ป้องกันภูมิคุ้มกันเด็ก มีข้อมูลข่าวสารจากฝ่ายที่แบ่งขั้วในการนำเสนอ ที่มีทั้งข้อมูลจริง ข้อมูลจริงครึ่งเดียว ข้อมูลจริงครึ่งเท็จครึ่ง หรือข้อมูลเท็จ หลั่งไหลมาสู่สังคมผ่านสื่อต่างๆ มากมาย
เกี่ยวกับกรณีนี้ พ.ญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ (ร.พ.เด็ก) สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาแสดงความกังวลถึงผลกระทบที่จะมีต่อเด็กในอนาคต
โดยระบุว่า จากเหตุการณ์บ้านเมืองช่วงที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าสังคมในปัจจุบันเป็นยุคของสงครามข่าวสาร มีการแบ่งขั้วในการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ค่อนข้างชัดเจน จนบางครั้งก็ไม่ต่างกับโฆษณาชวนเชื่อ ดังนั้นประชาชนในฐานะผู้รับสื่อจำเป็นจะต้องแยกแยะ วิเคราะห์และใช้วิจารณญาณอย่างมากในการพิจารณาข้อมูลข่าวสารที่ได้ยินได้ฟังมา
สำหรับเด็กไทยใช้เวลาดูโทรทัศน์เฉลี่ย 3-5 ชั่วโมงต่อวัน หรือคิดเป็น 21-35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ด้วยเหตุนี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่เด็กๆ จะซึมซับและรับรู้เรื่องราวทั้งดีและไม่ดีจากสิ่งที่นำเสนอผ่านหน้าจอทีวี
ดังนั้น การปลูกฝังทักษะการรู้จักคิด แยกแยะ เพื่อให้เป็นภูมิคุ้มกันลูกน้อย ในสังคมที่สื่อโทรทัศน์ครองเมืองนั้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้การดูแล ให้ความรัก ความอบอุ่นทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ในฐานะพ่อแม่ต้องปลูกฝังทักษะการคิดให้กับลูก เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันไม่ตกเป็นเหยื่อข้อมูลข่าวสาร โดยวัยที่เหมาะที่สุดในการเริ่มฝึกให้ลูกรู้จักคิด อาจเริ่มได้เมื่อลูกเข้าสู่วัยประถม คืออายุประมาณ 6 ปี เพราะเป็นช่วงที่เด็กๆ เริ่มมีกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ
การสอนลูกให้คิดเป็น ถือเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กยุคใหม่ สิ่งที่พ่อแม่จำเป็นต้องทำเป็นอันดับแรกคือ เปิดใจรับฟังความคิดของลูก แล้วถามความเห็นของลูกในเรื่องต่างๆ พร้อมถามเหตุผลว่าทำไม วิธีนี้เป็นการกระตุ้นให้ลูกฝึกคิด วิเคราะห์ ผ่านการตั้งคำถามเป็นคำแนะนำที่เหมาะกับการดูแลเด็กในยุคนี้อย่างยิ่ง
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ข้อมูลจาก :
http://www.thaihealth.or.th/node/15269