ปลูกประชาธิปไตยในใจเด็ก / ดร.แพง ชินพงศ์ ปัจจุบันสังคมไทยกำลังตื่นตัวและให้ความสำคัญในเรื่องของประชาธิปไตยกันอย่างมากทีเดียว ไม่เว้นแม้แต่เด็กๆที่ควรจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องของประชาธิปไตยให้มาก ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูก็ตามที่ต้องสร้างความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยอย่างถูกต้องให้แก่เด็กๆ เพราะสิ่งนี้ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราทุกคนสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสมและเกิดความสงบสุขนั่นเอง
การจะปลูกฝังประชาธิปไตยให้แก่เด็กนั้น เริ่มแรกควรจะต้องสอนให้เด็กได้เข้าใจว่า “ประชาธิปไตย” นั้นมีพื้นฐานมาจาก3สิ่งนี้ คือ
1.“หน้าที่” หมายถึง ความรับผิดชอบหรือภาระของบุคคลในการปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของสังคมหรือของประเทศชาตินั้นๆ
การฝึกให้เด็กเข้าใจเรื่อง “หน้าที่” สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้
- ฝึกให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนเอง สามารถเริ่มต้นฝึกได้กับเด็กอายุตั้งแต่3-4ขวบขึ้นไป เช่น การฝึกให้เด็กทำงานบ้าน โดยคุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูควรฝึกให้เด็กได้ทำหน้าที่ง่ายๆก่อนแล้วค่อยฝึกในหน้าที่ซึ่งต้องรับผิดชอบมากขึ้นตามลำดับ เป็นต้นว่า คุณพ่อคุณแม่ฝึกให้ลูกเก็บของเล่นที่เล่นเสร็จแล้วใส่กล่องให้เรียบร้อย หรือให้เก็บจานของลูกเองเมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว เมื่อเห็นว่าลูกทำได้เรียบร้อยดี ต่อไปก็อาจมอบหมายให้ลูกช่วยเก็บจานของคุณพ่อคุณแม่ด้วย
หากเป็นเด็กอายุ5-6ขวบขึ้นไป สามารถฝึกให้ทำงานที่ยากขึ้น เช่น ให้ช่วยรดน้ำต้นไม้ ช่วยเก็บผ้าที่ซักแล้ว หรือช่วยงานในครัวได้ การฝึกให้เด็กช่วยงานบ้านต่างๆนี้ นอกจากจะเป็นการปลูกฝังให้เด็กเข้าใจว่าคนเราทุกคนต่างก็มีบทบาทหน้าที่ในการรับผิดชอบการงานของตนเองแล้ว การฝึกให้เขาได้ช่วยเหลือในงานของผู้อื่นยังเป็นการปลูกความมีน้ำใจให้กับเขาอีกด้วย
- ฝึกให้เด็กรู้จักหน้าที่ของผู้อื่น การฝึกให้เด็กรู้หน้าที่ของผู้อื่นคุณพ่อแม่คุณแม่สามารถฝึกได้ตั้งแต่เด็กอายุ5-7ขวบเป็นต้นไปเพราะลูกอยู่ในวัยที่กำลังเรียนรู้ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและผู้คนแล้ว โดยอาจเริ่มต้นจากการพูดคุยให้ลูกฟังว่า คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่อย่างไรที่ต้องรับผิดชอบบ้าง เช่นพูดคุยกับลูกว่าคุณพ่อเป็นคุณหมอมีหน้าที่ต้องรักษาคนเจ็บป่วยให้หายดี คุณแม่เป็นคุณครูมีหน้าที่สอนหนังสือให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษา ส่วนคุณลุงเป็นตำรวจมีหน้าที่ต้องดูแลความสงบเรียบร้อยให้กับประชาชน
การพูดคุยกับลูกเช่นนี้ทำให้ลูกได้รู้และเข้าใจว่าแต่ละคนต่างมีภาระหน้าที่ในสังคมที่ต้องรับผิดชอบต่างกันออกไปและจะเป็นตัวกระตุ้นให้เขาเกิดความรู้สึกเคารพในหน้าที่ของผู้อื่นด้วย เช่นเมื่อเขาเข้าใจแล้วว่าคุณหมอมีหน้าที่รักษาคนป่วยให้หาย ดังนั้นเมื่อเขาป่วยเขาก็จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอเพื่อที่เขาจะหายป่วย หรือเมื่อเขาเข้าใจว่าคุณครูมีหน้าที่ให้ความรู้เขาก็จะต้องตั้งใจเรียนเพื่อเขาจะได้รับความรู้นั่นเอง
- ฝึกให้เด็กรู้หน้าที่ของการเป็นพลเมืองที่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้เด็กรู้หน้าที่ของการเป็นพลเมืองดีในการเคารพต่อกฎหมายของบ้านเมืองคือปฏิบัติตามกฎหมาย สอนให้เขามีความรักชาติและพระมหากษัตริย์ เช่น เมื่อ
ได้ยินเพลงชาติหรือเพลงสรรเสริญพระบารมีต้องยืนตรงเพื่อแสดงความเคารพ สอนให้เขาเคารพในศาสนา โดยไม่ลบหลู่ความเชื่อและหลักคำสอนของศาสนาใดๆ
2.“ความเสมอภาค” หมายถึง ความเท่าเทียมกันของคน ซึ่งคนทุกคนย่อมมีสิทธิในความเป็นคนโดยเท่าเทียมกัน ไม่ว่าคนนั้นๆจะเป็นใครก็ตาม
การฝึกให้เด็กเข้าใจเรื่อง “ความเสมอภาค” สามารถทำได้ง่ายๆดังนี้
- ฝึกให้เด็กเข้าใจความเสมอภาคในครอบครัว ในครอบครัวที่มีลูกหลายคนคุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติต่อลูกทุกคนด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ทั้งการแสดงออกถึงความรักและความห่วงใย อย่าทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ลำเอียงรักและเอาใจใส่ลูกไม่เท่ากัน เช่นทำให้พี่เข้าใจว่าพ่อแม่เป็นห่วงเป็นใยน้องมากกว่าตน หรือทำให้น้องเข้าใจว่าพ่อแม่รักพี่มากกว่า เพราะนั่นจะเป็นสาเหตุสำคัญให้เด็กเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เกิดมีปมด้อย เกิดการอิจฉาเปรียบเทียบ ซึ่งจะส่งผลให้เด็กไม่ยอมรับเรื่องความเสมอภาคและการเท่าเทียมกัน เพราะเขาจะคิดว่าขนาดพ่อแม่ยังรักลูกไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นในสังคมก็ยิ่งต้องไม่มีความเท่าเทียมกันและความคิดเช่นนี้ก็จะกลายเป็นสิ่งที่เขาจะใช้ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างผิดๆต่อไปด้วย
- ฝึกให้เด็กเข้าใจความเสมอภาคของเพศชายและเพศหญิง ในบางสังคมมีค่านิยมว่าผู้หญิงเป็นประชากรชั้นสอง หรือมองว่าผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลังไม่มีบทบาทหน้าที่ๆสำคัญอย่างไรในสังคม แต่ในความเป็นคนนั้นไม่ว่าจะเป็นคนเพศใดก็แล้วแต่ทุกคนมีศักดิ์และศรีแห่งความเป็นคนอย่างเท่าเทียมกันโดยสมบูรณ์ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลยที่จะต้องสอนเด็กๆให้เข้าใจในเรื่องนี้ด้วยว่าคนทุกคนมีสิทธิโดยเท่าเทียมกัน ทั้งในเรื่องหน้าที่การงาน ความรับผิดชอบ การแสดงความคิดเห็น การศึกษาและสถานภาพทางสังคม
แต่ขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมที่จะสอนให้ลูกเข้าใจถึงลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันของผู้ชายและผู้หญิงด้วยเพื่อที่ลูกจะได้มีความเข้าใจและปฏิบัติตัวกับคนแต่ละเพศได้อย่างถูกต้องเหมาะสมด้วย เช่น สอนให้ลูกชายเข้าใจว่าผู้หญิงเป็นเพศที่มีความอ่อนโยน นุ่มนวล ดังนั้นควรปฏิบัติต่อผู้หญิงด้วยความสุภาพ ละมุนละไมและสอนให้ลูกสาวเข้าใจว่าผู้ชายเป็นเพศที่มีความเข้มแข็ง อดทน ดังนั้นควรปฏิบัติต่อผู้ชายด้วยการแสดงความห่วงใย เอาใจใส่
3.“เสรีภาพ” หมายถึง การที่บุคคลมีอิสระในการกระทำต่างๆที่ไม่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมืองและอยู่ในขอบเขตของขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น เช่นเสรีภาพในการนับถือศาสนา การพูด การแสดงความคิดเห็น การสร้างสรรค์ผลงาน
การฝึกให้เด็กเข้าใจเรื่อง “เสรีภาพ” สามารถทำได้ง่ายๆ คือ
- เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น คุณพ่อคุณแม่สามารถเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นกับเรื่องต่างๆภายในบ้าน เช่นเวลาไปซื้อต้นไม้หรือเฟอร์นิเจอร์เข้าบ้านก็ควรให้ลูกมีส่วนในการช่วยเลือกด้วย ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกในเรื่องของการเคารพเสียงข้างมากให้แก่ลูกได้ด้วย เป็นต้นว่าในการตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกัน หากมีความเห็นที่แตกต่างควรให้มีการลงคะแนนเสียงกันและทุกคนต้องเคารพและปฏิบัติตามเสียงข้างมาก
นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกในเรื่องการให้เสรีภาพแก่ผู้อื่น เช่น คุณพ่อคุณแม่ต้องรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน ไม่ทะเลาะกันหากอีกฝ่ายหนึ่งมีความคิดเห็นไม่ตรงกับอีกฝ่ายหนึ่ง หรือคุณพ่อคุณแม่ไม่บีบบังคับให้ลูกทำตามความคิดเห็นของตน ไม่ล้อมกรอบความคิดของลูกและไม่ควรใช้อำนาจข่มขู่ลูกให้ต้องทำสิ่งนั่นสิ่งนี้ตามใจพ่อแม่ เพราะการกระทำเช่นนี้จะทำให้เด็กไม่เข้าใจความหมายของการมีเสรีภาพที่แท้จริง อีกทั้งจะเป็นการปลูกฝังความก้าวร้าวและความคิดเผด็จการให้กับเด็กอีกด้วย
การปลูกฝังประชาธิปไตยให้แก่เด็กไม่ใช่เรื่องยากเลยเพราะสามารถเริ่มต้นง่ายๆจากที่ครอบครัว โดยคุณพ่อคุณแม่มีบทบาทสำคัญที่ต้องสอนให้ลูกได้เข้าใจถึงคำว่า “หน้าที่” “ความเสมอภาค”และ“เสรีภาพ” เพราะ 3 สิ่งนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตย นั่นก็คือการสอนให้ลูกรู้จักหน้าที่และสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองควบคู่ไปกับการเคารพสิทธิของผู้อื่น ซึ่งการสอนให้ลูกเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยตั้งแต่เขายังเด็กนั้นเท่ากับว่าคุณพ่อคุณแม่ได้ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนประชาธิปไตยให้กับประเทศชาติของเรานั่นเอง
ข้อมูลจาก :
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000036375