ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
สอนให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์โกรธและความก้าวร้าว
สอนให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์โกรธและความก้าวร้าว คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะหนักใจที่พบว่าลูกของตนเองนั้นมีอารมณ์ค่อนข้างรุนแรง และมีจะการแสดงออกเมื่อไม่พอใจ โดยการใช้กำลังเตะถีบ ทุบ หรือทำร้ายคนอื่นๆที่อยู่ใกล้ จึงมักจะถามถึงวิธีการที่จะสอนลูกให้รู้จักการควบคุมอารมณ์โกรธและความก้าวร้าวได้อย่างไร ซึ่งพอจะมีข้อแนะนำได้ดังนี้


อารมณ์โกรธและการใช้ความรุนแรงนั้นมีอยู่ในตัวเราทุกคน ซึ่งเป็นปกติที่เราจะมีอารมณ์โกรธหรืออยากใช้กำลังในการเอาชนะเมื่อถูกขัดใจหรือเพื่อให้ได้ซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการ ในวัยเด็กจะเห็นว่าเขามีการแสดงออกของอารมณ์เหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา แต่เมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ประสบการณ์และวุฒิภาวะที่เป็นไปตามอายุ ทำให้เรารู้จักควบคุมอารมณ์โกรธและการแสดงออกของอารมณ์รุนแรงเหล่านี้ให้อยู่ในเกณฑ์ที่สังคมยอมรับได้ และไม่ทำร้ายผู้อื่น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรที่จะค่อยๆฝึกให้ลูกรู้จักที่จะรู้ถึงอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นในตัวเอง และรู้จักวิธีที่จะควบคุมอารมณ์นั้น และแสดงออกในเชิงที่สร้างสรรค์ ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ว่าจะมีลูกเล่นอย่างไร


เมื่อเกิดปัญหา มีการขัดใจกันขึ้น และลูกมีอาการ “เบรกแตก” แสดงความโกรธและเริ่มใช้กำลังแสดงความก้าวร้าวออกมา คุณควรจะทำดังนี้คือ


ประเมินสถานการณ์ที่ทำให้มีอารมณ์โกรธเกิดขึ้น

คุณควรจะถามลูกอย่างตรงๆว่า อะไรที่ทำให้เขาเกิดความโกรธขึ้น คุณเองควรจะรับฟังเหตุผลของเขาด้วย แม้ว่ามันอาจจะแตกต่างจากเหตุผลของคุณ และไม่พยายามทำให้เกิดการโต้เถียงขึ้นอีก และถ้าเป็นไปได้ควรที่จะพาเด็กออกจากบริเวณนั้นเพื่อลดปฏิกริยาต่อต้านก่อนที่จะเริ่มสอนลูก คุณเองควรควบคุมอารมณ์ของตนเองให้สงบเย็นในขณะพูดกับลูกด้วย เพื่อป้องกันการปะทะกันอีกรอบด้วยอารมณ์ระหว่างคุณกับลูก และเป็นการ “ช่วยรักษาหน้า” ให้แก่ลูกด้วย คุณเองควรพิจารณาดูว่า เราได้ตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆมากเกินไป จนยากที่เด็กจะไม่ทำผิดหรือไม่ และควรที่จะให้โอกาสลูกได้ออกกำลังระบายอารมณ์อย่างถูกวิธี เช่น วิ่งเล่น และเล่นซนในบ้านได้บ้าง


พยายามยิ้มเข้าไว้ 

บางครั้งการมีอารมณ์ดีของคุณพ่อคุณแม่นั้นจะช่วยผ่อนคลายบรรยากาศที่กำลังตึงเครียด และลดอารมณ์โกรธและความก้าวร้าวของลูกลงได้ ดังนั้นการยิ้ม ด้วยท่าทีที่สงบเย็นกับลูกจะช่วยทำให้ลูกเกิดการยอมรับ และรับฟังซึ่งกันและกันได้ง่ายขึ้น แต่ควรระวังว่าการพูดล้อเล่น หรือการพูดจาเหน็บแนม อาจทำให้เด็กเสียใจหรือทำให้เกิดเรื่องต่างๆบานปลาย และสถานการณ์แย่ลงได้


บางครั้งลูกอาจจะต้องการเพียงแค่การโอบกอด เพื่อแสดงความรักอย่างง่ายๆ 

เพราะการโอบกอดและการให้ความรักความเข้าใจแก่ลูก ทำให้เขารับรู้ว่าคุณยังรักเขาอยู่เสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อาจทำให้เรื่องต่างๆคลี่คลายได้ง่ายๆ 
โดยธรรมชาติแล้วเด็กมักจะต้องการความสนใจจากผู้ใหญ่และอยากให้ผู้ใหญ่เล่นด้วย เด็กที่กำลังจะทำลายของเล่นชิ้นโปรดของเขาเพราะถูกขัดใจ อาจจะหยุดการกระทำนั้น เมื่อเห็นว่าคุณให้ความสนใจในของเล่นของเขา หรือเด็กโตที่กำลังหงุดหงิด ไม่อยากทำการบ้าน และพร้อมที่จะอาละวาด จะสงบลงถ้าคุณให้ความสนใจที่จะช่วยเหลือเขาบ้างในการทำการบ้าน 


สอนลูกให้รู้จักการแสดงออกถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตนเอง โดยใช้วิธีที่เป็นเชิงบวกและสร้างสรรค์

คุณควรจะบอกให้ลูกรู้ว่าคุณยอมรับได้ ถ้าเขาจะมีอารมณ์โกรธ หรือต้องการแสดงความรู้สึกโกรธในตัวเขาออกมา แต่ควรจะเป็นไปในรูปแบบที่สังคมยอมรับได้และไม่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น โดยคุณอาจจะจัดตั้งกฎเกณฑ์ที่ยอมรับได้ทั้งคุณและลูกให้ลูกได้เข้าใจและรับรู้อย่างชัดเจนว่าเป็นอย่างไร และพยายามรักษากฎเกณฑ์นั้นทั้งสองฝ่าย และพยายามสื่อกับลูกเสมอถึงการกระทำและพฤติกรรมบางอย่างที่เหมาะสม หรือไม่เหมาะสม ที่เขาได้ทำไป และแม้ว่า กลายเป็นคุณพ่อคุณแม่เองเป็นผู้กระทำผิดข้อตกลง คุณเองก็ต้องเคารพในกฎเกณฑ์นั้นเช่นกัน เพื่อให้ลูกเข้าใจและปฏิบัติตาม ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและความเคารพในตนเอง (positive self-image and self-esteem) ขึ้นในตัวลูก เขาจะได้มีความรู้สึกว่าตนเองมีค่า และมีคนรัก มีความภูมิใจในตนเอง

ควรชมลูก ถ้าคุณเห็นว่าเขารู้จักที่จะควบคุมอารมณ์โกรธของตนเองได้ และไม่ใช้วิธีแสดงความก้าวร้าว แต่ใช้วิธีอื่นที่ไม่ใช้ความรุนแรงแทนในการแก้ปัญหา

ควรหาโอกาสชี้ให้ลูกได้เห็นหรือรับรู้ในกรณีที่มีความขัดแย้งกับผู้อื่นที่เกิดขึ้นในบ้าน หรือนอกบ้าน ที่เด็กรับรู้ได้ และมีการใช้วิธีการพูดจาแก้ไขปัญหากันอย่างสันติ เพื่อให้เขาเห็นตัวอย่างของการควบคุมอารมณ์และการใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา


รู้จักระบายอารมณ์ออกบ้าง

คุณพ่อคุณแม่บางครั้งอาจจะเป็นคนทำให้ลูกใช้กำลังและความก้าวร้าวในการแก้ปัญหา เช่น คุณเองอาจจะใช้วิธีดุว่าเสียงดัง หรือตีลูกเป็นการลงโทษ ทำให้ลูกเข้าใจผิดว่าวิธีการที่จะควบคุมผู้อื่น หรือเอาชนะผู้อื่น เพื่อให้ยอมทำตามที่ตนเองต้องการนั้น ก็คือการใช้กำลัง บางครอบครัวอาจจะสนับสนุนให้ลูก (โดยเฉพาะลูกชาย) ต้องกร้าว โดยให้ความรู้สึกว่าความกร้าว หมายถึงความเข้มแข็ง หรือความเป็นลูกผู้ชาย ทำให้เด็กเข้าใจว่าการเตะถีบหรือต่อยผู้อื่นเมื่อไม่พอใจเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรกระทำในฐานะลูกผู้ชาย แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ความเป็นลูกผู้ชาย,ความเป็นสุภาพบุรุษ ไม่ได้หมายถึงการใช้กำลังข่มขู่ผู้อื่นแต่อย่างใด


ในบางครั้งเมื่อมีปัญหาขัดใจกันระหว่างคุณกับลูก คุณเองก็มีอารมณ์ ลูกเองก็มีอารมณ์ จึงควรจะรู้จักวิธีที่จะลดความพุ่งพล่านของอารมณ์ในตัวคุณ (และลูก) ออกไปเสียบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะทำได้โดยการมีกิจกรรมออกกำลังกาย ฯลฯ เช่น

- การออกไปเดินรอบสนาม, การเต้นรำไปตามจังหวะเพลง, หรือกระโดดเชือก ฯลฯ ที่ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปได้ทั่วร่างกาย จะทำให้คุณหายหงุดหงิดและรู้สึกผ่อนคลายลงได้

- หางานอื่นง่ายๆที่ค้างไว้มาทำ เพื่อให้จิตใจไม่คิดวกวนนัก เช่น การทำงานบ้าน กวาดบ้าน ล้างรถ ปลูกต้นไม้ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้คุณหายโกรธและได้ทำงานต่างๆในบ้านให้เสร็จได้ตามที่ตั้งใจไว้

- ไปอาบน้ำหรือแช่น้ำให้ผ่อนคลาย เหมือนล้างเอาอารมณ์พุ่งพล่านออกไปจากตัว

- ถ้าโมโหมากๆ อยากทุบหรือทำอะไรหนักๆสักอย่าง ก็ให้ไปต่อยหมอน หรือปาลูกบอล หรือต่อยกระสอบทราย (ถ้ามีกระสอบทรายอยู่แล้วที่บ้าน, แต่ห้ามนำเอาคนที่อยู่ข้างๆมาทำเป็นกระสอบทรายเด็ดขาด)

- ถ้ายังทนไม่ไหวจริงๆ ก็ให้ออกไปข้างนอกที่กว้างๆ แล้ว กรีดร้องให้เสียงแหบไปเลย (ถ้าไม่มีที่กว้างๆ ก็อาจใช้วิธีปิดประตูห้องปิดหน้าต่าง เพื่อไม่ให้เสียงออกไปรบกวนคนอื่น แล้วก็กรี๊ดให้สบายใจซะที ก็ได้ค่ะ) 

อารมณ์โกรธสามารถเผาผลาญตัวเราและทำให้เกิดความเครียด ความสับสน และทำลายพลังงานในตัวคุณ (และลูก) ไปได้อย่างมาก คุณจึงควรจะทำให้อารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นนี้ ถูกแสดงออกมาได้ในเชิงสร้างสรรค์ และรู้จักในการรับฟังและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น และรู้จักที่จะหาข้อสรุปและตกลงกันให้ได้ในข้อคิดความเห็นที่แตกต่างกัน 

ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกตัวคุณเองและลูกให้สามารถควบคุมอารมณ์โกรธและความก้าวร้าวของแต่ละคนได้แล้ว คุณกำลังปลูกฝังความเป็นผู้นำ และฝึกให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิตของเขาในอนาคตอย่างน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง

ขอเอาใจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกได้อย่างที่ตั้งใจไว้นะคะ


พ.ญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก.คอม

ข้อมูลจาก : http://www.clinicdek.com
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง