ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
สอนลูกให้เป็น... ผู้ให้

สอนลูกให้เป็น... ผู้ให้ คำตอบนั้นหลากหลายมากครับ แต่มีเด็กนักศึกษาจำนวนไม่น้อย ตอบอย่างจริงใจประมาณว่า ถ้าให้ช่วยเหลือสังคมฟรี ๆ พวกเขาไม่ทำแน่นอน

เรื่องนี้สอดคล้องกับงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นที่ผมเคยอ่านผ่านตาว่า คนรุ่นใหม่ในสังคมไทยนับวันจะยิ่งขาดจิตสาธารณะ (Public Consciousness) มากขึ้น หมายถึง ขาดการตระหนักรู้ หรือคำนึงถึงส่วนรวม ไม่ค่อยคิดถึงคนอื่นซึ่งร่วมสัมพันธ์อยู่ในสังคมเดียวกัน

ในยุคสมัยแห่งการแก่งแย่งแข่งขันเช่นปัจจุบัน ผมเชื่อว่า ไม่ใช่เฉพาะเด็กหรือวัยรุ่นเท่านั้นที่เป็นแบบนี้ แม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมก็มีทัศนคติคล้ายกับคนรุ่นใหม่ นั่นคือ...ถ้าจะทำบุญ ทำกุศล ช่วยเหลือสังคมต้องตีปี๊บ ป่าวประกาศผ่านสื่อ ผ่านคนรู้จักบอกชาวโลกให้รู้ว่า ตัวฉัน หรือองค์กรของฉันเป็นคนดี มีจิตเมตตา ช่วยเหลือสังคม

แต่ถ้าไม่มีใครเห็น ไม่มีใครรับรู้ คนประเภทนี้จะเมินเฉยต่อความเป็นไปของผู้คนในสังคม ทำนองว่า ใครเป็นอะไรก็ช่าง ขอให้ฉันสุขสบายเป็นพอ 

มิหนำซ้ำบางทีคนกลุ่มนี้พร้อมซ้ำเติม ทำร้ายสังคมได้เสมอ ด้วยคิดว่า "ไม่เป็นไร ใคร ๆ เขาก็ทำกัน" เรา ๆ ท่าน ๆ จึงเห็นข้าวของเครื่องใช้ตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตู้โทรศัพท์ เสาไฟฟ้า ถูกทุบทำลายอยู่บ่อย ๆ หรือเห็นการทิ้งขยะ ทิ้งน้ำเน่าเสียลงลำน้ำ แม่น้ำสาธารณะ ฯลฯ

ถึงตรงนี้ ผมอดคิดไม่ได้ว่า แล้วเราอยากให้ลูกหลานของเราเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นคนเก่ง ฉลาด ร่ำรวย แต่ไร้น้ำใจกับเพื่อนมนุษย์ ไม่แคร์สังคม ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนเองกระนั้นหรือ

ถ้าคำตอบของเรา คือ ต้องการลูกหลานเป็นผู้มีหัวใจให้กับเพื่อนมนุษย์ รู้จักเป็น "ผู้ให้" กับคนอื่นและสังคม ไม่ใช่หวังแต่กอบโกย เราคงต้องเริ่มบ่มเพาะลูกหลานตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ ให้เรียนรู้จัก "การให้" ... "การเสียสละ" ... "การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น" ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ถ้าต้องการสอนเด็กตัวน้อย ๆ ให้มีพฤติกรรม มีทัศนคติอย่างไร หนทางดีที่สุดคือ สอนผ่านการกระทำของพ่อแม่ผู้ปกครอง 

ดังนั้น เราอาจเริ่มจากชีวิตประจำวัน ตื่นเช้าขึ้นมาทำบุญตักบาตร โดยให้ลูกหลานมีส่วนร่วมในกิจกรรม เช่น ช่วยจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ในการทำบุญ พร้อมทั้งอธิบายถึงความหมาย ความสำคัญของกิจกรรมนั้น ๆ ให้เด็กได้เรียนรู้ หรืออาจจัดหากิจกรรมกระตุกจิตสำนึก ?!?

อย่างเจ้าอั๋นเพื่อนสุดเลิฟคนหนึ่งของผม เขาติดต่อไปโรงเรียนสอนคนตาบอดว่าจะเข้าไปทำบุญเลี้ยงอาหารกลางวันแก่เด็กพิการผู้เคราะห์ร้าย แต่แทนที่จะไปเองคนเดียว เขากลับชักชวนเพื่อนฝูงและหลาน ๆ ในบ้านให้ไปร่วมกิจกรรมทำบุญด้วยกัน

ในตอนแรก ผู้ไปเยือนต่างรู้สึกขัดขืน แปลกที่โดยเฉพาะเหล่าหลานวัยประถมดูจะออกอาการเกร็งเป็นพิเศษ ยิ่งเห็นเด็กพิการซึ่งผิดปกติไปจากพวกเขา ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกหวาดกลัวกึ่งระแวง แต่หลังจากใช้เวลาสัมผัสเรียนรู้ พูดคุยกันสักพัก พวกเขากลับสนุกสนานที่ได้พูดคุย เล่นเกมเฮฮากับเพื่อนใหม่วัยไล่เลี่ยกัน

นับจากนั้นเป็นต้นไป หลานของเจ้าอั๋น มักรบเร้าให้พาไปโรงเรียนแห่งนี้ เพื่อช่วยอ่านหนังสือให้กับเพื่อนผู้ขาดโอกาสในการมองเห็น นอกจากโรงเรียนแห่งนี้แล้ว เราอาจพาลูกหลานไปทำบุญ ทำกุศล เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือคนเฒ่าคนแก่ในบ้านพักคนชรา หรือสอบถาม ไปตามสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนต่าง ๆ ว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง หรืออาจจะชักชวนกันไปบริจาคข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า ของเล่น หรือหนังสือนิทาน การ์ตูนให้กับผู้ขาดแคลน

อย่างไรก็ตาม บางครั้งเด็กตัวน้อย ๆ อาจไม่ให้ความร่วมมือก็ต้องทำใจหน่อยนะครับ อย่างเช่นกรณีของเจ้าแสบประจำบ้านผม เมื่อคุณแม่ของเขาตัดสินใจจะนำหนังสือนิทาน ซึ่งมีอยู่มากมายล้นตู้หนังสือไปบริจาคให้กับโรงเรียนในชนบท ด้วยหวังให้เด็กยากจนในต่างจังหวัดได้อ่านหนังสือนิทาน เปี่ยมคุณค่าเหมือนกับเด็กในเมือง แต่พลันที่เจ้าเสือน้อยคนพี่รู้ว่าจะเอาหนังสือไปให้คนอื่น เจ้าหนูร้องไห้ลั่นบ้าน ไม่ยอมท่าเดียวครับ ขนาดบอกว่า "หนังสือนิทานพวกนี้ เก่าแล้ว อ่านจนเบื่อ...จนไม่อ่านแล้วไม่ใช่หรือ" เขาก็ไม่สนใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กเล็กแนะนำผมว่า กรณีเช่นนี้เป็นเพราะเด็กยังหวงข้าวของ รู้สึกทุกอย่างเป็นของตนเอง แม้แต่ของที่ตนไม่ใช้ไม่ต้องการแล้วก็ไม่อยากจะเอาไปให้คนอื่น 

ทางออกที่ดีคือ ให้เด็กเลือกเองว่าจะบริจาคของเล่น เครื่องใช้ หรือหนังสือเก่าชิ้นไหน เล่มใดไปให้คนอื่น เพื่อว่าบ้านจะได้มีพื้นที่ว่างสำหรับของเล่นใหม่ หนังสือใหม่ เหล่านี้คงเป็นตัวอย่างกิจกรรมซึ่งคนเป็นพ่อแม่สามารถคัดสรรมาให้ลูกหลานได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมกระทำ ในการแสดงบทบาทของ "ผู้ให้" โดยระหว่างทำกิจกรรมเราก็สามารถพูดคุยให้เด็กตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการเป็น "ผู้ให้" ครับ มาร่วมกันสอนลูกหลานเป็น "ผู้ให้" กันเถอะ ก่อนจะไม่มี "ผู้ให้" ในสังคมไทยเลย

  
ข้อมูลจาก : http://women.kapook.com/view6606.html
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง