นั่งรถเที่ยวอย่างไรให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก เดี๋ยวนี้ รูปแบบการท่องเที่ยวได้เปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควรค่ะ จากในอดีตที่คุณพ่อคุณแม่หลายท่าน เมื่อมีลูกก็จะเก็บหอมรอมริบ เตรียมเงินไว้ส่งเสียเจ้าตัวเล็กให้ได้เรียนในชั้นสูง ๆ โอกาสในการเดินทางไปเที่ยวด้วยกันทั้งครอบครัวจึงมีค่อนข้างน้อย ขณะที่คุณพ่อคุณแม่ในปัจจุบันกลับตรงกันข้าม หลายครอบครัวเลือกที่จะพาลูก ๆ เดินทางไปด้วยกัน เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยกัน ยิ่งในยุคน้ำมันถูก (ชั่วคราวหรือเปล่าไม่แน่ใจนะคะ) โอกาสในการเดินทางท่องเที่ยว และเรียนรู้โลกของเด็ก ๆ ยิ่งเพิ่มขึ้น
แต่เมื่อถามถึงพาหนะในการเดินทางของครอบครัวไทยส่วนใหญ่แล้วหนีไม่พ้นต้องพึ่งพา "รถยนต์" เป็นหลักค่ะ แน่นอนว่า คุณพ่อคุณแม่มักจะนั่งด้านหน้า ส่วนเจ้าตัวเล็ก บ้างก็อุ้มไว้ในตัก บ้างก็นั่งอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของรถยนต์ ซึ่งจากการสอบถามจากผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์แล้ว การนั่งของเด็กในลักษณะดังกล่าวอาจไม่ปลอดภัยก็เป็นได้ค่ะ
ทั้งนี้ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท เชฟโรเล็ต ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ได้ให้ข้อมูลว่า สิ่งที่น่าจะปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็กในการนั่งรถยนต์คือ child seat ค่ะ ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นหลัก แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่รัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาไม่ค่อยให้ความสำคัญ และมองอุปกรณ์ดังกล่าวว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย จึงทำให้ภาษีของ child seat ค่อนข้างสูง ยากแก่การหาซื้อมาใช้ในครอบครัว ในขณะที่ต่างประเทศมีการใช้อย่างแพร่หลาย
อย่างไรก็ดี ทางบริษัทเชฟโรเล็ตก็ได้ให้คำแนะนำดี ๆ เกี่ยวกับการนั่งรถยนต์ที่ปลอดภัย และเหมาะสมสำหรับเด็ก กรณีไม่มี child seat มาดังนี้ค่ะ
- ผู้ปกครองควรให้เด็กนั่งที่นั่งตอนหลัง และนั่งชิดด้านใดด้านหนึ่ง เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ เด็กจะกระเด้งไปชนกับเบาะพนักพิง ซึ่งมีความนุ่ม ช่วยลดการบาดเจ็บลงได้ และไม่ควรให้เด็กนั่งตรงกลาง เนื่องจากเด็กอาจกระเด้งออกไปนอกตัวรถได้ค่ะ
- ไม่ควรใช้เข็มขัดนิรภัยเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาสำหรับสรีระของผู้ใหญ่มาคาดให้กับเด็ก เนื่องจากเด็กยังไม่มีกระดูก หรือกล้ามเนื้อที่แข็งแรงเหมือนกับสรีระของผู้ใหญ่ จึงอาจทำให้เด็ก ๆ บาดเจ็บได้
- ที่สำคัญ ไม่ควรอุ้มเด็กไว้บนตักในที่นั่งด้านข้างคนขับ เนื่องจากมีการศึกษาว่า ในกรณีที่รถยนต์วิ่งด้วยความเร็วเพียง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น น้ำหนักของเด็กจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20 เท่า ดังนั้น เมื่อเกิดการชน หรืออุบัติเหตุ จึงเป็นการยากที่ผู้ใหญ่จะอุ้มเด็กเอาไว้ได้ไหว จึงมักมีข่าวคราวน่าเสียใจเกิดขึ้นบ่อย ๆ เมื่อพบว่าเด็กกระเด็นออกมานอกรถ นอกจากนั้น ในรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัย (Air Bag) เมื่อเกิดอุบัติเหตุ แอร์แบ็กระเบิดออกมาอาจกระแทกกับลูกทำให้ได้รับบาดเจ็บได้เช่นกัน
แต่ก็มีอีกหลายครอบครัวที่ซื้อหา child seat มาติดตั้งไว้ในรถยนต์ เพื่อความปลอดภัยของลูก ๆ ค่ะ แม้ว่าบ้านเราจะยังไม่มีกฎหมายบังคับเรื่องการใช้อุปกรณ์ชิ้นนี้ก็ตาม ซึ่งหลักในการเลือก child seat จะมีอะไรบ้างนั้น ตามไปดูกันเลยค่ะ
1. โครงสร้างของเบาะต้องรับกับสรีระของเด็ก เพื่อให้เด็กนั่ง "สบาย" และเวลาเกิดการกระแทกสามารถปกป้องจุดสำคัญ ๆ ในร่างกายได้
2. สามารถทำความสะอาดได้ง่าย เช่น สามารถถอดเบาะหุ้มออกไปซักได้
3. มีการระบายอากาศที่ดี เด็กนั่งแล้วไม่ร้อน เพราะเด็กบางคนนั่งคาร์ซีทแล้วร้อน ก็อาจหงุดหงิด ร้องไห้โยโยได้ค่ะ
4. รองรับการเจริญเติบโตของเด็ก เพราะเด็ก ๆ สมัยนี้โตเร็วมาก ดังนั้น หากเบาะสามารถยืดขยาย ปรับระดับเก้าอี้ พนักพิงได้ก็จะช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ออกไปได้อีกค่ะ
5. มีการผลิตที่ได้มาตรฐาน หรือมีรางวัลการันตี
6. ไม่มีส่วนที่เป็นเหลี่ยมคม ที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้
7. วัสดุที่ใช้ผลิตมีความแข็งแรง ทนทาน และถ้าจะให้ดี ควรมีน้ำหนักเบาด้วยค่ะ เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้าย
อย่างไรก็ดี การติดตั้ง child seat ควรศึกษาจากคู่มือ และไม่ควรติดตั้งบริเวณเบาะหน้าด้านข้างคนขับ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ ลูก ๆ อาจบาดเจ็บจากการพองตัวของถุงลมนิรภัยได้เช่นกันค่ะ ซึ่งจุดที่ปลอดภัยที่สุดควรเป็นเบาะหลังของรถยนต์ค่ะ
ส่วนเด็ก ๆ บางคนที่คุ้นเคยกับการนั่งตักแม่มาตลอด เมื่อมานั่ง child seat ก็อาจไม่สนุกเหมือนเมื่อก่อน ทางรับมือกับปัญหานี้อาจต้องให้เด็กสร้างความคุ้นเคยกับคาร์ซีทประจำตัวกันมาก่อนบ้าง เช่น ชวนเล่น ชวนกันขึ้นไปนั่งบนคาร์ซีทเวลาอยู่ในบ้าน
ทั้งนี้ ราคาของ child seat ที่วางขายกันในปัจจุบัน เริ่มต้นตั้งแต่หลักพัน เรื่อยไปจนถึงหลักหมื่น และหลายหมื่นบาทค่ะ
ข้อมูลจาก :
http://www.langrod.com