12 วิธี เลี้ยงลูกให้ดี-อีคิวสูง จะว่าไปแล้ว ระดับของสติปัญญาจะดีหรือด้อย ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับพันธุกรรม หรือ ยีน ค่อนข้างมาก พูดง่ายๆ ว่า ถ้าพ่อแม่เฉลียวฉลาด ย่อมมีโอกาสสูง ที่ลูกจะเฉลียวฉลาดได้เช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องของพันธุกรรมที่ควบคุมไม่ได้ แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบเสริมด้วย เช่น การได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของสมองตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และตลอดช่วงวัยของเด็ก บวกกับได้รับการกระตุ้นอย่างเหมาะสม
แต่ในขณะที่อีกหนึ่งความฉลาด นอกจาก I.Q. แล้ว ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ E.Q. ก็เป็นส่วนสำคัญต่อตัวเด็กเองไม่ใช่น้อย เป็นสิ่งที่พ่อแม่สร้างให้ลูกได้เอง ซึ่งเด็กจะมีพฤติกรรม หรือนิสัยอย่างไร ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของพ่อแม่เป็นหลักใหญ่ ดังนั้น การให้ความสำคัญในเรื่องของอีคิวกับลูกตั้งแต่เล็ก จะช่วยให้เด็กอยู่ในสังคมข้างหน้าอย่างมีความสุขทั้งต่อตัวเอง และผู้อื่น
วันนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่ 'นพ.กมล แสงทองศรีกมล' กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น รพ.กรุงเทพ ได้ให้เคล็ดลับ การสร้างลูกรักให้ดี และมีอีคิว หรือความฉลาดทางอารมณ์ที่สูง ไว้ 12 ข้อ ทั้งนี้เพื่อนำมาให้คุณพ่อ คุณแม่ นำไปปรับใช้เป็นคู่มือในการเลี้ยงลูกกันครับ
*** 12 วิธี เลี้ยงลูกให้ดี-อีคิวสูง
1. ให้ความรัก
เป็นข้อแรกที่สำคัญมาก และไม่เพียงแต่ให้ความรักเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องแสดงออกอย่างเหมาะสมอีกด้วย บางคนรักลูกแต่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความรักออกมาให้ลูกเห็นเลย กระนั้น การยิ้มให้ การสัมผัส การกอด โอบไหล่ ล้วนแล้วแต่เป็นภาษากายที่บ่งบอกถึงความรักของพ่อแม่ต่อลูกได้เป็นอย่างดี
2. ครอบครัวมีสุข
การที่คุณพ่อ คุณแม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รวมถึงมีทัศนคติ ความคิดเห็นในการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนลูกไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน หรือถ้ามีความขัดแย้งบ้าง ก็ควรมีการพูดคุย ตกลงกันให้เป็นทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ดี คุณหมอ ได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ขัดแย้งกันเองในการวางกฎเกณฑ์ โดยครอบครัวหนึ่ง มีลูกอายุประมาณ 2-3 ขวบ ร้องไห้เพราะอยากเล่นลิปสติกของแม่ กับเรื่องนี้ คุณผู้หญิงทั้งหลายคงทราบดีว่า ที่คุณแม่ไม่ยอมให้ลูกเล่น เพราะลิปสติกจะหักเสียหายได้ แต่หากเวลาอยู่กับพ่อ พ่ออนุญาตให้ลูกเล่นได้ หรือพ่อเห็นลูกร้องไห้ ก็ต่อว่าแม่ต่อหน้าลูกว่า "เรื่องแค่นี้เอง ก็ให้ลูกเล่นไปสิ" ส่งผลให้เด็กสับสน ไม่เข้าใจกฎเกณฑ์ว่า เรื่องนี้ควรทำหรือไม่ควรทำ ดังนั้นผู้ใหญ่จึงควรตกลงกันด้วยเหตุผลให้เรียบร้อยก่อน จะได้ควบคุมเด็กให้ไปในทิศทางเดียวกันได้
3. รู้-เข้าใจพัฒนาการของลูก
จะทำให้เข้าใจ และปฏิบัติตัวต่อลูกได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม ซึ่งพัฒนาการไม่ได้หยุด หรือหมดไปเมื่อพ้นวัยอนุบาล แต่จะต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่นก็มีพัฒนาการของวัย และสำคัญมากด้วย แต่ส่วนใหญ่ คุณพ่อคุณแม่หลายคนปฏิบัติต่อลูกที่เข้าช่วงวัยรุ่นแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะคิดว่าลูกมีพัฒนาการเหมือน 2-3 ปีก่อน
ยกตัวอย่างเช่น คุณพ่อ คุณแม่บางคนอยากรู้เรื่องของลูกก็ใช้วิธีแอบฟังโทรศัพท์เวลาลูกคุยกับเพื่อน แอบเปิดค้นกระเป๋า แอบดูไดอารี่ สมุดบันทึกของลูก เกือบร้อยทั้งร้อย เมื่อลูกรู้ คงต้องโกรธเป็นอย่างมาก เพราะไปกระทบกับพัฒนาการของวัยรุ่นที่สำคัญ นั่นคือ ความเป็นส่วนตัว (Privacy) ดังนั้นคุณพ่อ คุณแม่ควรมีความรู้ และความเข้าใจพัฒนาการของลูกด้วย จะช่วยให้ปฏิบัติต่อลูกได้อย่างเหมาะสม
4. พ่อแม่มีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูกให้มากที่สุด
ถ้าพ่อแม่ต้องทำงานทั้งคู่ อย่างน้อย ตกกลางคืน ก็ควรให้เวลากับลูกบ้าง เพราะจะได้มีประสบการณ์ และได้รับรู้ความรู้สึกของการตื่นขึ้นมาให้นมลูก เวลาลูกร้องหิวตอนกลางคืน หรือได้โอบกอด และปลอบให้ลูกหลับต่อ นั่นจะยิ่งทำให้พ่อแม่รัก และเข้าใจในตัวลูกมากขึ้น
5. ส่งเสริมให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า
เมื่อลูกทำดี หรือประสบความสำเร็จ คุณพ่อคุณแม่ต้องชม เมื่อลูกท้อแท้ ก็ควรให้กำลังใจ ซึ่งบางคนบอกว่า ชมมากเดี๋ยวลูกจะเหลิง แต่การชมไม่ให้เหลิง คือการชมอย่างถูกต้อง สมเหตุสมผล นั่นจะช่วยให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตัวเอง เป็นเรื่องที่มีค่าต่อความรู้สึกของลูกมาก
6. ให้อิสระ-โอกาสในการตัดสินใจ
จะช่วยให้ลูกมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าทำ ไม่พยายามบังคับความคิดลูก (ถ้าเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องของกฎเกณฑ์ ระเบียบวินัย)
7. สอนลูกให้รักตัวเอง-รักคนอื่น
พ่อแม่สอนลูกให้รู้สึกเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ผู้อื่นด้วย เช่น พาลูกไปให้ของเด็กพิการ ตามสถานสงเคราะห์ หรือให้ผู้สูงอายุที่บ้านพักคนชรา
8. ให้ลูกรู้จักคิดเป็นเหตุ-เป็นผล
โดยส่งเสริมทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และเรื่องสำคัญๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกอยากจะซื้อของเล่น ของใช้ที่แพงๆ หรือเป็นของที่มีอยู่แล้วก็สอนให้ลูกรู้จักใช้หลักการและเหตุผลว่าควรซื้อหรือไม่ควรซื้อ เพราะอะไร เป็นต้น
9. สอนลูกรู้จักหาความสุขให้ตัวเอง
ข้อนี้ก็มีความสำคัญมาก เพราะเด็กหลายคนที่เก่ง ประสบความสำเร็จในการเรียน กีฬา แต่ไม่มีความสุข เนื่องจากเครียดอยู่ตลอดเวลาในการที่จะรักษาความเก่งของตัวเองไว้ให้ได้ตลอดไป หรือให้เก่งมากขึ้นเพื่อเอาชนะคนอื่น
10. เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก
คุณพ่อคุณแม่ เป็นตัวอย่างให้ลูกทำสิ่งดีๆ แล้วลูกจะเรียนรู้โดยอัตโนมัติ ในแบบที่ไม่ต้องพูด หรือสอนเลย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือนิสัยรักการอ่าน ส่วนหนึ่งเกิดจากพ่อแม่เป็นแบบอย่าง เช่น เวลาอยู่บ้านว่างๆ ก็จะหยิบหนังสือมาอ่าน ชอบที่จะอ่านนิทานให้ลูกฟัง พูดคุยกับลูกถึงเรื่องในหนังสือที่อ่าน ไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า ก็มักจะแวะเข้าร้านหนังสือบ่อยๆ แบบนี้ลูกก็มักจะติดนิสัยรักการอ่านหนังสือไปโดยไม่รู้ตัว
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การฝึกให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเอง และรับผิดชอบ เช่นหลังกินข้าวเสร็จ ถึงแม้ว่าจะมีคนงานที่บ้าน ก็ควรให้ลูกยกจานที่ทานเสร็จ ช่วยเขี่ยเศษอาหารใส่ถังขยะ แล้ววางบนอ่างล้างจานในบ้าน (ให้คนงานล้างต่อไป) ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรทำเป็นตัวอย่าง ลูกเห็นก็อยากทำตาม แล้วยังสอนการมีน้ำใจต่อคนงานอีกด้วย ท่านผู้อ่านลองนึกภาพนะครับว่า ถ้าพ่อแม่ไม่ทำเป็นตัวอย่าง กินตรงไหนเสร็จแล้วก็ลุกออกไป ให้คนงานมาตามคอยเก็บ แต่สั่งให้ลูกทำลูกจะคิดอย่างไร
11. กฎเกณฑ์ ระเบียบวินัยในบ้านต้องพอดี
กับเรื่องนี้ พบว่าเด็กที่ E.Q. ดี มักอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ให้ความรัก ความเข้าใจ ในขณะเดียวกันก็สอนให้รู้ว่า อะไรควร อะไรไม่ควร และควบคุมเรื่องของกฎเกณฑ์ระเบียบวินัยในลักษณะทางสายกลางตามหลักพระพุทธศาสนา ไม่ควบคุมมากเกินไป หรือน้อยเกินไป เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และมีรายละเอียดมาก
12. ระบบการศึกษาก็มีส่วนเอี่ยวกับอีคิว
คงเคยได้ยินคำพูดที่ว่าการศึกษาสร้างคน ดังนั้น การศึกษาย่อมส่งผลต่อ E.Q. ของลูกด้วย ดังนั้น ผู้ใหญ่ควรทำความเข้าใจกับระบบการศึกษา และกระบวนการเรียนรู้ของเด็กด้วย
เห็นได้ว่า ทุกวันนี้ พ่อแม่จะให้ลูกฉลาดอย่างเดียว คงไม่พอ แต่ต้องมีความฉลาดทางอารมณ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตด้วย เพื่อที่เด็กจะได้มีพื้นฐานในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้อย่างเหมาะสม รวมถึงเข้าใจตัวเอง และคนอื่นได้เป็นอย่างดี
E.Q. ย่อมาจาก Emotional Quotient หรือ Emotional Intelligence หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์ คนที่มีอีคิวดี คือ คนที่รู้จักและเข้าใจอารมณ์ตัวเองได้ รู้จักแยกแยะควบคุมอารมณ์ได้ และสามารถแสดงอารมณ์ได้อย่างถูกต้องตามกาลเทศะและปรับตัวให้เข้ากับสังคมอย่างเหมาะสม ช่วงไม่กี่ปีมานี้ กระแสอีคิวกำลังมาแรง อาจเป็นด้วยว่าภาพสะท้อนของผู้คนในสังคมเริ่มเปลี่ยนแปลง เมื่อใดก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคม ระบบของอีคิวจะเริ่มเสีย รัฐจึงควรหาปัจจัยเกื้อหนุนส่งเสริมสุขภาพทางจิตใจให้มากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าระยะ 10 ปีที่ผ่านมาสุขภาพจิตของคนเราเสื่อมลงมาก มีปริมาณคนไข้ทางจิตสูงขึ้น
ข้อมูลจาก :
http://www.thaihealth.or.th