ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
สะบัดบ๊อบให้โลกออนไลน์
สะบัดบ๊อบให้โลกออนไลน์ จะว่าไปแล้ว เทคโนโลยีการสื่อสารไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้กลายเป็น "สังคมใหม่" ที่รวบรวมเพื่อน ทั้งคนรู้จัก และไม่รู้จัก ให้มาพบปะกันได้ง่ายขึ้น จึงเกิดเป็นเว็บไซต์เครือข่ายสังคมอย่างกว้างขวาง

เมื่อพฤติกรรมเหล่านี้ เกิดขึ้นกับคนที่มีครอบครัว ย่อมส่งผลให้ความสัมพันธ์ลดหายไปไม่มากก็น้อย เนื่องจากพ่อแม่บางคนไม่มีเวลาเลี้ยงลูก จึงปล่อยให้อยู่กับหน้าจอคอม ช่วยผ่อนแรงการเลี้ยงลูกได้ดี ขณะเดียวกัน ตัวพ่อแม่เอง ก็สามารถทำงานได้สะดวกขึ้น หรือบางคนเลือกที่จะเข้าไปอยู่ในสังคมออนไลน์ เพื่อหลบหนีความเครียดต่างๆ รอบตัว


ประเด็นที่น่าเป็นห่วงนี้ "พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร" ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แสดงความห่วงใยในเรื่องนี้ว่า "ทุกวันนี้มีคุณพ่อคุณแม่จำนวนไม่น้อยที่มาปรึกษาถึงอาการติดเกมของลูกจนไม่เป็นอันทำอะไร แต่เมื่อหมอถามว่า "เวลาที่ลูกกำลังเล่นเกมนั้น คุณพ่อคุณแม่ทำอะไร ก็พบว่าคุณแม่บางคนก็คุยทางโทรศัพท์กับเพื่อน ส่วนคุณพ่อก็เข้าอินเทอร์เน็ตอ่านข่าวสารออนไลน์" คำตอบนี้สะท้อนให้เห็นได้ว่าครอบครัวโดยเฉพาะในสังคมคนเมือง มีการสื่อสารกันน้อยลง เพราะเราหันไปใส่ใจกับเทคโนโลยีมากเสียจนหลงลืมสิ่งสำคัญที่อยู่ใกล้ตัวเรานั่นคือ สายสัมพันธ์ในครอบครัว

"มีพ่อแม่บางรายยอมรับว่า วิดีโอเกม ทำให้การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เพราะลูกจะสามารถอยู่หน้าจอได้นานหลายชั่วโมง ทำให้พ่อแม่มีเวลาจัดการธุระส่วนตัว ทำงานบ้าน พักผ่อน โดยไม่มีเด็กๆ มากวน และช่วงเวลานี้เองที่พ่อแม่ ก็ติดกับดักเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างไม่รู้ตัว มีพ่อแม่จำนวนมาก โดยเฉพาะคุณแม่ ที่ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นสถานที่หลบหนี จากความเครียดในชีวิตประจำวัน" 


สำหรับอาการที่บ่งชี้ว่าคุณกำลังเสพติดเครือข่ายสังคมออนไลน์ คุณหมอให้แนวทางสังเกตตัวเองคร่าวๆ เช่น ว่างเมื่อไรเป็นต้องหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาคุย เปลี่ยนสถานะของตนเองทุกครั้งที่มีโอกาส หงุดหงิดงุ่นง่านต้องการรู้ว่ามีใครมาแสดงความคิดเห็นในกระทู้ของคุณหรือไม่? และคุณรู้สึกว่าให้เวลากับครอบครัวน้อยลงเพื่อที่จะได้เข้าไปติดต่อกับเพื่อนๆ ในโลกออนไลน์ หากคุณมีอาการเหล่านี้ ก็อาจถึงเวลาที่ต้องจัดตารางชีวิตใหม่


อย่างไรก็ตามสำหรับครอบครัวที่มีปัญหาเทคโนโลยีเข้ามาแทรกแซงในความสัมพันธ์ คุณหมอแนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่อาจต้องนั่งคุยกัน อธิบายปัญหาให้คู่ชีวิตทราบ เช่น รู้สึกเหนื่อยจากงานบ้านหรืออยากให้ครอบครัวมีเวลาด้วยกันมากขึ้น รวมทั้งยอมรับว่าคุณกำลังพยายามที่จะใช้เวลากับสังคมออนไลน์ให้น้อยลง เพื่อให้คู่ชีวิตรับทราบ และให้ความช่วยเหลือ


"ลองหาเวลา 3 ชั่วโมงต่อวัน ปิดเครื่องมือสื่อสาร และตัดขาดจากสังคมออนไลน์ แล้วใช้เวลากับครอบครัวให้มากขึ้น ชวนลูกไปเดินเล่น เล่านิทาน อ่านหนังสือ หรือดูภาพยนตร์ด้วยกัน หรือชวนเจ้าตัวน้อยมาเลือกวันพิเศษประจำสัปดาห์ให้เป็นวันของครอบครัว อาจเลือกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ที่ไม่ต้องเปิดสื่อออนไลน์ ไม่เล่นเกม"

"อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่หากค่อยๆ พยายามและร่วมมือกัน ความสัมพันธ์ในครอบครัว ก็จะกลับมาดีได้ดังเดิม เพราะท้ายที่สุดแล้วภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดหาไม่ได้จากโลกออนไลน์ แต่พบได้ใกล้ๆ ในครอบครัวของคุณเองค่ะ" พญ.ศิราภรณ์ทิ้งท้าย


ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ
ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/node/15346
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง