โรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น เบาหวานเป็นโรคที่มีน้ำตาลสูงในเลือด เกิดจากความผิดปกติของเมตาบอลิสมของคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน สืบเนื่องมาจากการที่ร่างกายมีการหลั่งอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความ สำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่เพียงพอ หรือมีความผิดปกติของอวัยวะเป้าหมายของอินซูลิน ได้แก่ ตับ กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อไขมันร่วมด้วย
ชนิดของโรคเบาหวานในเด็ก
ชนิดของโรคเบาหวานในเด็กมี 2 ชนิดหลัก คือ เบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดสำหรับเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น เกิดจากการที่เซลล์ตับอ่อนที่เรียกว่า “บีต้าเซลล์” ถูก ทำลาย เป็นผลจากกระบวนการทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ต้องได้รับการรักษาด้วยการฉีดอินซูลินเท่า นั้น และมักเริ่มเป็นโรคเมื่ออายุยังน้อย ส่วนเบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes) ซึ่ง พบมากขึ้นในเด็กและวัยรุ่นปัจจุบันและมักพบร่วมกับโรคอ้วนหรือภาวะ โภชนาการเกิน ในอดีตเชื่อว่าเป็นโรคที่พบในผู้ใหญ่เท่านั้น เบาหวานชนิดที่ 2 นี้ ต้องรักษาด้วยยากินและบางรายต้องใช้การฉีดอินซูลิน นอกจากนี้เบาหวานชนิดที่ 2 ยัง อาจรวมถึงผู้ป่วยบางโรคที่ได้รับยาที่ทำให้เกิดน้ำตาลสูงในเลือดชั่วคราว ด้วย เช่น ยาเคมีบำบัดที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น
อุบัติการณ์ที่เกิดขึ้น
อุบัติการณ์ของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในเด็กก็ยังคงมากกว่าเบาหวานชนิดที่ 2 แต่อุบัติการณ์ของเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับโรคอ้วนที่มากขึ้นนั้น เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา
อุบัติการณ์ของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่นไทยเพิ่มขึ้นอย่าง มากจากราวร้อยละ 6 ในปี พ.ศ. 2533 เป็นร้อยละ 13-15 ในระหว่างปี พ.ศ. 2539-2541 ตัวอย่างข้อมูลของหน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เพียง 4 รายที่ได้รับการวินิจฉัยในช่วง 10 ปีแรก (พ.ศ. 2533-2542) แต่ในช่วง 10 ปีหลัง (พ.ศ. 2543-2552) พบผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้นอีกเกือบ 40 ราย หรือประมาณ 10 เท่า
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอ้วนและเบาหวานชนิดที่ 2 ตาม มา ได้แก่ ภาวะโภชนาการเกินและการขาดการออกกำลังกาย การที่มีความไม่สมดุลระหว่างการได้รับและการใช้พลังงานเป็นเวลานานทำให้เกิด ความอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2
ความแตกต่างของโรคเบาหวานในเด็กและโรคเบาหวานในผู้ใหญ่
โรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นมีความคล้ายคลึงกับโรคเบาหวานในผู้ใหญ่ แต่ก็มีความแตกต่างกัน ดังนี้
1. ชนิดของเบาหวาน ส่วนมากเบาหวานที่พบในเด็กจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 แต่ในผู้ใหญ่จะพบชนิดที่ 2 มากกว่า อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการพบอัตราเพิ่มขึ้นของเด็กอ้วนทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ
2. การ ดูแลรักษา เนื่องจากเด็กและวัยรุ่นเป็นวัยที่ยังมีการเจริญเติบโตและช่วงวัยรุ่นเป็น ช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ ด้านทั้งอารมณ์ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และฮอร์โมนต่าง ๆ รวมทั้งยังอยู่ในช่วงวัยเรียน มีคนรอบข้างที่ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลรักษา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ครู และเพื่อน ๆ รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ด้านต่าง ๆ ฉะนั้นการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กจึงมีความละเอียดซับซ้อนมาก
3. ระยะ เวลาที่เป็นเบาหวาน เนื่องจากถ้าเริ่มเป็นเบาหวานตั้งแต่เด็กโอกาสที่จะพบภาวะแทรกซ้อนในอนาคตก็ มีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี
ลักษณะอาการของเด็กที่เป็นโรคเบาหวาน
ถ้าเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 เด็กจะมีอาการปัสสาวะมากและบ่อย ดื่มน้ำมาก กินเก่ง แต่น้ำหนักลด ผอมลง บางรายน้ำหนักอาจลดได้ถึง 10 กิโลกรัม บางรายที่มีอาการมานานและไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา เด็กอาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ส่วนบางรายที่มีอาการหนัก จะมีภาวะเลือดเป็นกรด หายใจเหนื่อยหอบ
ส่วนเด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เกือบ จะทั้งหมดเกิดขึ้นในเด็กและวัยรุ่นที่อ้วนหรือน้ำหนักเกิน และส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการในระยะที่เริ่มเป็นหนุ่มสาวแล้ว ประมาณร้อยละ 50-75 ของผู้ป่วยจะมีพ่อหรือแม่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เกือบร้อยละ 90 ของผู้ป่วยจะมีญาติใกล้ชิดเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งนอกจากความอ้วนแล้ว ผู้ป่วยเด็กเบาหวานชนิดที่ 2 มัก มีปื้นดำหนาที่คอ รักแร้ ขาหนีบ ซึ่งขัดถูไม่ออก บางรายอาจมีการติดเชื้อราร่วมด้วย เช่น ที่ช่องคลอด ผิวหนัง ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยสังเกตว่าเด็กน้ำหนักลด แต่อาจมีอาการปัสสาวะมาก ดื่มน้ำมาก นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยบางรายที่ยังไม่มีอาการ แต่ตรวจพบจากการตรวจสุขภาพทั่วไปหรือมาปรึกษาแพทย์เรื่องอ้วนและแพทย์ทำการ ตรวจเลือดแล้วพบน้ำตาลสูงในเลือด นอกจากนี้ในเด็กอ้วนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 อาจมีความผิด ปกติของระบบอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในหลอดเลือดสูง นอนกรน ปวดข้อ ไขมันเกาะที่ตับ ประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น
หลักในการรักษาผู้ป่วยเด็กเบาหวาน
ขึ้นอยู่กับชนิดของเบาหวาน ประกอบด้วย
1. การใช้ยา การฉีดอินซูลินสำหรับเบาหวานชนิดที่ 1 และยากินหรือฉีดอินซูลินร่วมด้วยสำหรับเบาหวานชนิดที่ 2
2. การปรับวิถีการดำเนินชีวิต เป็นหัวใจสำคัญและมีความสำคัญอย่างมากในการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2
คำ แนะนำในการปรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ต้องปรับในเรื่องอาหารการกิน ต้องควบคุมอาหารโดยมีเป้าหมายเพื่อให้น้ำหนักลดลงช้า ๆ ในรายที่อ้วน มากกว่าที่จะพยายามทำให้น้ำหนักเป็นปกติ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง รวมทั้งเลี่ยงอาหารฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ และควรออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ วันละครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง และลดการอยู่นิ่ง ๆ หรือนอนดูโทรทัศน์ และเล่นเกมคอมพิวเตอร์
แม้ ว่าในปัจจุบัน โรคเบาหวานเป็นโรคที่ยังรักษาไม่หายขาด และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี ก็อาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้
นอกจากนี้ การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค ทางเลือกในการรักษา รวมทั้งสาเหตุและการดำเนินโรครวมทั้งภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก เช่นเดียวกันกับการมีส่วนร่วมของครอบครัวและโรงเรียน จะทำให้การรักษาประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น.
อาจารย์แพทย์หญิง เปรมฤดี ภูมิถาวร
กุมารแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเบาหวานในเด็ก
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
เดลินิวส์
ข้อมูลจาก :
http://www.clinicdek.com