ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
เมื่อ 'ลูกขี้สงสัย' รับมืออย่างไรไม่ทำร้ายเด็ก

เมื่อ 'ลูกขี้สงสัย' รับมืออย่างไรไม่ทำร้ายเด็ก เชื่อว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ คงเคยผ่านช่วงเวลาที่ลูกช่างซัก ช่างถาม ขี้สงสัย หรือชอบทำไมกันมาบ้างแล้ว ในขณะที่บางครอบครัว กำลังเผชิญกับความขี้สงสัย หรือชอบทำไม? อยู่ไม่น้อย ทั้งนี้ เพื่อไขวิธีการรับมืออย่างเหมาะสม อันจะเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการของลูก 

วันนี้มีตัวช่วยจากคุณหมอใจดี พญ.ปริชวัน จันทร์ศิริจิตแพทย์เด็ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาฝากไว้เป็นแนวทางให้แก่ทุกบ้านที่มีลูกขี้สงสัยกันครับ

หากพูดถึงประเด็นเรื่องเด็กขี้สงสัย จิตแพทย์เด็ก อธิบายว่า ส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กวัยอนุบาล เนื่องจากเด็กวัยนี้ เป็นวัยกำลังเรียน และช่างพูดเจรจา เรียกได้ว่า พ่อแม่ต้องเตรียมหูไว้เลยเพราะบางครั้ง เมื่อเด็กได้เข้าสังคม เรียน หนังสือ และต้องเจอกับสภาพแวดล้อมที่ต่าง ไปจากบ้าน ซึ่งไม่เคยรู้จักมาก่อน อาจเป็นตัวตั้งคำถามให้ลูกได้ไม่น้อย เช่น ทำไมท้องฟ้าถึงเป็นสีฟ้า แม่มีน้องได้อย่างไรค่ะ

ซึ่งแต่ละคำถามของเด็ก เป็นคำถามที่พ่อ แม่อธิบายยาก ทำให้บางครั้งไม่รู้จะตอบลูกอย่างไร เพราะตอบไป ลูกก็ไม่เข้าใจ

"เด็กขี้สงสัย จะรู้สึกว่าเขาเป็นคนละส่วนของโลก และอยากรู้ว่าโลกภายนอกคืออะไร แต่การอยากรู้ของเด็ก ไม่ต้องการที่จะรู้อย่างลึกซึ้ง ไม่จำเป็นต้องอธิบายให้มากความซึ่งพ่อแม่ควรตอบเล่นๆ ตามวัยของเด็กก็พอ เช่นลูกถามว่า แม่มีน้องได้ยังไง แม่ก็อธิบายง่ายๆ ให้ฟังว่า มีน้องก็เหมือนกับแม่มีหนูไง และหนูจะได้มีเพื่อนเล่นด้วย ไม่ใช่ไม่ตอบลูกเลย เพราะจะทำให้เด็กกลายเป็นคนไม่กล้าที่จะถาม และรู้สึกผิด" จิตแพทย์เด็กกล่าว

นอกจากนี้ จิตแพทย์เด็กบอกต่อว่า เด็กที่ขี้สงสัย ไม่ใช่พฤติกรรมที่ผิดปกติแต่อย่างใดพ่อแม่ไม่ควรกังวล เพราะเด็กทุกคน มีความสนใจใคร่รู้โดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่จะถามมากน้อย หรือยินดีที่จะเป็นผู้นำ ผู้ตามขึ้นอยู่กับตัวเด็กเอง ซึ่งคุณหมอใช้คำว่า เนื้อของเด็กไม่เหมือนกัน

ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ซึ่งเด็กบางคนถูกเลี้ยงให้เก็บรายละเอียดมาดีพ่อแม่ตั้งคำถามให้ลูกช่างสังเกตอยู่เสมอ เด็กก็จะช่างถามมากเป็นพิเศษ แต่ถ้าเด็กบ้านไหนไม่ชอบถาม ใช่ว่าเด็กจะเก็บรายละเอียดได้ไม่ดีเสมอไป เพียงแต่ไม่มั่นใจที่จะเป็นผู้เริ่มเท่านั้นทางที่ดีพ่อแม่ต้องช่วยเด็กตั้งคำถาม เพื่อให้ลูกเป็นคนช่างสังเกต ถ้าลูกไม่ถาม ไม่ควรเร่งเร้าเพราะจะทำให้เด็กกังวล แต่อาจจะใช้กิจกรรม เช่น หนังสือ สื่อต่างๆ เป็นตัวตั้งคำถามก็ได้

อย่างไรก็ดี การที่ลูกขี้สงสัยส่วนหนึ่งมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้วย กับเรื่องนี้ จิตแพทย์เด็กแนะว่า วิธีสังเกตง่ายๆ ว่าลูกสนใจสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหนขอให้สังเกตว่า ลูกโต้ตอบกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เช่น เห็นลูกสุนัขแล้ว บางคนอยากเข้าไปจับด้วยความเอ็นดู ซึ่งนับว่าใช้ได้แต่ถ้าเด็กบางคนตอบสนองไม่เหมาะสม เช่น ดึงหาง เขวี้ยงของใส่โดยที่ไม่กลัวเกรง พฤติกรรมในส่วนนี้ ต้องให้ปรึกษาจิตแพทย์เพื่อตรวจดูสาเหตุอีกที เพราะเด็กอาจให้การสนองตอบต่อสิ่งแวดล้อมผิดไป ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมแง่ลบในตอนโตได้


เทคนิครับมือลูก ‘ขี้สงสัย’

เพื่อรับมือกับลูกขี้สงสัยได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ทำร้ายจิตใจหรือกระทบต่อพัฒนาการของลูกจิตแพทย์เด็กให้แนวทางว่า ถ้าลูกเกิดขี้สงสัย และถามอยู่ตลอดเวลา พ่อแม่ควรตอบคำถามลูก แต่การตอบ พ่อแม่ควรอธิบายให้เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยของเด็กด้วย ไม่ควรอธิบายโดยใช้หลักวิชาการมากเกินไป แต่ควรใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย ไม่จำเป็นต้องลึกซึ้งมากนัก เพราะสิ่งที่เด็กถามบางครั้งเพียงแค่อยากชวนคุย หรืออยากรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง แต่ถึงกระนั้นคำตอบของพ่อแม่ต้องมีเหตุผลเพียงพอ ไม่ใช่ตอบสุ่มสี่สุ่มห้า หรือตอบเพื่อให้จบๆ ไป นั่นจะเป็นการทำร้ายลูกในระยะยาวโดยไม่รู้ตัว

ดังนั้น ข้อควรระวังในการรับมือกับลูกขี้สงสัย พ่อแม่ไม่ควรใส่อารมณ์ ตำหนิ หรือทำสีหน้ารำคาญใส่ลูก เมื่อลูกขี้สงสัย หรือถามอยู่ตลอดเวลา นั่นจะทำให้เด็กรู้สึกผิดในสิ่งที่เขาถาม ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการการเรียนรู้ และจิตใจ ทำให้กลายเป็นเด็กไม่มั่นใจ และไม่กล้าจะเป็นผู้เริ่ม เมื่อสงสัยในสิ่งที่เขาอยากรู้ แต่ถ้าลูกถามซ้ำผิดปกติ หรือถามคำถามเดิมบ่อยเกินไป ซึ่งพ่อแม่ตอบให้ลูกฟังไปแล้ว แต่ก็ยังถามอีก วิธีแก้ที่ดีที่สุดคือ ให้พ่อแม่ทำเป็นนิ่ง พร้อมกับทำสีหน้ายิ้มๆ เหมือนไม่สนใจ แต่จริงๆ แล้วสังเกตลูกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเด็กจะรู้ได้เองว่า เขาไม่ควรถามซ้ำอีก

"ลูกขี้สงสัย เป็นสิ่งที่ดี บางครั้งพ่อแม่อาจจะเป็นฝ่ายรุกด้วยก็ได้ เช่น ตั้งคำถามต่อจากที่ลูกถาม นั่นจะทำให้เด็กได้คิดต่อมากขึ้น และฝึกให้ลูกคิดเป็นด้วย แถมลดการถามในเรื่องที่ไม่จำเป็นได้มาก แต่ถ้าพ่อแม่คนไหนมีลูกไม่กล้าถาม และอยากให้ลูกกล้าคิดกล้าถาม และช่างสังเกต ตัวช่วยหนึ่งก็คือ "หนังสือ" ซึ่งพ่อแม่สามารถตั้งคำถามให้ลูกจากเรื่องราวที่อยู่ในหนังสือได้" จิตแพทย์เด็กฝากทิ้งท้าย


ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน
ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/node/13933
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นอนท่าไหน มดลูกเข้าอู่เร็ว
นอนท่าไหน มดลูกเข้าอู่เร็ว
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ