เจาะลึก...เรื่องวัณโรคและวัคซีนบีซีจี วัณโรค ถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ทำให้เกิดปอดอักเสบ อีกทั้งยังก่อให้เกิดอาการเยื่อหุ้สมองอักเสบจนถึงแก่ชีวิตได้ และผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายที่สุด ก็คือลูกรักวัยแรกเกิด -5 ปี
ดังนั้น มาทำความรู้จักกับโรคนี้ และเข้าใจวิธีป้องกันเสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อลูกน้อยของคุณจะได้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
รู้จักวัณโรค
โรควัณโรคหรือ TB เป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรงซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่าไมโครแบคทีเรี่ยม ทิวเบอรคูโลซิส (Mycobacleriumtuberculosis) ซึ่งประเทศไทยถือว่ายังมีความชุกของโรคอยู่มาก ติดอันดับที่ 18 ของโลก ในแต่ละปีมีผู้ป่วยเป็นวัณโรครายใหม่ในประเทศไทยประมาณ 4 หมื่นคน
โดยทั่วไปแล้วคนส่วนใหญ่ที่ร่างกายแข็งแรงหากได้รับเชื้อโรคร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาควบคุมเชื้อวัณโรคได้เอง แต่สำหรับเด็กเล็กซึ่งมีภูมิคุ้มกันยังไม่มากเท่ากับผู้ใหญ่ หรือขณะที่ได้รับเชื้อมีร่างกายอ่อนแอ หรือมีโรคประจำตัวก็จะทำให้ป่วยเป็นวัณโรคได้ง่าย ซึ่งอาการที่แสดงออกนั้นก็จะต่างจากผู้ใหญ่ ซึ่งมักมีอาการทางปอดชัดเจนกว่าเด็ก เช่น ไอเป็นเลือด หรือบางรายมีอาการไอเรื้อรัง ขณะที่เด็กที่ป่วยเป็นวัณโรคจะมีอาการไข้ต่ำ ๆ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร โดยอาการทางปอดอาจไม่เด่นชัดนัก บางรายคุณพ่อคุณแม่อาจจะสังเกตเห็นว่าลูกมีก้อนที่คอจากต่อมน้ำเหลืองที่โตขึ้น หรือท้องใหญ่ขึ้นจากการที่มีตับหรือม้ามโตค่ะ
ด้านการแพร่กระจายโรควัณโรคสามารถแพร่กระจายผ่านทางฝอยละอองในอากาศ เมื่อผู้ป่วยที่มีเชื้อวัณโรค ไอ จาม หรือแม้แต่การหายใจรดกันก็ก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ โดยเมื่อลูกน้อยหายใจรับเชื้อชนิดนี้เข้าไป แบคทีเรียก็จะไปอาศัยอยู่ที่ปอดและค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เข้าสู่กระแสเลือดและส่วนต่างๆ ของร่างกาย อาทิต ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง หรือแม้แต่สมองโดยส่วนใหญ่แล้วในเด็กเล็กนั้นสามารถติดเชื้อนี้ได้จากคนใกล้ชิดหรือสมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคนี้ค่ะ
วัณโรคป้องกันได้แต่เนิ่น ๆ
สำหรับการป้องกันวัณโรคไม่ให้เข้ามาทำลายสุขภาพลูกนั้น คุณพ่อคุณแม่ทำได้โดย...
ควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปตามแหล่งชุมชนที่มีผู้คนพลุกพล่าน อาทิ ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล
หากสมาชิกในบ้านคนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้ ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันทีไม่ว่าจะมีหรือไม่มีอาการใด ๆ ที่บ่งชี้ว่าเกิดการติดเชื้อ เพราะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และในเด็กโตที่พบว่าได้รับเชื้อคุณหมอจะได้ให้ยากินป้องกันโรคได้ทันท่วงที
ฉีดวัคซีนบีซีจีเพื่อป้องกันการเกิดโรควัณโรค ซึ่งปัจจุบันเด็กแรกเกิดทุกคนในประเทศไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนบีซีจีนี้ด้วยกันทั้งสิ้นค่ะ
วัคซีนบีซีจีต่อลูก
ปัจจุบันประเทศไทยได้กำหนดให้วัคซีนบีซีจีเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องฉีดตั้งแต่แรกเกิด เพื่อป้องกันการเกิดวัณโรคค่ะ โดยตัววัคซีนนี้เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น ที่นำเอาเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดวัณโรคมาทำให้อ่อนกำลังลง
ส่วนใหญ่จะฉีดเข้าในชั้นผิวหนังที่บริเวณต้นแขนข้างซ้าย แต่อาจมีบางโรงพยาบาลที่เลือกฉีดเข้าที่สะโพกของลูกเพื่อป้องกันปัญหาแผลเป็น แต่คุณหมอก็แนะนำว่าการฉีดที่บริเวณแขนแม้จะเกิดแผลเป็นบ้าง แต่ก็ดีกว่าการฉีดที่สะโพก ซึ่งแม้จะซ่อนรอยแผลได้ แต่ลูกวัยทารกต้องใส่ผ้าอ้อมอาจจะก่อให้เกิดการเสียดสีบริเวณแผลจนทำให้รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัวและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
โดยปกติหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 4-6 สัปดาห์ คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตพบตุ่มหรือไตแดง ๆ แตกออกมาเป็นหนองได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติเพราะภูมิต้านทานในร่างกายของลูกกำลังสร้างภูมิคุ้มกันโรคจากวัคซีนที่ฉีดเข้าไป มีเด็กเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่ฉีดวัคซีนชนิดนี้เข้าไปแล้วไม่เกิดแผล
คุณพ่อคุณแม่สามารถให้คุณหมอตรวจเมื่อพาลูกไปฉีดวัคซีนตอนอายุ 2 เดือน ว่าแผลแห้งหรือยัง หากแผลแห้งดีไม่มีหนองก็แสดงว่าร่างกายลูกแข็งแรงดี ซึ่งถ้าตรวจแล้วไม่พบรอยนูนหรือแผลใด ๆ ไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนซ้ำอีก แต่ถ้าพบว่าแผลยังเป็นหนองขนาดใหญ่หรือมีก้อนขึ้นที่รักแร้ข้างเดียวกับแขนที่ฉีดวัคซีน ควรหาสาเหตุเพิ่มเติม
Fast Fact
ปัจจุบันประเทศไทยที่มีผู้ป่วยเป็นวัณโรคติดอันดับที่ 18 ของโลก
อัตราการป่วยเป็นวัณโรคในเด็กเล็กเมื่อได้รับเชื้อเข้าไปแล้วมีสูงถึง 50% ต่างหากผู้ใหญ่ที่มีโอกาสป่วยเพียง 5% เท่านั้น ดังนั้นหากบุคคลใกล้ชิดในบ้านป่วยเป็นวัณโรคต้องพาเด็กไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับยาป้องกันการป่วยเป็นวัณโรค
วัคซีนบีซีจีจะฉีดเข้าชั้นผิวหนังและเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่นำมาทำให้อ่อนลงจึงทำให้สังเกตเห็นปฏิกิริยาจากการฉีดได้มากกว่าการฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆ
วัคซีนบีซีจีสามารถป้องกันการเกิดวัณโรคชนิดรุนแรงที่ก่อให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบและวัณโรคปอดแบบแพร่กระจายได้ดี แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันวัณโรคชนิดที่ไม่รุนแรงอย่างวัณโรคปอดยังไม่สูงมากนัก ถึงแม้ได้รับวัคซีนแล้วก็ยังมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคปอดได้
Tips
หลังลูกได้รับวัคซีนบีซีจีแล้วอาจเกิดฝีหนองขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรทำความสะอาดบริเวณแผลของลูกโดยใช้น้ำอุ่นเช็ดบริเวณรอบ ๆ แผล และเปิดแผลทิ้งไว้ ห้ามบ่อมหนองหรือใช้ผ้าปิดแผลไว้เป็นอันขาด เพราะจะทำให้เกิดการอับชื้น และแผลหายยากได้
ข้อมูลจาก :
http://women.kapook.com/view10526.html