รู้ทันปัญหา "เด็กนอนกรน" ก่อนพัฒนาการลูกจะเสื่อมถอย! สมาธิสั้น พฤติกรรมก้าวร้าว ซนมากผิดปกติ เรียนรู้อะไรได้ช้า อาการเหล่านี้คงไม่มีคุณพ่อคุณแม่คนใดปรารถนาให้เกิดกับลูกน้อยอย่างแน่นอน แต่คุณพ่อ คุณแม่รู้หรือไม่ว่า อาการเหล่านี้ เด็กทุกคนมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็น หากลูกของคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการ "นอนกรน"
เรื่องภาวะการนอนกรนในเด็ก (Snoring Children) เสียงกรนเล็กๆ ที่กลายเป็นปัญหาหนักอกของบรรดาคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย ทางการแพทย์ยืนยันว่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการทั้งทางร่างกาย และสติปัญญาของลูกน้อย หากมีอาการหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยอาจมีอันตรายถึงชีวิต
ในเรื่องนี้ "นพ.พลพร อภิวัฒนเสวี" โสต ศอ นาสิกแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทดสอบภาวะนอนกรนในเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ปัจจุบันภาวะนอนกรนที่เป็นอันตรายในเด็กพบมากขึ้นประมาณ 10% ส่วนใหญ่จะพบในช่วงอายุก่อนวัยเรียน (Preschool) หรือช่วงอายุ 2-6 ปี เนื่องจากวัยนี้ต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกายจะโตขึ้น รวมทั้งต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ด้วย ทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจจนเกิดเสียงกรนซึ่งเป็นภาวะที่อันตราย และกำลังกลายเป็นปัญหาที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายกลุ้มอกกลุ้มใจ เพราะอันตรายที่แฝงมากับเสียงกรนน้อยๆ นั้นมีผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการทางร่างกายและสมองของลูก
ด้านปัจจัยที่ทำให้ลูกน้อยนอนกรน อาจเกิดได้จากการเป็นโรคภูมิแพ้ หรือโรคระบบทางเดินหายใจ มีอาการของต่อมทอนซิล หรือต่อมอดีนอยด์โตผิดปกติ หรือเกิดในเด็กที่มีรูปร่างอ้วน น้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน รวมถึงบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนอนกรน
"นอนกรน" ตัวทำลายพัฒนาการลูกน้อย
อย่างไรก็ตาม เมื่อลูกมีปัญหานอนกรน ผู้เชี่ยวชาญด้านการทดสอบภาวะนอนกรนในเด็กรายนี้บอกว่า จะทำให้การนอนหลับของลูกไม่มีคุณภาพ ส่งผลให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ และจะอันตรายมากเมื่อมีอาการหยุดหายใจร่วมด้วย เนื่องจากการหยุดหายใจตอนหลับมีผลทำให้ออกซิเจนในเลือดตกลง ทำให้หัวใจต้องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทุกส่วนของร่างกายมากขึ้น หากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน จะทำให้มีอาการหัวใจโตขึ้น ในรายที่เป็นรุนแรงอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาได้
"นอกจากนี้ เด็กจะมีอาการปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน ปัสสาวะรดที่นอน หลับไม่สนิท นอนดิ้นไปดิ้นมาเหมือนนอนหลับไม่สบาย ผวาตื่นหรือฝันร้ายได้ และจะอ้าปากเสมอเวลานอน เนื่องจากต่อมอะดินอยด์โตทำให้มี ลักษณะกระดูกเพดานปากโก่งสูง ฟันหน้ายื่นเหยินออกมาจนผิดรูป เนื่องจากเด็กหายใจเข้าออกผ่านทางปากไม่ค่อยหายใจทางจมูกซึ่งเป็นช่องทางหายใจปกติ นอกจากนี้ยังกระทบต่อพัฒนาการการเรียนรู้ ความจำไม่ดี สมาธิสั้น มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือซุกซนมากกว่าปกติ" นพ.พลพร กล่าว
ด้าน "พญ.มณินทร วรรณรัตน์" กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจในเด็ก จากโรงพยาบาลเดียวกัน กล่าวเสริมว่า สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในเด็กที่มีนอนกรน คือ เด็กมีต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โต จนเกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจ เกิดการสั่นสะเทือนของโครงสร้างระบบทางเดินหายใจ คือลิ้นไก่และเพดานอ่อนจึงทำให้เกิดเสียงกรนขึ้น หรือเกิดอาการแน่นจมูกเรื้อรัง เป็นโรคภูมิแพ้จมูก หรือในรายมีความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกใบหน้าผิดปกติแต่กำเนิด เช่น โรคดาวน์ซินโดรม โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมถึงเด็กที่มีรูปร่างอ้วน จะมีไขมันรอบคอมาก ขณะหลับกล้ามเนื้อจะหย่อนตัว ไขมันรอบคอจะไปกดทางเดินหายใจมากขึ้นก็ทำให้เกิดเสียงกรนได้เช่นกัน
"คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ ว่าลูกมีภาวะนอนกรนที่เป็นอันตรายหรือไม่ เช่น เมื่อลูกหลับแล้วมีเสียงกรนดังเป็นประจำหรือไม่ เสียงนอนกรนขาดๆ หายๆ มีอาการหายใจเฮือกเหมือนคนขาดอากาศ หยุดหายใจเป็นช่วงๆ มีอาการเขียวรอบปากหรือริมฝีปากคล้ำขณะหลับ นอนหายใจอกบุ๋มท้องโป่ง หรือในตอนกลางวันมีอาการง่วงนอนมากผิดปกติเหมือนนอนไม่พอ หงุดหงิดง่าย ซุกซนมาก อยู่ไม่นิ่ง สมาธิสั้น หรือปัสสาวะรดที่นอนหลังอายุ 5 ปี อาการเช่นนี้แสดงว่าลูกของคุณอาจอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายจากโรคนี้" กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจในเด็ก กล่าว
ปัจจุบันทางการแพทย์มีแนวทางตรวจวินิจฉัยได้หลายวิธี โดยแพทย์จะทำการตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้นอนกรน เช่น เด็กมีต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์โตผิดปกติ เป็นโรคจมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้ หากอาการไม่ชัดเจนและคุณพ่อคุณแม่ยังไม่แน่ใจว่าลูกมีอาการหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ แพทย์จะทำการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) เพื่อยืนยันว่ามีอาการหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ และอาการรุนแรงมากแค่ไหน
สำหรับวิธีการรักษา หลังจากที่แพทย์วินิจฉัยถึงสาเหตุและความรุนแรงของการนอนกรนแล้ว แพทย์จะให้การรักษาจากสาเหตุที่ทำให้เกิด เช่น รักษาภูมิแพ้จมูกอักเสบ รักษาต่อมทอนซิลและต่อมอดีนอยด์ที่โตผิดปกติในเด็กโดยการผ่าตัดรักษา หรือการใช้เครื่องเป่าอากาศขณะหลับ ที่มักใช้ในการรักษาในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
อย่างไรก็ตาม ภาวะนอนกรนในเด็ก เป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยปละละเลย หากพบว่าลูกมีอาการนอนกรน ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที เพื่อพัฒนาการที่ดีเยี่ยมของลูกน้อย จะได้ไม่มีฝันร้ายมาทำลายให้สะดุดลง
ข้อมูลจาก :
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000066341