ชวนลูกน้อยเปิดโรงเรียนในห้องครัว "ทุกห้องในบ้านลูกเข้าได้หมด ยกเว้นห้องครัว" แหม..ขืนคุณแม่คิดอย่างนี้เสียหมด ก็เท่ากับปิดประตูการเรียนรู้ของลูกๆ ทั้งหลายกันพอดี เรามาค่อยๆ แง้มบานประตูให้ลูกได้รู้จักเรียนรู้ผ่านห้องครัวกันน่าจะดีกว่าปิดตายเลย
อ้อ…งานนี้ไม่เกี่ยงเพศเด็กหญิงก็ได้ เด็กชายก็ดี ทุกคนสามารถเรียนรู้บทบาท หน้าที่ได้เท่าๆกัน แต่จะให้ดีขอเป็น 3-6 ขวบ (หรือเกินกว่านี้) ด้วยเป็นช่วงวัยแห่งการเลียนแบบบทบาทจากพ่อและแม่นั่นเอง
ก่อนเปิดห้องครัว
ความกลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับลูกมักเป็นอุปสรรคอันดับต้นๆ ที่พ่อแม่ไม่ค่อยยอมให้ลูกเข้าครัวนัก แต่ความกลัวไว้ก่อนก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะกลัวในระดับพอดีๆ จะทำให้พ่อแม่รอบคอบ ระมัดระวังใน
ความกลัวในระดับพอดีที่ว่าก็เช่น การใช้มีด เด็กเล็กหน่อยคุณพ่อคุณแม่ควรหามีดพลาสติกแบบที่มีฟัน สามารถหั่นของง่ายๆให้เขาก่อน แล้วทำให้ลูกดูว่าควรจะจับมีดแบบไหน หั่นอย่างไรให้ปลอดภัย
ทีนี้ลองให้ลูกทำเองบ้างด้วยการหั่นผักง่ายๆ เช่น ผักบุ้ง ผักชี แครอต โดยมีคุณพ่อคุณแม่ยืนอยู่ใกล้ๆ หั่นคล่องแคล่วด้วยมีดพลาสติกดีแล้ว จึงค่อยขยับไปใช้มีดจริง ซึ่งก็ทำตามขั้นตอนเหมือนมีดพลาสติก แต่เพิ่มระดับความระมัดระวังยิ่งขึ้น (วัยที่เหมาะกับการลองใช้มีดจริง ควรอยู่ในช่วงประถม 2 ขึ้นไป การบังคับกล้ามเนื้อมือทำได้มั่นคง และมีสมาธิมากขึ้น)
ความร้อนจากเตาแก๊ส หรือของร้อนๆในหม้อ ในกะทะ ก็เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านวิตกกลัวลูกจะพลาดไปโดนเข้า ทำให้มือไม้พุพองเจ็บตัว เด็กเล็กจะยังค่อนข้างใหม่ต่อประสบการณ์เหล่านี้ แต่ความกลัวที่เราพ่อแม่มี ลูกอาจไม่รู้จักด้วยซ้ำ หากเต็มไปด้วยความอยากลองมากกว่า แม่บอกว่าร้อนหรือ หนูไม่เชื่อหรอก ว่าแล้วก็แตะดูเสียเลย กรณีนี้เราก็จะให้ลูกลองแตะดูจริงๆ เพื่อที่เขาจะเข้าใจว่าไฟ ว่าหม้อร้อนๆที่พ่อกับแม่ห้ามนักห้ามหนานั้นน่ะมันร้อนจริงๆ (ไม่ได้ร้อนเล่นๆ) (แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องกะระดับความร้อนที่ไม่ร้อนสุดๆนะคะ เอาแค่ร้อนพอลองแตะได้ก็พอค่ะ)
นอกเหนือจากเรื่องหลักๆ ข้างต้น ก็คงเป็นการดูแลความเรียบร้อยทั่วไปภายในห้องครัวค่ะ ข้าวของควรจัดวางเป็นระเบียบ อยู่ในที่ที่ควรอยู่ ไม่หมิ่นเหม่น่าหวาดเสียว ประเภทมีดวางอยู่ขอบโต๊ะ เดินเฉียดนิดเดียวก็อาจร่วงหล่นโดนเท้าให้ได้เลือดตกยางออกระหว่าง ทำครัวอย่าปล่อยให้ มีน้ำไหลเลอะเทอะที่พื้น เด็กๆอาจเผลอไปเหยียบเข้า ลื่นหกล้มได้ง่าย และหลังทำครัวก็น่าจะชักชวนลูกเก็บกวาดให้เรียบร้อยทุกครั้ง
เปิดห้องครัว
เลือกเอาวันเหมาะๆที่อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งบ้าน จากนั้นก็ร่วมใจกันเดินเข้าครัวค่ะ คุณแม่ทำอาหาร คุณพ่อคอยชิม แถมมีผู้ช่วยตัวน้อยมาป้วนเปี้ยนหยิบโน่นยื่นนี่ให้ โรแมนติกไม่หยอก แต่ใช่ว่าจะมีเพียงความโรแมนติกนะคะ เจ้าห้องนี้ยังให้ความรู้(แบบอ้อมๆ)สารพันเชียวล่ะ เปรียบเสมือนโรงเรียนย่อมๆที่เด็กๆเข้าไปตักตวงความรู้ได้มากมาย หลายวิชา ทั้งเลข ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ทุกวิชาเด็กๆล้วนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองทั้งสิ้น ซึ่งความรู้นี้ย่อมจะฝังจำฝังใจมากกว่าการรับฟัง และพยักหน้ารับรู้หงึกหงักเท่านั้น.....
คณิตศาสตร์
อย่าดูถูกข้าวของประดามีในห้องครัวเชียวนา จาน ชาม ช้อน ส้อม แก้ว ผัก ผลไม้ทั้งหลาย หรือตามแต่จะคิดสรร ลูกๆสามารถหยิบจับมาเรียนรู้ได้ จะเรื่องการนับก็ดี ชวนลูกล้างผัก และนับไปด้วยว่าแต่ละกองมีกี่อัน กี่ผล แยกผักที่เหมือนกันเข้าพวกกัน แล้วกองไหนมีมากกว่า น้อยกว่า หรือเอ้า..ช่วยแม่จัดโต๊ะหน่อย ก็ได้เรื่องการจัดข้าวของให้เข้าประเภทกัน เป็นต้นว่า จานต้องอยู่คู่กับช้อนและส้อม รวมไปถึงได้เรียนรู้เรื่องของ มารยาทในการรับประทานอาหารไปด้วย
โตขึ้นอีกนิด ให้ลูกลองทำขนมที่ต้องมีการชั่งตวงส่วนผสมดูสิคะ ทั้งได้เห็น และทำเองกับมือ ลูกจะเข้าใจทันทีว่า 1 ช้อนโต๊ะนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร แล้ว 1 ช้อนชา 1 ถ้วยตวงล่ะ อย่างไหนมาก น้อยกว่ากันนะ ลูกจะเข้าใจได้แจ่มแจ้งทีเดียวค่ะ
ภาษาไทย-อังกฤษ
ตำราเลี้ยงลูกของฝรั่งบอกว่าเด็กจะเรียนรู้คำใหม่ๆเพิ่ม ตามประสบการณ์ที่แวดล้อมและมีคนป้อนให้ วิธีนี้เรานำมาเชื่อมโยงกับห้องครัวของเรา..ผัก ผลไม้หน้าตาแปลกๆ พวกนี้เรียกว่าอะไรนะ ได้รู้จักชื่อและตัวตนกันเสียที หั่นออกมาแล้วเหมือนดวงดาว อ๋อมันคือมะเฟือง สมชื่อภาษาฝรั่งที่เรียกว่า star fruit ส่วนมะรุมฝักยาวๆเหมือนไม้ตีกลองก็พ้องกับชื่อ drumstick แหมใครนะช่างเปรียบเปรย
อดสนุกไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกร้องและเล่น "จ้ำจี้ผลไม้ แตงไทย แตงกวา ขนุน น้อยหน่า พุทรา มังคุด ละมุด ลำไย มะเฟือง มะไฟ มะกรูด มะนาว มะพร้าว ส้มโอ ฟัก แฟง แตงโม ไชโยโห่ฮิ้ว" เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้ลูกได้รู้จักคำเพิ่มแบบไม่รู้ตัว
วิทยาศาสตร์
ห้องครัวในบ้านเราให้ความรู้ได้เท่ากับน้องๆห้องทดลองทางวิทยาศาตร์เชียวล่ะ เป็นต้นว่า การเปลี่ยนแปลงสถานะของอาหาร จากดิบ กลายเป็นสุกโดยอาศัยความร้อน จะด้วยวิธีนึ่ง ต้ม ตุ๋น ทอด ผัด แกง ย่าง ก็ได้ หรือจะเป็นเรื่องสี ลูกๆก็สามารถทำการทดลองไปด้วยได้ เช่น ใบเตย คั้นน้ำออกมาแล้วจะเป็นสีเขียว เพิ่มสีเขียวใส และเติมแต่งความหอม เอ..แล้วยังจะมีใบอื่นทำได้อีกหรือไม่นะ กระหล่ำปลีม่วงนั่นยังไงให้สีม่วง
นอกจากใบจะให้สีแล้ว ยังมีดอก มีผล ดอกอัญชันสีม่วง ดอกกระเจี๊ยบสีแดง ส่วนผลก็สตรอว์เบอร์รี่ ลูกหม่อน(มาจากต้นหม่อน ที่ใบของมันเราให้ตัวไหมกิน) ลูกหว้า เอามาผสม น้ำแล้วบี้ๆ ขยี้ขยำ
การถนอมอาหาร
ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความรู้ทางวิทยาศาตร์ ทำอย่างไรให้อาหารคงอยู่ทนทาน เก็บกินได้นานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือนๆ ตัวอย่างง่ายๆอาจให้ลูกลองทำไข่เค็ม มีคุณพ่อให้คำแนะนำว่าควรเป็นไข่เป็ด จะได้ไข่แดงสวย และทำเค็มแล้วยังช่วยลดความคาวได้อีกด้วย ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ต้มน้ำเกลือด้วยไฟอ่อนๆเตรียมไว้ กะวัดความเค็มว่าได้ที่หรือยังด้วยภูมิปัญญาง่ายๆ คือใส่ข้าวสุกลงไปซักเม็ดสองเม็ด ถ้าข้าวสุกลอยตัวขึ้นมา เมื่อไรเป็นอันว่าเค็มใช้ได้ นำน้ำเกลือเทใส่โหล หย่อนไข่ที่ล้างสะอาดดีแล้วลงไป ปิดฝาให้สนิท จากนั้นเหลือเพียงคอยเวลาอีกประมาณ 8-12 วันค่อยนำออกมาต้มกิน ตรงนี้อาจให้ลูกเป็นคนบันทึกเวลา กี่วันจึงเค็มน้อย กี่วันเค็มมาก และกี่วันจึงเค็มพอดีๆ
คุกกิ้ง cooking
เดี๋ยวนี้โรงเรียนอนุบาลหลายแห่งเขาบูรณาการวิชาคุกกิ้ง ให้เด็กๆสนุกกับการทำอาหารเข้าไว้ด้วย นัยว่าช่วยฝึกให้เด็กรักการกิน (เพราะภูมิใจที่ทำได้ด้วยตัวเอง อร่อยหรือไม่อร่อยก็ต้องกินล่ะ) สำหรับที่บ้านเราก็นำกลับมาทำได้เช่นเดียวกัน เริ่มจากช่วยออกความคิด(ฝึกวางแผนไปในตัว) ว่าวันนี้เราจะทำอะไรกันดี ลูกอยากกินอะไรจ๊ะ อ้อ..อยากกินขนมปังหน้ากุ้ง กับบัวลอยใช่มั้ย ถ้างั้นตามแม่มาคุณแม่ขอแรงลูกช่วยล้างผัก หั่นผัก เด็ดใบ ปอกกระเทียม ถ้าทำขนมก็อาจจะให้ปั้นแป้ง ร่อนแป้ง นวดแป้ง เริ่มคล่องขึ้นมาทีนี้ก็ให้ลองทำจริง โดยหัดจากเมนูง่ายๆ มีขั้นตอนไม่มาก เช่น แกงจืดต่างๆ แซนด์วิช ขนมบัวลอย ถั่วเขียวต้มน้ำตาล วุ้นนมฟรุ้ตสลัด
เมื่อลูกเริ่มคุ้นกับงานครัวไปสักระยะหนึ่ง จึงค่อยเพิ่มอาหารประเภททอดลงไป(ที่เรายังไม่เริ่มในทันที เพราะอาหารทอดมักมีน้ำมันกระเด็น เด็กจะตกใจได้) โดยทอดอาหารที่ใช้น้ำมันน้อย หรือใช้วิธีนาบในกะทะเทฟล่อน จึงค่อยขยับมาสู่อาหารชุบแป้งทอดต่อไป ทำเสร็จแล้วก็ผลัดกันชิม และติ-ชม
การทำอาหารมีลูกเล่นหลายอย่างที่ลูกจะสนุกสนาน เพลิดเพลินได้ อาจให้ลูกลองออกไอเดียตกแต่งหน้าตาอาหารเอง ข้าวโพดอ่อนจัดวางเป็นคิ้ว ไข่ต้มผ่าซีกเป็นลูกตา ดอกกระหล่ำต่างจมูก มะเขือเทศผ่าเสี้ยวแทนปาก นับเป็นการฝึกความคิดสร้างสรรค์อย่างเก่งกาจอีกวิธีหนึ่ง ที่ทำให้คุณได้ใกล้ชิดดูแลลูกมากขึ้นด้วย
ที่มา: มัมมีพีเดียดอทคอม
ข้อมูลจาก :
http://www.thaihealth.or.th/node/14338