ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
เด็กกับเรื่องกล้วยๆ/ดร.แพง ชินพงศ์

เด็กกับเรื่องกล้วยๆ / ดร.แพง ชินพงศ์ วันนี้ผู้เขียนขอนำเสนอเรื่อง “เด็กกับเรื่องกล้วย ๆ” ซึ่งไม่ได้มีเนื้อหาที่ต้องการเปรียบเทียบกล้วยกับสิ่งที่ซับซ้อนแต่ประการใด แต่อยากจะเขียนถึงเรื่องราวของ “กล้วย” ซึ่งเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกันมานานแสนนาน เพราะเมืองไทยเป็นแหล่งปลูกกล้วยหลายพันธุ์ เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยหักมุก กล้วยเล็บมือนาง กล้วยเป็นผลไม้ที่ปลูกง่าย หาง่าย กินง่าย (จนเป็นที่มาของคำว่า “ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก”) สามารถนำมาประกอบเป็นอาหารคาวหวานได้ มีรสชาติหวานหอมอร่อย อีกทั้งมีประโยชน์และสรรพคุณมากหลาย ยิ่งเฉพาะในเรื่องโภชนาการแล้วต้องถือว่ากล้วยเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากทีเดียว จึงมีประโยชน์แก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กๆแล้วมักไม่พลาดที่จะต้องกินข้าวบดกับกล้วยจากฝีมือคุณแม่แน่นอน

เรามาดูกันซิว่ากล้วยมีประโยชน์ต่อเด็ก ๆ อย่างไรบ้าง

- กล้วยช่วยในการเจริญเติบโตทางร่างกายของทารก

กล้วยเป็นผลไม้ที่เหมาะเป็นอาหารเสริมสำหรับเด็กทารกโดยตรง เพราะเนื้อมีลักษณะนิ่ม ง่ายต่อการกินของทารกที่ยังไม่มีฟันหรือที่ฟันเพิ่งเริ่มขึ้น นอกจากนี้ กล้วยยังมีคุณค่าของธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกด้วย เช่น มีกรดอะมิโนและเกลือแร่ที่จำเป็นสำหรับเด็กทารกหลายชนิด อีกทั้งมีส่วนประกอบของโปรตีนที่ใกล้เคียงกับน้ำนมแม่ เราจึงเห็นภูมิปัญญาของคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันที่ใช้กล้วยน้ำว้ามาบดกับข้าวให้เด็กทารกกินเป็นอาหารเสริม เพราะทำให้เด็กทารกมีสุขภาพแข็งแรง

- กล้วยเพิ่มประสิทธิภาพสมองของเด็ก

กล้วยเป็นผลไม้ที่มีโปแตสเซียมสูงมากที่สุดในบรรดาผลไม้ทั้งหมด เพราะในผลกล้วยสุกหนัก 100 กรัมมีสารโปแตสเซียมประมาณ 370 มิลลิกรัม ซึ่งสารโปแตสเซียมในกล้วยมีสรรพคุณในการช่วยเพิ่มพลังให้สมองตื่นตัว สมัยที่ผู้เขียนยังเป็นเด็กเรียนที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ทางโรงเรียนจัดอาหารว่างตอนเช้าคือนมกับกล้วยน้ำว้าให้เด็ก ๆ ได้รับประทานทุกวัน เพราะเป็นการช่วยเตรียมสมองให้พร้อมสำหรับการเรียนนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเรื่อง The Many Benefits of Bananas (ประโยชน์มากมายของกล้วย) ของโรงเรียน Twickenham ในแคว้น Middlesex ที่ประเทศอังกฤษ พบว่านักเรียน200คน ที่รับประทานกล้วยหอมในมื้อเช้าและมื้อกลางวันเป็นประจำทุกวัน มีผลการเรียนอยู่ในระดับดี (2005) ดังนั้น กล้วยจึงเหมาะกับวัยเด็กซึ่งเป็นวัยเรียนรู้ที่ต้องใช้สมองและใช้ความคิดในการเรียนรู้

- กล้วยช่วยเพิ่มพลังงานแก่เด็ก

ในกล้วยสุก มีน้ำตาล 3 ชนิด คือ กลูโคส ซูโคส และฟรุคโตส และมีคาร์โบไฮเดรตสูงถึง 22.2 กรัม (คำนวณจากกล้วยที่มีน้ำหนัก100กรัม) ดังนั้น กล้วยจึงให้พลังงานอย่างดี เหมาะสำหรับเด็กๆในวัยที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโตและชอบเคลื่อนไหวร่างกายในการวิ่ง กระโดด เล่น ทำกิจกรรมต่าง ๆ การให้เด็ก ๆ รับประทานกล้วยทุกวันจึงสามารถช่วยกระตุ้นให้สมองและร่างกายของเด็กให้ทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว ว่องไวและกระฉับกระเฉง 

- กล้วยช่วยทำให้เด็กอารมณ์ดี

กล้วยหอมมีวิตามินบีอยู่มาก ซึ่งมีสรรพคุณที่สามารถช่วยลดความเครียดได้ นอกจากนี้ กล้วยยังมีโปรตีนชนิด try potophan ซึ่งช่วยทำให้เด็กรู้สึกอารมณ์ดี มีความสุข และสารโปแตสเซียมทำให้หัวใจทำงานได้ดี จึงส่งผลให้ออกซิเจนออกไปเลี้ยงสมองอย่างเพียงพอ ร่างกายจึงเกิดการผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ความเครียดลดลง

- กล้วยช่วยเรื่องระบบขับถ่ายของเด็ก

1. ช่วยแก้อาการท้องผูก การให้เด็กรับประทานกล้วยน้ำว้าสุกเป็นประจำทุกวัน จะช่วยให้เด็กไม่มีอาการท้องผูก เพราะกล้วยมีเส้นใยอาหารอยู่มาก จึงช่วยให้ขับถ่ายได้สะดวก

2. ช่วยแก้อาการท้องร่วง นำกล้วยดิบมาฝานเป็นแว่นบาง ๆ ทั้งเปลือก ตากแห้งแล้วนำมาบดให้ละเอียดเป็นผงใช้ชงดื่ม ช่วยรักษาอาการท้องเสียหรือท้องเดิน อีกทั้งสามารถลดอาการท้องเฟ้อท้องอืดได้อีกด้วย

นอกจากประโยชน์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วนี้ ในกล้วยยังมีวิตามินบี1ที่มีสรรพคุณในการป้องกันโรคเหน็บชา มีวิตามินซี ใช้ป้องกันโรคหวัด มีแมกนีเซียม ช่วยควบคุมความดันเลือดและมีแคลเซียม ที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง และปัจจุบันยังมีการสนับสนุนให้กินกล้วยมื้อเช้าทุกวันเพื่อล้างพิษและลดไขมันในร่างกายอีกด้วย (Hamachi,Asa Banana Diet,2008)

จะเห็นได้ว่า แม้จะเป็นเรื่องกล้วยๆแต่ประโยชน์ที่ได้รับจากกล้วยมีมากมายมหาศาล เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงเมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่นที่มีราคาแพงกว่า เช่น มีเกลือแร่และวิตามินต่าง ๆ มากกว่าแอ๊ปเปิ้ล มีคาร์โบไฮเดรต และธาตุเหล็กมากกว่าเชอรี่ มีโปรตีน และฟอสฟอรัสมากกว่าสตรอเบอรี่ มีโปแตสเซียม และวิตามินบีมากกว่าแอปปริคอต ฯลฯ อีกทั้งกล้วยยังหากินได้ง่าย มีทุกฤดูกาลและราคาถูกอีกด้วย คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูก ๆ ได้กินกล้วยกันทุกวันเพื่อสุขภาพร่างกาย สมองและอารมณ์ที่ดีของเด็ก ๆ นั่นเอง

  
 ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000043291
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง