กลางคืน.สำหรับการนอนมิใช่หรือ ? จากทารกที่คร่ำครวญร้องขอกินนมทุก 3 ชั่วโมงเมื่อแรกเกิด ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิธีกิน ยอมรับอาหารที่ไม่ใช่นม และจะเลิกนมบางมื้อไป โดยจะเห็นว่าส่วนใหญ่ของทารกอายุ 4 เดือนจะยอมรับอาหารเสริมที่มิใช่น้ำ และหยุดกินนมในเวลากลางคืน เพื่อปรับเวลาให้คล้ายพ่อแม่ คือ นอนในเวลากลางคืน เล่นและกินในเวลากลางวัน แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า มีเด็กอายุ 2-3 ขวบ ที่ยังตื่นมาเล่น และกินนมในช่วงเวลาที่น่าจะได้พักผ่อนอยู่อีกมาก
สาเหตุที่เด็กนอนหลับไม่สนิทตลอดคืน
1. พ่อแม่ตั้งใจฝึกให้ลูกกินนมในเวลากลางคืน เนื่องจากวิตกกังวลว่าเด็กได้รับสารอาการไม่พอเพียงในเวลากลางวัน
2. ถูกส่งเสริมให้นอนกลางวัน ผู้ใหญ่จะได้มีเวลาทำงานบ้านขณะที่เด็กหลับ
3. พ่อแม่ปลุกเด็กขึ้นมาเล่นในช่วงเวลากลางคืน หรือเล่นกับเด็กอย่างสนุกสนาน ในช่วงเวลากลางคืน แต่กลางวันจะไม่มีเวลาเล่นด้วย
4. เจ็บป่วย ไม่สบาย นอนละเมอ
5. กลัวที่จะพลัดพรากจากคนที่รัก มักมีประสบการณ์การถูกทิ้ง ให้ตื่นขึ้นมาคนเดียวมาก่อน
วิธีการแก้ไข
1. ลดนมช่วงกลางคืน นอกจากจะทำให้เด็กได้พักผ่อนติดต่อกันนานแล้ว และยังมีฮอร์โมนอีกหลายตัวโดยเฉพาะฮอร์โมนในการเจริญเติบโตจะสร้างและหลั่งออกมาในช่วงเวลากลางคืน วิธีการลดนมอาจลดในปริมาณ เช่นจากเดิม กินนม 8 ออนซ์ก็ค่อยๆ ลดทีละ 1-2 ออนซ์ ทุก 2-3 วันจนเลิกไป หรืออาจจะค่อยๆ ลดปริมาณเนื้อนมที่ชง เช่น เคยเติม 8 ช้อนต่อน้ำ 8 ออนซ์ โดยค่อยๆลดลงทีละ 1-2 ช้อนจนในที่สุดเด็กก็ดูดเพียงน้ำเปล่า หรืออีกรูปแบบหนึ่งก็คือ หยุดให้กินไปเลย วิธีการนี้อาจดูโหดร้าย ทารุณที่สุดและเด็กจะโวยวายอยู่ 4-5 วัน หลังจากนั้นเด็กจะปรับตัวได้เอง ปัญหาในการลดนมในช่วงเวลากลางคืนที่พบบ่อยที่สุด และมาขัดขวางทำให้การฝึกไม่ได้ผลก็คือ ความวิตกกังวลที่เกินเหตุของผู้เลี้ยงดูนั่นเอง
2. เพิ่มการออกกำลังกาย และเพิ่มเวลาที่ลงไปเล่นกับลูกให้มากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทารกมีการขยับตัว ขยับแขนขา ออกแรงใช้พลังงานให้มากที่สุด โดยที่พ่อแม่ไม่ควรช่วยผ่อนแรงเด็กมากนัก โดยการเข้าไปช่วยเหลือหรืออุ้มมากจนเกินไป จากการที่เด็กมีโอกาสออกกำลังกายได้เต็มที่ เมื่อถึงเวลานอนก็จะหลับสนิทได้ยาวนาน
3. สร้างความมั่นใจแก่เด็ก คอยอยู่ใกล้ๆ โดยลดการข่มขู่ ดุ ว่ากล่าว ที่รุนแรง หรือหลอกว่าจะละทิ้งเด็กซึ่งทั้งหมดจะทำให้เด็กสับสน ไม่แน่ใจว่าที่ผู้ใหญ่พูดนั้นจะจริงหรือไม่ การชื่นชมความสามารถตามวัยอย่างเหมาะสมไม่ชมมากจะเกินจริง หมั่นพูดเชียร์ให้กำลังใจถึงแม้ว่า ณ จุดนั้นเด็กจะทำได้เพียงบางส่วนก็ตาม การให้ยิ้มและเอาเด็กมา กอดบ่อยๆ ก็จะเป็นวิธีที่เพิ่มความเชื่อมั่นในตัวเด็กเอง ขณะเดียวกันนั้นทำให้เด็กเกิดความมั่นใจตัวผู้ใหญ่ว่ารัก และคอยอยู่ใกล้ชิดเสมอ
ถ้าทำตามสิ่งที่กล่าวมาแล้วและไม่ดีขึ้น โปรดปรึกษาแพทย์
สารพันปัญหาเด็ก
พ.ญ. วินัดดา ปิยะศิลป์
ข้อมูลจาก :
http://www.clinicdek.com