ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
ทำอย่างไรเมื่อลูกไม่อยากไปโรงเรียน?

ทำอย่างไรเมื่อลูกไม่อยากไปโรงเรียน? ปัญหา “ลูกไม่อยากไปโรงเรียน” เป็นปัญหาที่พ่อแม่แทบทุกคนต้องพบเจอกับช่วงแรกในวัยเรียนของลูก วิธีแก้ปัญหาในแต่ละชั้นตอนต้องทราบถึงสาเหตุเบื้องหลังที่ลูกไม่อยากไปโรงเรียนด้วยนะคะ

1. สอนให้ลูกไม่กลัวการพลัดพรากจากพ่อแม่

สาเหตุแรกๆ ที่ทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียนเพราะกลัวการพลัดพรากจากพ่อแม่ เวลาไปส่งเด็กเล็กในช่วงสองสามวันแรกที่โรงเรียน ให้ระวังคำพูดที่ใช้ล่ำลากับลูก ควรใช้คำพูดที่หนักแน่นและมั่นคง เป็นการให้ความมั่นใจกับลูกว่าหลังจากเลิกเรียนแล้วพ่อและแม่จะกลับมารับ เช่น “ขอให้สนุกที่โรงเรียนนะจ๊ะ แม่จะไปรับหนูเวลาสองโมงครึ่ง” ซึ่งเมื่อบอกลูกแล้วก็ต้องทำตามที่บอกให้ได้ หากลูกยังรู้สึกกลัว ก็ควรยอมรับความรู้สึก “กลัว” ของลูกดีกว่าการบอกลูกว่า “อย่ากลัว”


2. สอนให้ลูกรู้จักทักษะการเข้าสังคม

เด็กบางคนไม่ชอบโรงเรียนเพราะไม่มีเพื่อน จึงรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างเวลาไปโรงเรียน ควรสอนให้ลูกรู้จักทักษะการเข้าสังคม เช่น การแนะนำตัวกับเพื่อนก่อน หรือวิธีชวนเพื่อนมาเล่นกับเรา รวมทั้งสอนวิธีการให้เด็กรู้จักปรับตัวเข้ากับเพื่อนก่อน เป็นต้น


3. ใส่ใจและให้ความช่วยเหลือแก่ลูกในการเรียน และการทำกิจกรรมของโรงเรียน

เด็กบางคนไม่ชอบไปโรงเรียนเพราะไม่สามารถทำกิจกรรมหรือเรียนหนังสือได้ทันเพื่อนๆ หากลูกกลัวที่จะต้องทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น ต้องพูดหน้าชั้น หรือกลัวสอบพ่อแม่อาจช่วยได้ด้วยการซักซ้อมที่บ้านก่อน เรื่องใหญ่ๆ ในสายตาลูกจะน่าตกใจน้อยลงหากคุณช่วยแยกแยะให้เห็นเป็นประเด็นย่อยๆ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าทำได้


4. สังเกตพฤติกรรมลูกอย่างใกล้ชิด หากสงสัยว่าลูกมีปัญหาในการเรียนรู้ควรพาไปหาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อช่วยวิเคราะห์อาการ

สาเหตุหนึ่งของการที่ลูกไม่อยากไปโรงเรียนเนื่องจากเรียนไม่ทันเพื่อน ทำให้เกิดความท้อแท้ใจจนพาลไม่อยากไปโรงเรียน หากลูกมีปัญหาเรียนไม่ทันเพื่อน หรือมีพัฒนาการไม่ตรงตามวัยซึ่งส่อว่าอาจมีปัญหาในเรื่องการเรียนรู้ ควรพาไปพบแพทย์โดยด่วน


5. หากลูกมีปัญหาถูกรังแก พ่อแม่ควรยื่นมือเข้าไปช่วยเหลืออย่างถูกวิธี

บางครั้งการที่เด็กกลัวการไปโรงเรียนเป็นเพราะถูกคนอื่นรังแก ควรบอกลูกว่าหากถูกรังแกต้องบอกให้ครูทราบ และพยายามอยู่ห่างจากเด็กเกเร หรือหากพ่อแม่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ ควรไปหาครูใหญ่ เพื่อชี้แจงถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น และควรกระทำอย่างนุ่มนวล ถ้ากลัวลูกไม่สบายใจช่วยแยกแยะให้เห็นเป็นประเด็นย่อยๆ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าทำได้


6. โน้มน้าวความสนใจให้เด็กเห็นความสนุกสนานของการไปโรงเรียน

เด็กทุกคนมีความอยากรู้อยากเห็น อยากเล่นสนุก หากครูรู้จะใช้วิธีการเบี่ยงเบนความสนใจ โน้มน้าวใจให้เด็กเห็นว่าอยู่โรงเรียนมีกิจกรรมสนุกๆ ให้ทำมากมาย และอยู่ไม่นานผู้ปกครองก็จะมารับกลับ ตรงจุดนี้ผู้ปกครองและครูควรร่วมกันทำให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นและไว้ใจว่า อยู่โรงเรียนแล้วสนุก พ่อแม่ก็มารับกลับตรงเวลา


7. พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ห่วงลูกมากเกินไป

พ่อแม่บางคนจะทำอะไรให้ลูกทุกอย่างเพราะกลัวลูกจะเป็นอะไรไป จนเด็กขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง เข้ากับใครไม่ค่อยได้นอกจากพ่อแม่ เพราะคนอื่นไม่อาจมาทำอะไรให้ได้อย่างพ่อแม่ โดยเฉพาะครูและเพื่อนๆ เลยรู้สึกขัดใจ ในกรณีเช่นนี้พ่อแม่ต้องมั่นใจว่าเด็กสามารถอยู่กับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ได้ หากพ่อแม่ให้กำลังใจและให้โอกาสเขาลดความห่วงที่มีมากเกินไปลง


ที่มา : วารสารทอฝันปันรัก มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/node/12960
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
วิธีดูแลเสื้อผ้าลูกน้อย ให้ไร้กลิ่นอับ
วิธีดูแลเสื้อผ้าลูกน้อย ให้ไร้กลิ่นอับ
วิธีเล่นกับลูกในครรภ์ ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ
วิธีเล่นกับลูกในครรภ์ ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ