มืดแปดด้านเมื่อ ลูกหาย เข้าสู่เทศกาลปิดเทอมทีไร คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมโลกออนไลน์ของลูกได้เปิดกว้างขึ้นอย่างเต็มที่ ทั้งใน และนอกบ้าน จนกลายเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะภัยล่อลวงจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ว่าจะติดเกมออนไลน์ แชทไลน์ทางอินเทอร์เน็ต จนตกหลุมพลาง และถูกดึงตัวออกจากบ้าน ไม่เพียงเท่านี้ ยังเสี่ยงต่อการถูกล่อลวง หรือลักพาตัวจากเหล่ามิจฉาชีพที่แฝงตัวอยู่นอกบ้านโดยที่พ่อแม่อาจรู้ไม่เท่าทันก็เป็นได้
ปัญหาเหล่านี้ ล้วนสร้างความหนักใจให้กับพ่อแม่ไม่น้อย เพราะเมื่อลูกหาย หลายครอบครัวเกิดอาการมืดแปดด้าน เนื่องจากไม่ทราบว่า ควรจะดำเนินการ ต่อเรื่องดังกล่าวอย่างไร จึงทำให้การติดตามลูกสุดที่รักเป็นไปอย่างล่าช้า ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการเตรียมพร้อมกับการรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์ลูกหายขึ้นภายในครอบครัวของคุณ
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา จัดทำคู่มือการติดตาม และป้องกันเด็กสูญหายขึ้น เพื่อเป็นการให้ความรู้ และคำแนะนำแก่พ่อแม่ในการติดตาม ลูกสู่อ้อมอกอย่างมีขั้นตอน ซึ่งมีอยู่หลายกรณี แต่วันนี้ ทีมงาน Life and Family ขอนำเสนอในประเด็นเรื่อง "การติดตามคนหายในกรณีลูกติดเกม หรือแชทไลน์ทางอินเตอร์เน็ต" ปัญหายอดฮิตครอบครัวไทย ที่พ่อแม่กลุ้มใจมากที่สุด
หากพูดถึง "ลูกติดเกม" คือ เด็กที่มีพฤติกรรมหมกมุ่นอยู่กับเกมออนไลน์ จนไม่สามารถแยกแยะโลกแห่งความจริง กับโลกเสมือนในเกมได้ หากเด็กมีพฤติกรรมดังกล่าว นอกจากทำให้มีผลกระทบกับการเรียน การใช้ชีวิตประจำวันของเด็กแล้ว บางรายจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น ถึงขนาดทำร้ายพ่อแม่ และขโมยทรัพย์สินในบ้าน เพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นเงินก่อนนำไปเล่นเกม ทั้งนี้ เด็กที่หายไปเพราะมีพฤติกรรมติดเกมนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี ดังนี้
- เด็กที่ตัดสินใจออกจากบ้านเนื่องจากถูกทางครอบครัวขัดขวางมิให้เล่นเกม จึงตัดสินใจออกไปใช้ชีวิตเร่ร่อน และอาศัยการขอเงิน เพื่อนำมาเล่นเกม
- เด็กที่ตัดสินใจออกจากบ้านเนื่องจากถูกคนแปลกหน้าที่รู้จักกันในเกมออนไลน์ ชักชวนให้ออกจากบ้าน
ขณะที่ "ลูกติดแชทไลน์ทางอินเตอร์เน็ต" คือการที่ลูกหายเข้าไปใช้บริการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายที่อำนวยความสะดวกในการสื่อสารสนทนาระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยกันในลักษณะการส่งข้อความโต้ตอบกัน โปรแกรมสนทนาที่เป็นที่นิยมนั้นคือ MSN, แคมฟอร์ก หรือการสนทนาผ่านเกมออนไลน์ ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้ทำให้สามารถพูดคุยกับอีกฝ่ายหนึ่งได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเห็นหน้ากันและกัน
โดยลักษณะในการสนทนาโต้ตอบกันนั้นจะใช้ภาพจินตนาการเป็นองค์ประกอบหลักแทบทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อผ่านการพูดคุยมาสักระยะหนึ่งคนหายก็จะถูกชักจูง หรือล่อลวงให้ออกจากบ้านเพื่อมาพบกับคู่สนทนาอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งตรงจุดนี้ ทำให้เกิดช่องว่างในการที่อาชญากรจะเข้ามาเล่นแชทไลน์ทางอินเตอร์เน็ตเพื่อล่อลวงเด็กหญิง ซึ่งยังขาดวุฒิภาวะในการกลั่นกรองและตัดสินใจ
กระบวนการติดตามลูกหายจากกรณี "เด็กติดเกมหรือแชททางอินเตอร์เน็ท" มีวิธีเบื้องต้นดังนี้
การตรวจสอบข้อมูลพื้นฐาน
1. การตรวจสอบทรัพย์สิน/รูปพรรณ/เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของคนหาย ในเบื้องต้นขอให้ครอบครัวหรือญาติคนหาย สอบถามจากบุคคลซึ่งเป็นผู้พบเห็นคนหายครั้งสุดท้ายเพื่อให้ทราบข้อมูลในส่วนรูปพรรณและเสื้อผ้าที่ผู้หายสวมใส่เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาเป็นจุดสังเกตคนหาย
2. การหาเบาะแสจากห้องนอนของคนหาย คือ แนวทางค้นหาเบาะแสอีกทางหนึ่งในการติดตามหาคนหาย เมื่อเข้าไปยังห้องนอนของคนหายแล้ว สิ่งที่ควรตรวจสอบ เช่น
- ตู้เสื้อผ้าของลูก เพื่อตรวจสอบว่าคนหายมีการเก็บเสื้อผ้าไปด้วยหรือไม่ หากมีเก็บเสื้อผ้าแสดงว่า คนหายได้เตรียมตัวเป็นอย่างดีในการหนีออกจากบ้าน และถ้า คนหายไม่เก็บเสื้อผ้าไป มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดเหตุฉุกเฉินกับคนหาย จึงทำให้คนหายไม่กลับบ้านตามปกติ แต่ทั้งนี้ การหายออกจากบ้านบางกรณี คนหายก็ไม่เก็บเสื้อผ้าหรือทรัพย์สินใด ๆ ไปด้วยเลย
- สมุด/หนังสือเรียนของลูก อาจจะทำให้พบเบาะแสสำคัญในการติดตามคนหาย เนื่องจากคนหายอาจจะจดหมายเลขโทรศัพท์ หรือที่อยู่ หรือชื่อคนที่รู้จักกันไว้ในเอกสารเหล่านั้น หรือจดหมายที่เขียนลาไว้ให้ครอบครัวซึ่งจะทำให้ครอบครัวทราบเบาะแสว่าคนหาย หายออกจากบ้านไปเพราะสาเหตุใด และอาจจะเชื่อมโยงกับแนวทางการติดตามคนหายด้วย
- จุดที่ลูกเคยวางทรัพย์สินหรือเงิน เพื่อตรวจดูว่าคนหายได้มีการเก็บทรัพย์สินไปหรือไม่ หากเก็บทรัพย์สินไปด้วยทั้งหมด หมายถึง มีการเตรียมตัวที่จะออกจากบ้าน แต่หากไม่มีการนำทรัพย์สินติดตัวไป นั่นอาจหมายถึงว่า คนหายไม่มีการเตรียมตัวก่อนหายไป หรือ ไม่ได้ตั้งใจที่จะไป
3. การสืบค้นเบาะแสจากบุคคลแวดล้อม ถือว่าเป็นเบาะแสสำคัญในการติดตามคนหายจากการติดเกม หรือติดแชทไลน์ เนื่องจากคนหายไปในลักษณะดังกล่าว มักจะติดต่อกับเพื่อนๆ ที่รู้จัก หรือขอไปพักอาศัยกับคนรู้จัก รวมถึง คนหายอาจเคยเล่าเรื่องของบุคคลแปลกหน้าที่กำลังคบหากัน ดังนั้น ครอบครัวคนหายควรไปสอบถามเบาะแสจากบุคคลดังต่อไปนี้
- สมาชิกในบ้าน คือ บุคคลที่มีความสนิทสนมและใกล้ชิดกับคนหายมากที่สุด เนื่องจาก คนหายอาจเล่าหรือระบายเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง ซึ่งข้อมูลตรงจุดนี้อาจจะนำมาประมวลเป็นเบาะแสได้ เช่น คนหายอาจจะเคยเล่าถึงเพื่อนสนิท หรือเพื่อนที่เพิ่งรู้จักกันในการเล่น แชทไลน์ทางอินเตอร์เน็ตซึ่งเมื่อนำข้อมูลต่างๆ มาประมวลกันแล้ว อาจจะทำให้ทราบว่าคนหายอาจจะไปพักอาศัยอยู่กับใคร
- เพื่อนบ้าน คือ บุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ครอบครัวคนหายควรเข้าไปสอบถามข้อมูล เนื่องจากเพื่อนบ้านที่อาจพบเห็นคนหาย ขณะกำลังออกจากบ้าน อาจจะทำให้ทราบว่าใครเป็นคนมารับคนหาย หรือว่าคนหายไปเองตามลำพัง และเดินทางออกไปเช่นไร
- เพื่อนสนิทของลูก ถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับคนหายเนื่องจากคนหายไปนั้น อาจเคยเล่าเรื่องการเล่นแชทไลน์ให้เพื่อนสนิทฟัง หรือบางครั้งเพื่อนสนิทของคนหายก็อาจจะเป็นกลุ่มที่เล่นแชทไลน์ด้วย ซึ่งจะทำให้ครอบครัวคนหายทราบข้อมูลเกี่ยวกับคนที่ล่อลวงคนหายไปว่าเป็นใคร
ทั้งนี้ การสอบถามเพื่อนสนิทของลูกนั้น ทางครอบครัวไม่ควรไปสอบถามเองโดยตรง แต่ควรให้อาจารย์ประจำชั้น หรือผู้ปกครอง เป็นผู้เรียกเด็กมาสอบถามเป็นรายคน จะได้รับคำตอบที่ตรงกับความเป็นจริงมากกว่า
- อาจารย์ที่ปรึกษาของลูก เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่มักจะมีพฤติกรรมที่ทางครอบครัวไม่เคยรับรู้มาก่อน ดังนั้น ผู้ปกครองควรสอบถามอาจารย์ที่ปรึกษาของคนหายว่ามีความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนหายอย่างไร เพราะสิ่งนี้อาจเป็นเบาะแสสำคัญในการประเมินหาสาเหตุแห่งการหายตัวของคนหาย
การตรวจสอบข้อมูลในอินเตอร์เน็ต
การค้นหาข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ และจากเว็บไซต์ต่างๆ ที่คนหายเคยเข้าไปเล่นหรือใช้งาน โดยการนำ E-mail ของคนหาย ไปค้นหาใน www.google.com ซึ่งอาจทำให้ทราบว่า คนหาย ได้เข้าไปใช้บริการใน Hi5, Facebook และ MySpace หรือไม่ เนื่องจากเว็บไซต์เหล่านี้ เด็ก ๆ กล้าจะเขียน กล้าเล่าถึงความรู้สึกและความเป็นไปต่าง ๆ ในชีวิต ที่อาจไม่เคยเล่าให้ใครฟัง หรือแม้แต่พ่อแม่ ซึ่งอาจทำให้ได้ข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางในการสืบหาตัวคนหายต่อไป
การตรวจสอบข้อมูลการใช้อินเตอร์เน็ตที่บ้าน
ในกรณีที่ที่บ้านมีคอมพิวเตอร์ หรือโน๊คบุ๊คที่สามารถต่ออินเตอร์เน็ตได้นั้น ขอให้ครอบครัวตรวจสอบคอมพิวเตอร์ หรือโน๊คบุ๊คที่คนหายใช้เป็นประจำดังนี้
- เปิดเครื่องแล้ว คลิกที่ My Documents
- เมื่อเปิดเข้าไปแล้ว ให้คลิกที่ บันทึกการสนทนาของฉัน
- เมื่อเปิดเข้าไปจะพบรายงานการสนทนาของคนหาย กับเพื่อน ทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งจากข้อมูลตรงส่วนนี้ อาจทำให้ทราบว่าบุคคลที่ชักชวนคนหายออกไปเป็นใคร
การตรวจสอบข้อมูลจากเพื่อนสนิทคนหาย
ในกรณีนี้ทางครอบครัว ควรสอบถามจากเพื่อนสนิทของคนหายว่า โดยปกติแล้วคนหายเข้าไปใช้บริการอินเตอร์เน็ตอะไรบ้าง และรู้ E-mail หรือ Password ของคนหายหรือไม่ นอกจากนี้ อาจสอบถามเรื่องของบุคคลต้องสงสัยกับเพื่อนของคนหายด้วย
การตรวจสอบการโพสต์ข้อมูลในอินเตอร์เน็ตของคนหาย มีวิธีการดังนี้
- ให้นำ E-mail ของลูก หรือบุคคลต้องสงสัยไปค้นหาใน www.google.com จะทำให้ทราบว่า เคยเข้าไปโพสต์ข้อความหาเพื่อนในอินเตอร์เน็ตที่เว็บไซต์ใดบ้าง หรือสมัครสมาชิกเพื่อใช้บริการของเว็บไซต์ ซึ่งตรงจุดนี้จะทำให้ทราบข้อมูลของคนหาย และบุคคลที่ต้องสงสัย
- หากพบว่า บุคคลต้องสงสัยเป็นสมาชิกเว็บไซต์ใด เว็บไซต์หนึ่ง ทางครอบครัวสามารถประสานงานหาเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์ดังกล่าว เพื่อขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลต้องสงสัยได้ หลังจากนั้น ขอให้ทางครอบครัวแจ้งข้อมูลดังกล่าวแก่พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี เพื่อทำการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว หากได้รับการยืนยันว่าเป็น บุคคลเดียวกัน อาจมีการดำเนินการตรวจสอบยังที่พักของบุคคลต้องสงสัยได้
การตรวจสอบข้อมูลในสถานที่ซึ่งคาดว่าลูกหายไป
1. การตรวจสอบบ้านเพื่อน ซึ่งคนหายอาจจะไปขออาศัยอยู่ด้วย โดยปกติแล้วจะอยู่ไม่นานนัก และจะสับเปลี่ยนไปนอนบ้านเพื่อนคนอื่นๆ วิธีการตรวจสอบ ควรไปที่โรงเรียนของคนหาย เพื่อสอบถามที่อยู่ของเพื่อนจากอาจารย์ประจำชั้น จากนั้นอาจจะไปสังเกตที่บ้านเพื่อนด้วยตนเอง เนื่องจากเพื่อนของคนหายอาจจะช่วยกันปกปิดข้อมูล
การไปตรวจสอบตามบ้านเพื่อนของคนหายที่ต้องสงสัยว่าคนหายจะไปอยู่ด้วยนั้น หากเป็นกรณีเพื่อนที่ครอบครัว ไม่รู้จัก หรือว่าบ้านของเพื่อนอยู่ในชุมชนแออัด หรือการไปตรวจสอบดังกล่าวอาจจะเกิดอันตราย ครอบครัวคนหายควรไปขอความช่วยเหลือยังสถานีตำรวจในเขตท้องที่นั้นๆ ตั้งอยู่ เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจเดินทางมาร่วมในการสอบถามข้อมูลด้วย
2. การตรวจสอบที่ร้านเกม ในเบื้องต้นให้ครอบครัวไปตรวจสอบยังร้านเกม ที่คนหายชอบใช้บริการก่อน เพื่อตรวจสอบว่า หลังจากหายตัวไปแล้วนั้น คนหายได้มาใช้บริการอีกหรือไม่ หากคนหาย ยังคงมาใช้บริการอยู่มีความเป็นไปได้ว่า คนหาย อาจพักอาศัยอยู่ในละแวกบ้าน นอกจากนี้ ยังสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มเพื่อนของคนหายที่รู้จักกันในร้านเกม เพราะเพื่อนที่รู้จักกันในร้านเกม อาจเป็นผู้ให้ที่พักแก่ลูกเราได้
3. การตรวจสอบที่วัด หากทางครอบครัวได้ตรวจสอบที่บ้านเพื่อนแล้วยังไม่พบตัวคนหาย อาจลองตรวจสอบที่วัด ซึ่งอยู่ในละแวกใกล้เคียง เพราะคนหายอาจไปอาศัยหลับนอน และหาข้าวทานที่นั่นได้
4. การตรวจสอบที่ตลาด สถานที่แห่งนี้ถือว่าเป็นแหล่งชุมชนอีกแห่งที่คนหายอาจอาศัยเป็นที่หลับนอน และนั่งขอเงิน เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพต่อไป
5. การตรวจสอบบริเวณที่พบกลุ่มเด็กเร่ร่อน กลุ่มเด็กเร่ร่อน คือกลุ่มเด็กส่วนหนึ่งที่เข้ามาใช้บริการร้านเกม และมีลักษณะของการมั่วสุม ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่คนหายจะรู้จักหรือเป็นเพื่อนกับกลุ่มเด็กเร่ร่อนที่เพิ่งจะเข้ามาเล่นเกมในร้าน และมีการชักชวนคนหายให้ออกมาใช้ชีวิตเร่ร่อนด้วยกัน
ทั้งนี้ การติดตามไปยังสถานที่ที่กลุ่มเด็กเร่ร่อนพักอาศัยอยู่นั้น ทางครอบครัวไม่ควรไปตรวจสอบด้วยตัวเองตามลำพัง เพราะอาจเกิดอันตรายได้ ครอบครัวคนหายควรไปติดต่อยังสถานีตำรวจท้องที่นั้น ๆ ให้เจ้าหน้าที่สายสืบหรือสายตรวจลงพื้นที่ด้วย
6. การตรวจสอบข้อมูลจากเบาะแสที่ได้มา กรณีที่ทางครอบครัวทราบข้อมูล ชื่อ-นามสกุล หรือ ที่อยู่ของบุคคลที่ต้องสงสัยว่า พาคนหายไปนั้น ให้แจ้งข้อมูลดังกล่าวแก่พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี เพื่อทำการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว หากได้รับการยืนยันว่าเป็น บุคคลเดียวกัน อาจมีการดำเนินการตรวจสอบยังที่พักของบุคคลต้องสงสัยได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการ
ข้อมูลจาก :
http://www.thaihealth.or.th/node/14655