ก่อนส่งลูกไป "ทำงานพิเศษ" ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง เงินทองหาได้ยากมากขึ้น แนวคิดของเด็ก ๆ หลายคนจึงเปลี่ยนไป บางคนมักใช้โอกาสนี้เอ่ยปากขออนุญาตพ่อแม่ออกไปหางานพิเศษทำ เพื่อนำเงินกลับมาช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวเพิ่มเติม หรือบางคนก็ขอไปทำงานพิเศษเพื่อเหตุผลอื่น ๆ เช่น หาประสบการณ์ เก็บสะสมเงินไว้เพื่อจุดประสงค์ต่าง ๆ ในอนาคต ฯลฯ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่เด็กมีแนวคิดจะหาประสบการณ์ด้วยการทำงานพิเศษยามว่างนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่การจะเข้าสู่โลกแห่งการทำงานอย่างมีคุณภาพ และไม่ทำให้พ่อแม่เป็นกังวลก็จำเป็นต้องเตรียมตัวกันบ้างไม่มากก็น้อย เพื่อที่เด็ก ๆ จะได้มีวัคซีนป้องกัน และรู้จักวิธีปฏิบัติตนในที่ทำงานให้เหมาะสม ไม่แสดงพฤติกรรมให้ผู้ใหญ่ในที่ทำงานบางคนตำหนิเอาได้ ซึ่งแนวทางดี ๆ สำหรับการเตรียมตัวลูกสู่การทำงานพิเศษนั้น เริ่มจาก
- พ่อแม่ต้องมองออกถึงจุดเด่นจุดด้อยของลูก และความสนใจของเขาที่มีต่องาน อย่าอนุญาตเพียงเพราะลูกรบเร้าขอไปทำงานพิเศษ เพราะอาจมีปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้มากมาย เช่น ลูกมาค้นพบภายหลังว่าตนเองไม่ได้ชอบงานนั้นจริง และอยากขอลาออก ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับผู้ร่วมงาน หรือลูกไม่สามารถทนรับแรงกดดันจากการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ หรือลูกไปทำงานเพราะต้องการตามเพื่อน ๆ ไป ฯลฯ ดังนั้น หากพ่อแม่พบว่าการขอไปทำงานพิเศษของลูกเข้าข่ายกรณีดังกล่าว จึงควรมองหางานอาสาสมัครที่มีความคล้ายคลึงกับงานที่ลูกขอไปทำ ให้เด็กได้ทดลองดูก่อนว่ากระบวนการทำงานเป็นอย่างที่เขาตั้งใจเอาไว้ไหม ถ้าเด็กรับได้ ชอบใจ ค่อยอนุญาตให้เขาได้ทำงานหาประสบการณ์
- งานพิเศษทำได้แต่ต้องไม่ปฏิเสธงานบ้าน พ่อแม่ต้องอธิบายให้เข้าใจว่าลูกไม่สามารถทิ้งความรับผิดชอบในบ้านโดยอ้างว่ามีงานพิเศษต้องทำไปได้ งานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ล้างจาน กวาดบ้าน หุงข้าว ล้วนเป็นงานที่ฝึกความรับผิดชอบของลูกได้ดีทางหนึ่ง แต่ในกรณีที่เด็กขอไปทำงานพิเศษแล้วไม่สามารถบริหารเวลามารับผิดชอบงานบ้านได้ จนทำให้งานบ้านต้องเสียหาย ก็แปลว่า เขายังไม่สามารถแบ่งเวลาได้ดีพอ ควรให้เขากลับมารับผิดชอบหน้าที่ที่เหมาะสมกับวัยให้ดีก่อนจะดีกว่า ส่วนหน้าที่ทำงานหารายได้นั้นต้องการ “ระดับความรับผิดชอบ” ที่สูงกว่านี้ จึงยังไม่เหมาะสมกับเขาด้วยประการทั้งปวง
สิ่งที่ต้องพิจารณาประกอบอื่น ๆ
- สถานที่ตั้ง การเดินทาง หากที่ทำงานพิเศษของลูกอยู่ใกล้หูใกล้ตาพ่อแม่ ก็ย่อมช่วยให้เบาใจลงได้ หรือหากเป็นการไปช่วยงานเพื่อนสนิท คนรู้จัก หรือคนที่พอจะฝากฝังได้ ก็ยิ่งดี แต่กรณีที่ลูกต้องเดินทางไปเอง พ่อแม่ควรช่วยมองหาเส้นทาง หรือยานพาหนะที่เหมาะสม เป็นการสอนให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตนเองอย่างง่ายด้วยค่ะ
- ทางออกให้ลูกกรณีเปลี่ยนใจ ข้อนี้เกิดขึ้นได้กับเด็กที่เริ่มทำงานพิเศษ พวกเขาอาจยังไม่คุ้นเคย ไม่สามารถปรับตัวได้ และอาจรู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถทำให้พ่อแม่ภูมิใจได้ พ่อแม่จึงอาจเตรียมตัวเลือกสำรองไว้เช่น การรับทำงานเป็นชิ้น ๆ แทนการเข้างานเป็นพนักงานเต็มตัว และบอกเขาว่า เมื่อเขาพร้อม เขายังมีโอกาสกลับไปทำงานได้เสมอ
เทคนิคพ่อแม่ทำงานเตรียมไว้สอนลูก
พ่อแม่สามารถล้วงเทคนิคต่าง ๆ ในการทำงานมาสอนลูก ๆ ตลอดจนเตรียมตัวพวกเขาให้พร้อมสำหรับการทำงานพิเศษได้อีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น
- สอนลูกบริหารเงิน เป็นโอกาสอันดีที่พ่อแม่จะได้สอนลูกให้เก็บหอมรอมริบเงินที่เขาหามาได้ เด็กบางคนอาจต้องการไปทำงานพิเศษเพราะต้องการซื้อสิ่งของต้องใจ บางคนอาจต้องการเก็บไว้ใช้ในอนาคต ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะทำงานพิเศษด้วยเหตุผลใดก็ตาม พ่อแม่สามารถใช้โอกาสนี้สอนให้ลูกรู้จักกับการฝากเงินในบัญชีธนาคาร การใช้บัตร ATM อย่างเหมาะสม สอนเรื่องการออมเงินผ่านการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ ให้กับเด็กได้ และเขาจะเห็นภาพได้ชัดขึ้นด้วย
- สอนลูกหัดทำเรซูเม่-เก็บประวัติการทำงาน เด็กวัยรุ่นหากต้องการสมัครงาน เรซูเม่ดี ๆ ก็จำเป็นเช่นกัน หากลูกเคยมีประสบการณ์เป็นอาสาสมัคร ทำกิจกรรมระหว่างเรียน หรือเข้าแข่งขันได้รางวัลต่าง ๆ มา ก็สามารถนำมาใส่ไว้ในเรซูเม่ของเขาได้ ไม่จำเป็นต้องใส่แต่ประสบการณ์การทำงานเสมอไป แต่ที่สำคัญคือ ควรสอนให้ลูกใส่ข้อมูลในเรซูเม่ตามความเป็นจริง
- สอนลูกเตรียมตัวสำหรับการสัมภาษณ์ แม้เป็นเด็ก ก็หนีไม่พ้นการถูกสัมภาษณ์ ซึ่งพ่อแม่อาจช่วยได้ด้วยการตั้งคำถามง่าย ๆ กับลูก เช่น ให้เขาลองแนะนำตัว บอกเล่าประสบการณ์ที่ผ่านมา ความสามารถที่เขาถนัด ฯลฯ เพื่อให้ลูกคุ้นเคยกับการตอบคำถาม
สำหรับข้อดีของการทำงานพิเศษยามว่างในเด็กวัยรุ่นนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ลูกมีความเชื่อมั่นในตนเอง มีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้น และได้พบกับคนหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งยังได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีความรับผิดชอบมากขึ้นตามวัยนั่นเอง
เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนจาก more4kids.info และ eHow.com
ข้อมูลจาก :
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000014345