ทำไมลูกจึงสอบตก/ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ ถึงเวลาฟังผลสอบของลูกทีไร ทั้งคุณพ่อคุณแม่ และลูกๆรู้สึกตื่นเต้นไม่แพ้กันโดยเฉพาะเด็กๆเรื่องการเรียนถือเป็นเรื่องใหญ่เลยทีเดียว หากผลการเรียนออกมาดี เด็กๆก็ดีใจเป็นธรรมดาแต่หากผลการเรียนไม่ดี ต้องซ่อมบางวิชา เด็กๆบางคนอาจไม่กล้าบอกคุณพ่อคุณแม่หรือบางคนอาจจะเป็นหนักถึงขนาดเอาสมุดพกไปซ่อน หรือในบางรายอาจไม่รู้ว่าจะหาทางออกอย่างไร อาจจะใช้วิธีทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายไปบ้างก็มี ลองมาดูซิว่าสาเหตุต่างๆเหล่านี้มาจากอะไรและมีวิธีใดบ้างในการช่วยเหลือเด็กที่สอบตก
1. คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้มีส่วนช่วยลูกหรือไม่มีเวลากับลูกเท่าที่ควร ครอบครัวที่มีลูกเรียนเก่งหรือประสบความสำเร็จในการเรียนส่วนใหญ่มักจะมีคุณพ่อคุณแม่ช่วยแนะนำและให้ความช่วยเหลือ คุณพ่อคุณแม่ต้องมีเวลาให้ลูก มีการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างบ้านและโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ ถามลูกว่าวันนี้เรียนอะไรมาบ้าง ช่วยตรวจสอบว่าลูกทำการบ้านครบหรือยัง ถ้าเด็กตั้งใจทำการบ้านก็ควรให้คำชมเชยเพื่อให้ลูกรู้สึกภาคภูมิใจและมีกำลังใจที่จะมานะพยายามมากยิ่งขึ้น
2. การสร้างสานสัมพันธ์ที่ดีทั้งบ้านและโรงเรียน ข้อนี้จะช่วยให้ทราบความคืบหน้าเรื่องการเรียนของลูกและปัญหาของลูกเมื่ออยู่ที่โรงเรียนได้
3. ความรู้สึกด้อยค่า การสร้างความรักที่อบอุ่น สร้างความภูมิใจและให้กำลังใจแก่ลูกเมื่อลูกล้มเหลว จะช่วยให้ลูกมีการปรับตัวที่ดีขึ้น และส่งผลต่อการช่วยให้ลูกมีผลการเรียนที่ดีขึ้นได้
4. ปัญหาสุขภาพ เด็กบางคนมีร่างกายอ่อนแอ ซึ่งอาจจะมาจากการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าไม่ครบ5หมู่ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี อีกทั้งขาดการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ส่งผลลบต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กทั้งสิ้น
5. ลูกขาดการจัดการที่ดี ขาดการจัดหมวดหมู่ในวิชาเรียน ขาดทักษะในการหาข้อมูลในการทำการบ้านหรือรายงานต่างๆ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องช่วยจัดมุมที่บ้านในการนั่งทำการบ้านและมีข้อมูลและอุปกรณ์ที่เพียงพอในการทำการบ้าน อาจซื้อแฟ้มหลายๆสีให้ลูกเพื่อใส่อุปกรณ์และข้อมูลที่ต้องการในแต่ละวิชา พร้อมทั้งห่อปกหนังสือแต่ละเล่มให้เข้ากับสีแฟ้มต่างๆ
6. ลูกขาดทักษะการเรียนรู้ที่ดี บ่อยครั้งที่ลูกไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร บางครั้งลูกไม่เข้าใจในสิ่งที่กำลังศึกษา และรู้สึกว่ายากเกินไป เมื่อขาดความเข้าใจมากขึ้นและมากขึ้น จนบางครั้งเกิดอาการต่อไม่ติด ดังนั้นควรสอนลูกให้เรียนรู้การทำความเข้าใจกับบทเรียนตั้งแต่เริ่มต้นใช้บัตรคำหรือบัตรงานช่วยจำเพื่อทบทวนสิ่งที่เรียนรู้ไป การใช้เทคนิคการสร้างแผนที่ในสมอง ( mind map) ก็เป็นวิธีหนึ่งที่น่าสนใจและช่วยพัฒนาความจำได้ดี สอนลูกให้รู้จักวิเคราะห์สิ่งต่างๆด้วยเพราะการเรียนรู้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการใช้ความจำแต่อย่างเดียว ลูกต้องสามารถตอบคำถามได้ว่าทำไม หรือหากไม่ทำจะเป็นอย่างไร เพื่อที่จะช่วยในการเรียนรู้และการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันอีกด้วย
7. ลูกขาดทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่เรียนรู้ด้วยความเข้าใจ และเป็นระบบ เป็นขั้นตอน หากขาดพื้นฐานที่ดีจะทำให้ไม่สามารถเข้าใจวิชาที่เกี่ยวข้องได้เช่น เรขาคณิต แคลคูลัส เป็นต้น ดังนั้น หากลูกขาดพื้นฐานคณิตศาสตร์อาจต้องกลับไปเริ่มที่จุดที่ขาดความเข้าใจนั้นและหาครูพิเศษมาช่วยสอน เพื่อลดช่องว่างในการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นได้ การสร้างฐานที่มั่นคงในวิชาคณิตสาสตร์จะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงในวิชาที่เกี่ยวข้องต่อไป
8. ขาดทักษะการอ่านที่ดี หากไม่มีทักษะในการการอ่านที่ดี จะทำให้ขาดความเข้าใจ และนำไปสู่ความล้มเหลวในการเรียนวิชาต่างๆด้วย วิธีการพัฒนาการอ่านที่ดีคือ การอ่านมากๆ สร้างนิสัยการอ่านให้ลูก อ่านทุกเรื่อง ในถุงห่อขนม หนังสือพิมพ์ เป็นต้น พาลูกไปห้องสมุดทุกสัปดาห์ ให้ลูกๆเลือกหนังสือที่จะอ่าน หากเป็นได้อ่านออกเสียงให้ลูกฟัง จัดหาหนังสือ สื่อวีดีทัศน์ต่างๆซึ่ง จะช่วยพัฒนาลูกได้มากหากให้ลูกได้อ่านหนังสือประกอบการฟังซีดีควบคู่ไปด้วย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน คำศัพท์และการออกเสียง
9. การติดกลุ่มเพื่อน หากลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่นกลุ่มเพื่อนจะมีอิทธิพลต่อลูกเป็นอย่างมาก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรปรับตัวให้เข้ากับลูกที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ในการให้ความรัก ความเข้าใจ โดยให้ความสนิทสนมกับลูก เพื่อให้ลูกเกิดความไว้ใจและไม่มีความลับเรื่องใดๆกับพ่อแม่แม้แต่เรื่องการสอบตก ซึ่งจะทำให้พ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูกที่มีปัญหาในด้านการเรียนได้
10. ขาดการจูงใจ สาเหตุใหญ่ของการแรงจูงใจอาจเป็นเพราะมีความสับสน ไม่แน่ใจ คุณพ่อคุณแม่อาจถามลูกว่ามีอะไรรบกวนใจลูกอยู่ และพยายามเสริมแรงให้เห็นเป้าหมายในอนาคต แต่หากลูกขาดแรงจูงใจนานเกินไป อาจต้องสืบหาสาเหตุ ว่ามาจากอะไร เช่น ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อน ปัญหาเรื่องเพศ ปัญหาการติดเกม หรือปัญหาการติดสารเสพติดต่างๆ เป็นต้น
คงไม่มีคุณพ่อคุณแม่คนไหนอยากให้ลูกสอบตก ดังนั้นการตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือที่ทันท่วงทีและช่วยให้ลูกมีผลการเรียนที่ดีขึ้นทั้งยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูกอีกด้วย
ข้อมูลจาก :
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000056946