้ามอง และทำตามอยู่ตลอดเวลา จัดสิ่งแวดล้อม และสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้ลูกได้ดู ได้รู้ ได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัส และได้ปฏิบัติตามหลักศาสนา โดยมีศิลปะในการสอน เช่น สอนแบบอ้อมๆ และเชื่องโยงให้ลูกเห็นว่า ธรรมะ เป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เช่น สอนผ่านตัวการ์ตูน หรือเนื้อเรื่องในนิทานที่เด็กๆ ชอบฟังอยู่แล้ว

10. จะลูกสาว หรือลูกชายก็ต้องการพ่อเหมือนกัน
สำหรับลูกชาย พ่อเป็นต้นแบบของความเป็นพ่อ และความเป็นผู้ชายที่ดี สิ่งเหล่านี้ จะซึมซับในใจของลูก และเป็นต้นแบบให้กับเขาต่อไป ส่วนลูกสาว ถึงจะมีแม่เป็นต้นแบบหลัก แต่ก็ได้ลักษณะที่ดีจากพ่อด้วย คือ ลูกสาวจะได้เรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ที่ไว้ใจกับคนต่างเพศ ผ่านความสัมพันธ์กับพ่อ พี่ชาย และน้องชายเป็นด่านแรก ถ้าสิ่งเหล่านี้ดี เด็กก็จะกล้ามีปฏิสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ การเป็นพ่อที่ดี ลูกสาวจะใช้เป็นเกณฑ์เลือกคู่ครองในอนาคตด้วย

11. ร่วมด้วยช่วยเลี้ยงตั้งแต่ลูกยังเล็ก
การที่พ่อช่วยเลี้ยงลูกตั้งแต่ลูกยังเล็ก ทำให้พ่อลูกมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่น ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไร ยิ่งดี เพราะลูกจะจำพ่อได้ตั้งแต่อายุเพียง 6 เดือน นอกจากนี้ การช่วยกันเลี้ยง นอกจากลูกจะได้ใกล้ชิดกับพ่อแม่แล้ว ยังช่วยให้พ่อกับแม่ มีความเข้าใจกันมากขึ้น ทำให้แม่รู้สึกว่า เธอยังมีพ่อเป็นกำลังใจเคียงบ่าเคียงไหล่อยู่ข้างๆ เสมอ

12. ฝึกลูกมีวินัย
เริ่มฝึกลูกได้ ตั้งแต่ 2 ขวบ คือ พ่อแม่ทำอะไร ชวนลูกทำด้วย และชมลูกทุกครั้งที่ทำสำเร็จ ซึ่งเขาจะทำอย่างอยากรู้ และสนุกก่อน จนค่อยๆ พัฒนาเป็นนิสัย พอเข้าสู่วัยเรียน ลูกจะทำเป็นหน้าที่โดยไม่รู้สึกลังเลใจเลย ขณะเดียวกัน ต้องสอนให้ลูกรู้จักแบ่งเวลา รักษาเวลา หลังจากกลับโรงเรียน ต้องรู้ว่าช่วงไหนเล่น ช่วงไหนดูทีวี ตอนไหนทำการบ้าน และตอนไหนต้องเข้าห้องนอน ตลอดจนสอนลูกรู้จักประหยัด เช่น เมื่อแปรงฟัน ให้ใช้แก้วรองน้ำ เปิดแอร์ให้เย็นพอสมควร ตักอาหารให้พอดี กินให้หมดจาน ลูกจะค่อยๆ เรียนรู้ และซึมซับได้

13. รับหน้าที่แทนแม่ พ่อทำได้ชัวร์
มีการศึกษามากมายยืนยันว่า เด็กๆ ที่มีพ่อเข้ามาช่วยแม่ดูแล หรือเลี้ยงลูกตั้งแต่เล็ก จะมีพัฒนาการที่ดีในการเรียนรู้ ซึ่งมักประสบความสำเร็จในการเรียน และในชีวิต ยิ่งพ่อเข้ามาดูแลลูกตั้งแต่เล็กเร็วเท่าไร ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างพ่อกับลูก จะยิ่งเป็นไปได้ด้วยดีเท่านั้น

14. เมื่อพ่อพอเพียง ลูกจึงเพียงพอ
ลูกเรียนรู้เรื่องราวประหยัดจากพ่อได้มาก โดยผ่านการกระทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง แล้วแนะนำให้ลูกทำ โดยเฉพาะการให้เงินค่าขนมลูก ต้องให้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ลูกรู้จักค่าของเงิน ขณะเดียวกัน การซื้ออะไรต้องมีเหตุมีผล ไม่ใช่ลูกอยากได้อะไรก็ซื้อให้หมด

15. พ่อคือต้นแบบของการให้-มีจิตอาสา
การสอนให้ลูกรู้จักแบ่งปัน ต้องเริ่มจากการแบ่งปันในครอบครัว ฉะนั้นทุกครั้งที่ซื้อของ พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องซื้อให้ทุกคนเท่าทันหมด เด็กจะได้เรียนรู้ถึงการแบ่งปัน เช่น ซื้อฟุตบอลให้ 1 ลูก โดยแบ่งกันเล่น ซึ่งเด็กจะทะเลาะกันบ้าง พ่อแม่ต้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้ถูกวิธี จากนั้นเมื่อเด็กเรียนรู้จากคนในครอบครัว จึงค่อยๆ เริ่มแบ่งปันให้กับเพื่อนๆ เช่น เพื่อนข้างบ้าน หรือเพื่อนที่โรงเรียน โตขึ้นจะเป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ต่อไป

16. พิชิตใจลูก ทำได้ไม่ยาก
การจะพิชิตใจลูกได้ดีนั้น พ่อต้องไม่พลาดเรื่องราวสำคัญในชีวิตลูก มีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูก (ตั้งแต่เกิดเลยยิ่งดี) เล่นกับลูกให้สนุกเต็มที่ และเล่นอย่างสม่ำเสมอ เล่าประสบการณ์ตอนเป็นเด็กให้ลูกฟัง พ่อทำอะไร ให้ลูกทำด้วย และสุดท้าย บอกรักลูกด้วยคำพูด และทำให้ลูกรู้ว่า พ่อรักนะ ผ่านการหอมแก้ม สัมผัส และโอบกอดตามความเหมาะสม

17. เป็นคนแรกที่ลูกนึกถึงเสมอ เมื่อมีปัญหา
พ่อต้องเป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังทุกปัญหาของลูก โดยไม่รีบสอน หรือตำหนิ แล้วลูกจะไว้ใจ กล้าที่จะเล่าให้พ่อฟังได้ทุกเรื่อง แล้วจึงแก้ปัญหา ซึ่งตอนนั้นพ่อค่อยแนะนำ ให้ความเห็นกับลูก หรือให้ลูกคิดแก้ปัญหาเอง โดยพ่อช่วยเสริม ช่วยเติมก็ได้ ที่สำคัญ ลูกต้องมาเป็นที่หนึ่ง ทำให้ลูกรู้ว่า พ่อพร้อมเสมอสำหรับลูกทุกที่ ทุกเวลา จะคอยรับฟังทุกข์ สุข ให้คำแนะนำ ช่วยแก้ปัญหา แล้วคราวนี้ พ่อก็จะมาเป็นที่หนึ่งในใจลูกได้อย่างง่ายดาย

18. พ่อคือครู สอนลูกรู้จักบทบาททางเพศ
เริ่มจากสอนในเรื่องความใกล้ชิด เช่น พ่อแม่โอบกอดกัน ลูกก็ได้เห็นความใกล้ชิด ซึ่งเป็นบทบาททางเพศที่เหมาะสม สอนให้ลูกรู้จักความเป็นส่วนตัว ทั้งของเรา และของคนอื่น เช่น ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าในที่มิดชิด จากนั้นสอนเรื่องเพศที่เหมาะสมกับลูก เพื่อปกป้องตัวเอง และมีสัมพันธภาพที่ไม่เกินขอบเขต เช่น ลูกชายก็เรียนรู้ว่า ผู้ชายต้องทำอย่างไร ส่วนลูกสาวก็เรียนรู้ว่า ผู้ชายที่ไว้วางใจได้ควรเป็นแบบนี้ ซึ่งคนแรกก็คือพ่อ เป็นการวางรากฐานสัมพันธภาพทางเพศในระยะยาว

19. ปลอดภัยไว้ก่อน...พ่อสอนไว้
สำหรับเรื่อง "การเดินทาง" พ่อควรสอนเรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง นั่งรถยนต์ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย นั้งมอเตอร์ไซต์ต้องสวมหมวกกันน็อค ถ้าเที่ยวทางเรือ ต้องสวมเสื้อชูชีพ ด้านการกิน ให้ลูกรู้จักเลือกรับประทานอาหารที่สะอาด สอนและเป็นแบบอย่างให้ลูกรู้จักวันหมดอายุของอาหารเสมอ นอกจากนี้ เรื่องของคน พ่อควรเตือนสติลูกให้ระวังคนแปลกหน้า และการพลัดหลง อย่าวางใจคนแปลกหน้าเป็นอันขาด

20. "พ่อ" คือผู้นำในการดูแลสุขภาพ
เป็นแบบอย่างให้ลูกในการปฏิบัติตาม "หลักสุขบัญญัติ 10 ประการ" เป็นกิจวัตรคือ ดูแลรักษาร่างกาย และของใช้ให้สะอาด รักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกวิธี ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร และหลังการขับถ่าย กินอาหารสุก สะอาด ปราศจากสารอันตราย หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด งดสูบบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน และการสำส่อนทางเพศ สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น ป้องกันอุบัติภัยด้วยความไม่ประมาท ออกกำลังสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพประจำปี ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ และมีสำนึกต่อส่วนรวมร่วมสร้างสรรค์สังคม

ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000058426&Page=2
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง