ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
ใช้วินัยกับลูกด้วยความรัก/ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

ใช้วินัยกับลูกด้วยความรัก / ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ ลูกคือสิ่งที่พ่อแม่รักและหวงแหนมากที่สุด พ่อแม่ทุกคนหวังให้ลูกเป็นคนดี ฉลาดเฉลียว และมีคุณธรรม คงไม่มีพ่อแม่คนไหนที่อยากเห็นลูกเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กก้าวร้าว ไม่ให้เกียรติผู้อื่น แต่อยากเห็นลูกอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข การสร้างให้เด็กเป็นคนมีระเบียบวินัย จึงเป็นหนทางหนึ่งที่สำคัญในการสร้างให้ลูกเป็นทั้งคนดี ฉลาด และเป็นพลเมืองที่ดีที่จะพัฒนาชาติและสังคมต่อไป วิธีการสร้างระเบียบวินัยให้ลูกมีวิธีการดังต่อไปนี้

คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นคนสม่ำเสมอ อารมณ์ไม่ขึ้น ๆ ลง ๆ ในการตั้งกฏทุกข้อกับลูก เช่น หากอนุญาตให้เด็กเล่นในโคลนและอีกวันหนึ่งตะโกน ว่ากล่าวและทำโทษลูกในการเล่นโคลน ลูกจะรู้สึกสับสนว่าเขาควรทำหรือไม่

เมื่อบอกว่าไม่ได้ นั่นมีความหมายว่าไม่ได้จริงๆ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องแน่ใจจริงๆว่าถ้าบอกว่า ไม่ได้ คือไม่ได้ เพราะหากห้ามสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ลูกไม่เชื่อฟังแต่พ่อแม่อะลุ้มอะล่วยก็จะเกิดผลเสียตามมา

ในกรณีที่คุณพ่อ คุณแม่บอกว่าไม่ได้ แต่ลูกยังฝืนทำอีก มีขั้นตอนในการลงวินัยดังนี้ บอกลูกว่าไม่ได้อีกครั้ง แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องแน่ใจจริงๆว่าสิ่งที่ต้องการให้ลูกทำตามนั้นทำได้จริง ไม่ใช่สิ่งที่ เกินกำลังและความสามารถของลูก ยกตัวอย่างเช่น ขอให้ลูกยกของที่หนักเกินกำลังของลูก เมื่อลูกไม่ทำ ก็ดุว่า ทำโทษ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ขณะที่ลูกกำลังเล่นอยู่ในสนามกับเพื่อนบ้าน แต่ถึงเวลากลับบ้านแล้ว คุณแม่เรียกให้มา แต่ลูกก็ยังไม่ยอมมา สิ่งที่คุณแม่ต้องทำคือ คุณแม่ต้องเดินจากไปทันที ลูกอาจจะไม่ยอมมาอีก คราวนี้คุณแม่อาจบอกลูกว่าถ้าไม่มาหนูต้องนั่งนิ่งๆในรถหรือแยกตัวให้ไปอยู่ตามลำพัง ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า (Time out) แต่เมื่อลูกไม่ยอมมาอีก คราวนี้คุณแม่ต้องทำตามที่เตือนไว้คือไปเอาลูกมานั่งนิ่งๆในรถ สัก2 นาที เพื่อให้ลูกรู้ว่าทำผิดอะไร

อย่าตะโกนใส่ลูกและดุด่าว่ากล่าวลูกด้วยถ้อยคำรุนแรง ไม่มีใครแม้แต่ผู้ใหญ่ที่ชอบฟังคนชอบตะโกนดุว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง การให้เกียรติลูกเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะเขาจะเรียนรู้การให้เกียรติผู้อื่น ด้วย เราอาจจะหงุดหงิด และอยากจะระเบิดอารมณ์ออกมา แต่ควรใจเย็น ๆ ไม่พูดตะโกนใส่ลูกด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด

การลงวินัยกับลูกมักจะมีผลต่อจิตใจของทั้งคุณพ่อ คุณแม่และลูก เราอาจลองวิธีโน่น วิธีนี้ และทำให้บางครั้งเราหมดความอดทน หรือลืมจุดประสงค์ของการลงวินัย หรือาจจะล้มเลิกการลงวินัยนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำคือ อย่าล้มเลิกการลงวินัยนั้น เพราะหากเราเลิก ลูกจะยิ่งลองทดสอบพ่อแม่มากขึ้น ว่าเขาจะหลบหลีกกฏเกณฑ์ได้มากน้อยแค่ไหน

การลงวินัยโดยการให้ลูกนั่งนิ่ง ๆ หรือแยกให้ไปอยู่ตามลำพัง (Time out) เป็นสิ่งที่ต้องทำ โดยมีวิธีการดังนี้
  1. ต้องจัดสถานที่หนึ่งในมุมของบ้านที่เป็นมุมในการวางเก้าอี้ที่จะให้เด็กการนั่งนิ่งๆ
  2. ใช้มุมที่จัดเตรียมนี้เท่านั้นในการลงวินัย เพื่อลูกจะไม่สับสน และเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังทำ
  3. การจัดเวลาในการนั่งนิ่งๆ ขึ้นอยู่กับอายุของเด็กอาจใช้เวลาประมาณ 2 นาที ไม่ควรนานเกินไปหรือสั้นเกินไป
  4. ลูกอาจลุกขึ้น ร้องไห้ เริ่มพูดจาตะโกนเรียกร้องความสนใจ หรือแสดงความก้าวร้าวมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ต้องนำลูกกลับนั่งทันที อย่าบอกให้ลูกไปนั่งเองแต่คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้นำลูกไปนั่งที่เก้าอี้ อาจใช้เวลาหลายครั้ง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องใช้ความอดทนและไม่ควรใจอ่อนยอมล้มเลิก
  5. เริ่มลูกนั่งครบ 2 นาทีแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องกลับไปนั่งกับลูก ประสานสายตากับลูกแล้วบอกลูกถึงเหตุผลที่ต้องมานั่งที่นี่ ถามลูกว่าเข้าใจหรือไม่ว่าทำผิดอะไร และบอกลูกว่าไม่ควรทำสิ่งนี้อีก ให้ลูกขอโทษและกอดลูกไว้
  6. ไม่ควรรื้อฟื้นถึงความผิดเก่าๆ แล้วนำกลับมาพูดใหม่อีก เพราะลูกจะรู้สึกด้อยค่า หรือสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้ลูก และอาจส่งผลให้ลูกมีพฤติกรรมต่อต้านมากขึ้น
  7. ให้คุณพ่อคุณแม่ทำการลงวินัยแบบนี้ทุกครั้งเมื่อลูกเริ่มแผลงฤทธิ์ อาจต้องใช้ความอดทนมาก แต่เป็นสิ่งที่คุ้มค่า ถ้าคุณพ่อคุณแม่ทำบ้างไม่ทำบ้าง สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่ได้ผล

เวลาเจ้าตัวเล็กแผลงฤทธิ์ขึ้นมาทีไร คุณพ่อคุณแม่เป็นต้องปวดหัว ไม่รู้จะใช้วิธีไหนดี ลองดูนะคะ การให้ความรักความอบอุ่นและการลงวินัยอย่างเหมาะสมจะทำให้ลูกมีจิตใจที่มั่นคงและแจ่มใสส่งผลให้พัฒนาการด้านต่างๆดีขึ้น เหมือนคำพังเพยที่กล่าวว่า รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี คราวนี้ เป็นรักลูก อยากให้ลูกเป็นคนดีต้องลงวินัยด้วยความรักถึงจะได้ผล เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนเสมอค่ะ

ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000040439
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง