คนตัวจิ๋วสนุกกับคณิตศาสตร์ แม้ว่าทารกจะเพิ่งเข้าสู่วัยหัดคลาน ก็สามารถเรียนรู้คณิตศาสตร์อย่างสนุกสนานได้แน่นอน ว่าแต่จะทำอย่างไรล่ะ..ตามมาดูโชว์กันค่ะ แล้วอย่าลืมลงมือทำกิจกรรมไปพร้อมกันเลยนะคะ....
กิจกรรมคณิตศาสตร์สำหรับเด็กวัย 7 เดือน - 3 ขวบ
กิจกรรมที่ 1: หนูตัวสูงขึ้นนะ:
คุณแม่นั่งฝั่งตรงข้ามกับลูกวัยจิ๋วเพื่อให้ลูกมองเห็นคุณแม่ได้ชัดๆ คุณแม่ยกมือขึ้นสูงเหนือระดับศีรษะพลางบอกกับลูกว่า "ตัวสูงขึ้น" ทำเสียงสูงด้วยก็ดีค่ะ สร้างอารมณ์สนุกให้ลูก ทำซ้ำอีกสัก 2 - 3 ครั้ง จากนั้นค่อยๆ ยกมือลูกให้อยู่เหนือระดับศีรษะของลูก แล้วพูดซ้ำอีกครั้งว่า "ตัวสูงขึ้น"
สักพักลูกจะตอบสนองจากการที่คุณแม่พูดคำว่า "ตัวสูง" ลูกจะพยายามชูมือขึ้นในอากาศทุกครั้งที่คุณแม่พูดว่า "ตัวสูง"เพื่อโชว์ว่าตัวเองสูงขึ้นแค่ไหน
กิจกรรมที่ 2: คณิตศาสตร์ในอ่างอาบน้ำ
นักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตกาลชื่อก้องโลกอย่างอาร์คีมิดีสค้นพบหลักการทางคณิตศาสตร์ขณะอาบน้ำในอ่างอาบน้ำจนต้องตะโกนออกมาว่า "ยูเรก้า" ฉันใด ลูกตัวน้อยของคุณก็สามารถสนุกกับคณิตศาสตร์ขณะอาบน้ำในอ่างอาบน้ำได้ฉันนั้นเช่นกัน (เอ๊ะ...เกี่ยวกันมั้ยเนี่ย)
ถึงแม้ว่าเจ้าตัวน้อยจะยังไม่ค้นพบหลักการทางคณิตศาสตร์ขณะเล่นน้ำในอ่างอาบน้ำ แต่การันตีได้ว่า เจ้าตัวน้อยจะค้นพบความสนุกสุขใจจนต้องร้อง.. อือ อา..ออกมาอย่างแน่นอน 555 เพราะมีคุณแม่คนเก่งคอยสรรหากิจกรรมสนุกๆ มาให้ลูกรักเล่นนั่นเอง
ว่าแล้วขอแรงคุณพ่อจอมพลังหน่อยนะคะ ช่วยตอกตะปูที่ก้นถาดพลาสติคให้เป็นรูเล็กๆ ทั่วทั้งถาด (ถาดที่ซื้อของมาจากซุปเปอร์มาร์เก็ตเป็นสีขาวๆ น่ะค่ะ) แล้วตอกตะปูถาดอีกใบให้รูใหญ่กว่าถาดอันแรกทั่วทั้งถาด เราก็จะได้ ถาด 2 ใบ - ถาดรูเล็กใบหนึ่ง และถาดอีกใบรูใหญ่กว่า
ขณะที่ลูกเล่นน้ำในอ่างอาบน้ำ คุณแม่ชวนลูกเอาถาดรูเล็กใส่น้ำให้เต็ม แล้วยกขึ้นเหนือน้ำ น้ำจะไหลออกจากรูถาด แต่เนื่องจากรูเล็ก น้ำจึงค่อยๆ ไหลออกมา
ส่วนถาดอีกใบ ที่มีรูใหญ่ ทำเช่นเดียวกัน คือ ตักน้ำใส่ถาดรูใหญ่ให้เต็ม แล้วให้ลูกค่อยๆ ยกถาดขึ้น จะเห็นว่าน้ำไหลพรูออกจากรูอย่างรวดเร็ว เป็นโอกาสดีที่คุณแม่จะพูดอธิบายให้ลูกฟังว่า ทำไมน้ำจึงไหลออกจากถาด 2 ใบ ในปริมาณที่แตกต่างกัน ไม่ต้องเลคเชอร์จนลูกเบือนหน้าหนีคุณแม่ตั้งแต่ยัง เล็กนะคะ แค่พูดเปรียบเทียบให้ลูกเห็นความแตกต่างนิดหน่อยก็พอ
เคล็ดลับ: เพิ่มความสนุกให้ลูกขณะดูน้ำไหลออกจากรูถาดอย่างรวดเร็วด้วยการเจาะรูเพิ่มที่ด้านข้างของถาด
กิจกรรมที่ 3: ตะกร้าผ้าพาสนุก
ต่อไปเป็นเกมตะกร้าผ้าพาสนุก ชื่อก็บอกว่าแล้ว ดังนั้นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้คือตะกร้าผ้านั่นเอง ขอ 2 ใบนะคะ ตะกร้าผ้าใบแรก - ใส่ผ้าให้เต็มตะกร้าเลยค่ะ คุณแม่ชี้ให้ลูกดูตะกร้าผ้าใบนี้แล้วร้องบอกว่า "ผ้าเต็มตะกร้าเลย" แล้วชวนลูกคว่ำตะกร้า กอบเอาผ้าออกจากตะกร้าให้หมด ลูกจะสนุกมากค่ะ ถนัดอยู่แล้วงานคว่ำของแบบนี้ ถูกใจหนูที่ซู๊ด เมื่อช่วยกันนำผ้าออกจากตะกร้าหมดแล้ว คุณแม่ก็บอกลูกตัวน้อยว่า "ผ้าหมดตะกร้าแล้ว" เพื่อให้ลูกเปรียบเทียบผ้าเต็มตะกร้า กับผ้าหมดตะกร้า (หรือจะใช้ว่า ผ้าเกลี้ยงตะกร้าก็ได้ค่ะ)
เปลี่ยนอุปกรณ์จากผ้าในตะกร้ามาเป็นของเล่นของลูกแทนก็ได้ค่ะ นำของเล่นใส่ตะกร้าจนเต็ม แล้วค่อยๆ หยิบของเล่นออกจากตะกร้าให้หมด ระหว่างนั้นคุณแม่อย่าลืม อธิบายและพูดคำว่า "เต็ม" และ "หมด" บ่อยๆ นะคะ
กิจกรรมที่ 4: เล็ก กลาง ใหญ่
คุณแม่จัดหาอุปกรณ์ที่ซ้อนกันเป็นชุดๆ และไม่แตกง่าย เช่น ถ้วยตวงพลาสติคขนาดต่างๆ จากเล็กไปหาใหญ่, ช้อนตวงขนาดต่างๆ, ถ้วยพลาสติคใบเล็ก - กลาง - ใหญ่, กล่องสำหรับใส่อาหารขนาด เล็ก - กลาง - ใหญ่ ฯ หากช้อนตวง และถ้วยตวง มีห่วงคล้องอยู่ ให้แกะออกเสียก่อน เพราะเราจะสอนลูกให้นำของขนาดต่างๆ มาซ้อนทับกัน จากเล็กไปหาใหญ่
คุณแม่ช่วยลูกซ้อนของเล็ก กลาง ใหญ่ ด้วยกัน จากนั้น ปล่อยให้ลูกลองซ้อนเองดู ระหว่างนั้น คุณแม่ควรพูดอธิบายให้ลูกฟังด้วยว่า ถ้วยใบนี้ขนาดเล็ก ถ้วยใบนี้ขนาดกลาง ถ้วยใบนี้ใหญ่ที่สุด เป็นการเล่นสนุกที่ทำให้ลูกมีโอกาสพัฒนาทักษะการเปรียบเทียบขนาดและการจัดลำดับสิ่งของ รวมทั้งช่วยให้ลูกเรียนรู้คำศัพท์ "เล็ก กลาง ใหญ่" ด้วย
กิจกรรมที่ 5: สนุกกับเพลงนับนิ้ว
กิจกรรมนี้สอนลูกนับนิ้วมือแต่ละข้าง ต้องขอขอบคุณผู้แต่งเพลงไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
คุณแม่ชวนลูกน้อยให้กางนิ้วมือ แล้วร้องเพลง "นับนิ้ว" ให้ลูกฟัง เนื้อร้องมีดังนี้ค่ะ
เพลง "นับนิ้ว"
เนื้อร้อง: ราตรี รุ่งทวีชัย
ทำนอง: เพลงช้าง
"นิ้ว นิ้ว นิ้ว นิ้วมือมีข้างละห้า
สองมือรวมกันเข้ามา นับนิ้วนั้นหนาได้เท่าไหร่ (ซ้ำ)
ฉันนับได้สิบนิ้วเอย"
ขณะร้องเพลง คุณแม่ควรสัมผัสนิ้วมืออันนุ่มนิ่มของลูกไปด้วยนะคะ เมื่อร้องเพลงจบ คุณแม่ชวนลูกนับเลข โดยแตะนิ้วมือลูกทีละนิ้ว แล้วนับเลขไปพร้อมกันตามลำดับ "1 - 2 - 3 - 4 - 5 - 6 - 7 - 8 -9 - 10"
หวังว่ากิจกรรมนี้จะช่วยให้คุณแม่และลูกหนูตัวน้อยสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับการนับเลขด้วยกันนะคะ.....
ข้อมูลจาก :
http://www.thaiparents.com/k1-5_act_math.html