เมื่อ "โรงเรียน" ในวันนี้ มีอะไรให้เด็กทำ มากกว่านั่งเรียน! หากย้อนกลับไปสมัยเรียนประถม หรือมัธยมของพ่อแม่หลายคน เชื่อว่ากิจกรรมเสริมในโรงเรียนค่อนข้างมีน้อย เมื่อเทียบกับเด็กสมัยนี้ ที่จะเห็นได้ชัดว่า มีตัวเลือกกันมากขึ้น โดยเฉพาะทักษะทางวิชาชีพ ที่จะเป็นโครงงานให้เด็กได้คิดแผนงาน ลงทุนตั้งธุรกิจจำลองง่ายๆ ในโรงเรียน เพื่อแปรองค์ความรู้เป็นเม็ดเงิน สร้างจิตสำนึก และความรับผิดชอบต่อสังคม
นอกจากบางโรงเรียนจะจัดกิจรรมเสริมให้กับเด็กแล้ว บางแห่งยังร่วมมือกับกิจกรรมที่หน่วยงานต่างๆ จัดขึ้น หนึ่งในกิจกรรมที่ทีมงาน Life and Family ขอพูดถึงก็คือ โครงการ "กรุงไทย ยุววาณิช" ที่จัดโดยธนาคารกรุงไทย โดยมีวัตถุประสงค์ให้เด็กเข้าใจหลักการ และรากฐานเกี่ยวกับการประกอบการที่ถูกต้อง รวมทั้งให้เด็กได้ค้นพบทางเลือกในชีวิต ซึ่งไม่เพียงแต่มุ่งเน้นด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว เพราะสังคมทุกวันนี้ "คนเก่ง" กับ "คนดี" กำลังเป็นเรื่องที่สวนทางกัน
"สุมนา วงษ์กะพันธ์" รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานทรัพยยากรบุคคล และบรรษัทภิบาล บมจ.ธนาคารกรุงไทย จำกัด ให้ทัศนะว่า โรงเรียนบางแห่งมุ่งเน้นการสอบเข้าเป็นหลัก แต่การที่มีกิจกรรมเข้ามาเสริม จะช่วยเป็นทางเลือกให้เด็กได้ลองทำ เพราะบางคนยังสับสนในการเลือกชีวิต เห็นได้จากโครงการกรุงไทยยุววาณิช ที่จะให้เด็กได้ปฏิบัติจริง ถือเป็นตัวช่วยหนึ่งให้เด็กมีทางเลือก และค้นพบว่า ตัวเองมีใจรักในการทำธุรกิจหรือไม่
"ถ้าเขาลองแล้ว รู้สึกว่าชอบ และอยากทำธุรกิจ เราก็อยากให้เขาเป็นนักธุรกิจที่มีจรรยาบรรณ มีจริยธรรม รู้จักช่วยสังคม โดยฝึกทำ ลองทำ และขายจริง และหลังจากที่ได้กำไรอย่างน้อย 15 เปอร์เซ็นต์แล้ว ต้องแบ่งไปช่วยสังคมด้วย ถือเป็นการทำธุรกิจที่ดูแลสังคม ซึ่งเด็กจะได้ความรู้ Knowledge sharing ไปยังชุมชน ชุมชนได้ประโยชน์จากสิ่งที่เด็กทำ และเด็กได้ความรู้ประสบการณ์ เป็นทุนทางปัญญา ที่ส่งผลไปสู่สังคม และครอบครัวในที่สุด" สุมนากล่าว
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ ดำเนินมาสู่ปีที่ 8 แล้ว โดยจัดขึ้นเพื่อเข้ามาเป็นกิจกรรมเสริมให้เด็กในโรงเรียน ถือว่าเป็นทางเลือกสู่ทางรอดให้กับเด็กในอนาคตได้ไม่น้อย เนื่องจากบางคนไม่มีงานทำ หรือไม่อยากทำงาน แต่อยากสร้างงานที่บ้านกับครอบครัวด้วยตัวเอง ก็สามารถทำได้
สอดรับกับ "กลอยใจ นิลทัย" หรือ "ก้อย" อายุ 18 ปี ผู้ร่วมโครงการ "กรุงไทย ยุววาณิช" จากโรงเรียนวิทยาลัยอาชีวศึกษา จ. สุรินทร์ ที่เลือกโครงงาน "พิซซ่าอีสาน" เข้าประกวด เผยว่า โครงการนี้ช่วยเข้ามาเสริม แทนที่จะเรียนวิชาการอย่างเดียว ช่วยให้เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เพราะต้องรับผิดชอบ และแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังรู้แนวการเขียนแผนธุรกิจ และทำแผนการตลาดอย่างถูกต้องด้วย สามารถนำไปประยุกต์เมื่อต้องการจะสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง
"บางครั้งเรียนอย่างเดียวก็ไม่พอ เพราะต้องหาตัวเลือกให้กับชีวิตบ้าง เพราะเรียนจบแล้วไม่รู้ว่ามีงานทำหรือเปล่า ดังนั้นการมีอาชีพติดตัว จะทำให้เราไม่ลำบาก อย่างหนูตอนนี้มีธุรกิจกล้วยป๊อป ปิดเทอมก็หารายได้เสริม คิดสูตรเอง ขายเอง และนำไปสอนน้องที่บ้าน ตั้งร้านขายหน้าบ้าน หารายได้กันเอง จากนั้นส่วนหนึ่งจะเจียดไปใช้ในครอบครัว" ก้อยเผยถึงสิ่งที่ตัวเอง และครอบครัวได้รับ
ไม่ต่างจาก "กิตติศักดิ์ เหมือนดาว" หรือ "แพ็ค" อายุ 18 ปี ผู้ชนะเลิศโครงการ "กรุงไทย ยุววาณิช" ปีล่าสุด จากโครงงาน "การ์ตูน และลายไทย 3 มิติ" โรงเรียนศรีวิชัยวิทยา จ.นครปฐม สะท้อนว่า "ปัจจุบ้นความรู้อย่างเดียวไม่ทำให้เด็กอยู่รอดในสังคมได้ ดังนั้นจึงต้องมีกิจกรรมภาคปฏิบัติเข้ามาเป็นทางเลือกด้วย อย่างโครงการนี้ ถือเป็นส่วนที่เข้ามาเสริม ควบคู่กับการเรียน และเป็นตัวเลือกหนึ่งที่สร้างเสริมทักษะการเรียนรู้ให้สัมฤทธิ์ผลมากขึ้น"
คงจะดีไม่น้อย ถ้าหลายๆ โรงเรียนมีกิจกรรมให้กับเด็กๆ ได้ทำกันมากขึ้น อย่างน้อยถือว่าเป็นตัวเสริมให้เด็กได้รู้จักปฏิบัติจริง คิด และแก้ปัญหาเป็น เมื่อเป็นเช่นนี้ เชื่อว่าเด็กไทยจะหัวโตน้อยลง เพราะมีทักษะด้านอื่นๆ เข้ามาช่วยถ่วงดุล ไม่ใช่เก่งแต่เอาตัวเองไม่รอด หรือเก่งแต่ฉ้อโกงคนอื่น
ข้อมูลจาก :
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000044712